แนะคนอ้วนให้พบแพทย์ หากเกิดจากกรรมพันธ์ุต้องรักษา
นพ.ภัทรเดช เจียมสว่างพร ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวพรรณ โรงพยาบาลมาสเตอร์พีซ เปิดเผยว่า โรคอ้วนเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ตั้งแต่พฤติกรรมการกิน การใช้พลังงานระหว่างวัน การออกกำลังกายที่ไม่สมดุล และกรรมพันธุ์ ซึ่งสังเกตได้จากการเปลี่ยนแปลงของรูปร่าง มีสัดส่วนกิน หมายความว่าระบบเผาผลาญในร่างกายเริ่มต่ำลง หรือประเมินเบื้องต้นได้จากดัชนีมวลกาย (BMI) โดยคำนวณจากน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม หารด้วยส่วนสูงเป็นเมตร (ยกกำลังสอง) ถ้าดัชนีมวลกายเกิน 23 ขึ้นไปจะถือว่าเริ่มมีภาวะน้ำหนักตัวเกิน แต่หากตัวเลขถึงระดับ 25 จะถือว่าเป็นโรคอ้วนระดับที่ 1 เข้าให้แล้ว
อีกหนึ่งสาเหตุที่สำคัญและยังไม่ค่อยมีการกล่าวถึงคือ กรรมพันธุ์ คือ ถ้าพ่อแม่เป็นโรคอ้วน ลูกที่เกิดมาก็มักจะเป็นโรคอ้วนด้วยเช่นกัน
สำหรับคำถามว่า การนอนดึกเป็นสาเหตุให้เกิดโรคอ้วนได้หรือไม่ นพ.ภัทรเดช ชี้แจงว่า การนอนดึกเป็นประจำส่งผลให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นและยังเสี่ยงเป็นโรคอ้วนอีกด้วย เพราะร่างกายของมนุษย์เราจะมีศูนย์หิวและศูนย์อิ่ม (Satiety Center) ทำงานควบคู่กันเป็นกลไกหนึ่งของสมองส่วนไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) เปรียบเสมือนสวิตช์ปิดเปิดทำหน้าที่ดูแลวงจรหิวและอิ่ม ในช่วงประมาณ 4 ทุ่มและสามารถหลับได้ก่อน 5 ทุ่ม ศูนย์หิวและศูนย์อิ่มจะทำงานได้เป็นปกติ ระบบเผาผลาญทำงานได้ดี นอกจากจะช่วยให้รูปร่างดีแล้ว หากมีการหลับลึกในช่วงเวลาเที่ยงคืนถึงตีหนึ่งซึ่งโกรทฮอร์โมนหลั่งได้ดี ยังส่งผลให้ผิวพรรณดีและช่วยให้แก่ช้าอีกด้วย
“นอนหลับเกิน 5 ทุ่มเป็นต้นไป การหลั่งฮอร์โมนทุกตัวในร่างกายก็จะผิดเพี้ยน ยิ่งถ้าไม่ได้รับโกรทฮอร์โมนในช่วงหลับลึก ร่างกายจะเข้าสู่กระบวนการความแก่ชรา กระบวนการเผาผลาญลดลง ทำให้มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น สัดส่วนผิดปกติ ยิ่งถ้าเป็นเด็กในวัยเจริญเติบโต ร่างกายจะไม่ค่อยสูง เพราะไม่ได้รับโกรทฮอร์โมนที่เพียงพอนั่นเอง” นพ.ภัทรเดชกล่าวและว่า “ภาวะน้ำหนักเกิน นอกจากจะทำให้เป็นโรคอ้วนลงพุงแล้วยังเป็นหนึ่งในโรคในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) แล้วยังเป็นต้นเหตุให้เกิดโรค NCDs โรคอื่นอีกด้วย เช่น โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ โรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ยังเป็นที่มาของกระบวนการความชราของร่างกาย (Aging Process) อีกด้วย” นพ.ภัทรเดชกล่าว
หลากวิธีรักษาโรคอ้วน แค่กินให้เป็นก็ไม่ลงพุง
นพ.ภัทรเดช ให้คำแนะนำวิธีรักษาโรคอ้วนไว้ว่า “แน่นอนว่าหลายคนเมื่อรู้ตัวว่ามีน้ำหนักเกินก็จะเริ่มควบคุมอาหาร นอกจากการกินให้น้อยลงแล้ว ยังต้องเลือกอาหารที่มีคุณภาพอีกด้วย เช่น ทานน้อยแต่ถ้าทานพวกน้ำหวาน เครื่องดื่มหวานมันที่มีน้ำตาลเยอะ ก็ไม่สามารถทำให้กลับมาผอมได้ หรือทานผิดช่วงเวลา เช่น มื้อเย็น แต่ทานอาหารที่มีแป้ง น้ำตาล ที่ให้พลังงานสูง ช่วงหลัง 6 โมงเย็นเป็นต้นไป ระบบเผาผลาญจะค่อนข้างต่ำ แบบนี้การลดน้ำหนักก็จะไม่เห็นผลเท่าที่ควร”
สิ่งที่ต้องทำก่อนเป็นอันดับแรกเพื่อการควบคุมน้ำหนักให้ได้ผลดีที่สุด ระหว่างควบคุมการกินและการออกกำลังกาย คือ การกิน เพราะร่างกายสามารถรับพลังงานทั้งหมดได้มาจากการกินเท่านั้น ในขณะที่การออกกำลังกาย เช่น วิ่ง เข้าฟิตเนส หรือว่ายน้ำ ถือเป็นการใช้พลังงานอย่างหนึ่ง โดยการออกกำลังกาย มีข้อดีนอกจากจะช่วยลดปริมาณไขมันเลว (LDL) ไตรกลีเซอไรด์ และคอเลสเตอรอลแล้ว ยังเพิ่มปริมาณไขมันดี (HDL) ได้อีกด้วย ซึ่งแท้จริงแล้ว เราสามารถใช้พลังงานออกไปได้หลากหลายวิธี แม้แต่ในช่วงที่เราไม่ได้ออกกำลังกาย เช่น พูดคุย นอนหลับ เพียงแต่ใช้พลังงานที่น้อยกว่า ดังนั้นกุญแจสำคัญในการลดน้ำหนักคือการที่เราสามารถควบคุมการกินได้ ซึ่งเป็นหนทางเดียวในการรับพลังงาน เราก็จะควบคุมระบบเผาผลาญพลังงานส่วนใหญ่ในร่างกายของเราได้
“การปรับพฤติกรรมการกินคือหัวใจหลักที่ช่วยให้ห่างไกลโรคอ้วน ซึ่งรวมถึงการควบคุมอาหาร ควบคุมการทาน คุณภาพอาหาร ปริมาณอาหาร และเวลาในการทานอาหาร อาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตคือตัวการสำคัญที่ทำให้ร่างกายเข้าสู่กระบวนการความแก่ชราได้เร็วขึ้น สมรรถภาพการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายลดลง รวมถึงยังเสี่ยงเป็นโรคอ้วนด้วย จึงควรทานคาร์โบไฮเดรตในปริมาณที่เหมาะสม การทานในช่วงเช้าจึงดีที่สุดและสามารถทานได้มากสุด เพราะช่วยกระตุ้นฮอร์โมนไทรอยด์ เพิ่มการเผาผลาญในร่างกายได้” นพ.ภัทรเดช กล่าวเสริม
โดยทั่วไปสัดส่วนการทานอาหารที่ดีที่สุดใน 1 มื้อคือ มื้อเช้าควรมีผักและผลไม้ที่ไม่หวานจนเกินไปประมาณ 50% มีคาร์โบไฮเดรตจากข้าวหรือแป้งไม่เกิน 25% และที่เหลือมีโปรตีนและไขมันอีก 25% มื้อเที่ยงควรลดสัดส่วนคาร์โบไฮเดรตให้น้อยลง และมื้อเย็นไม่ควรมีคาร์โบไฮเดรตหรือน้ำตาลเลย เช่น เพิ่มผักผลไม้ โปรตีน และไขมัน ที่สำคัญคือ ไม่ควรทานหลัง 6 โมงเย็นเป็นต้นไป ทั้งนี้ สัดส่วนในแต่ละมื้อขึ้นอยู่กับการใช้พลังงาน และในมื้อเย็นต้องดูกิจกรรมและช่วงเวลาในการเข้านอนของแต่ละคน เช่น เดินเล่น อ่านหนังสือ และเข้านอนไม่ดึก สามารถเน้นสัดส่วนผักผลไม้ได้มากขึ้น หรือถ้าเป็นคนนอนดึกต้องใช้พลังงานเยอะ การเพิ่มสัดส่วนโปรตีนจะเหมาะสมกว่า ดังนั้นควรทานอาหารให้เหมาะกับการใช้พลังงาน ถ้าทานเยอะก็ต้องออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ใช้พลังงานเยอะ ยิ่งถ้าใครที่ไม่มีเวลาก็ต้องยิ่งควบคุมทั้งคุณภาพและปริมาณอาหารให้เหมาะสม
นอกเหนือจากการปรับพฤติกรรมการกินโดยควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย ใช้พลังงาน และการนอนแล้ว บางคนที่เป็นโรคอ้วนอาจไม่สามารถควบคุมและลดน้ำหนักด้วยตนเองได้ สามารถเข้ามาพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาและรับการรักษาที่เหมาะสม เพราะบางครั้งโรคอ้วนไม่ได้เกิดจากการทานอาหารและออกกำลังกายเพียงอย่างเดียว อาจเกิดจากโรคหรือกรรมพันธุ์ร่วมด้วย การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจึงเป็นสิ่งที่ยาก อาจจะต้องอาศัยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาอย่างครบวงจร” นพ.ภัทรเดช กล่าวทิ้งท้าย
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก
Line @Matichon ได้ที่นี่