31 ส.ค. 2564 เวลา 14:57 น.
หมออนุตตรเปิดสถิติแนวโน้มผู้ป่วยโควิดเดือนสิงหาคม เตือนอย่าชะล่าใจ ชี้อาการหนักและใส่เครื่องช่วยหายใจยังไม่ลด
รายงานข่าวระบุว่า พล.อ.ท.อนุตตร จิตตินันทน์ (หมออนุตตร) ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (Anutra Chittinandana) โดยมีข้อความว่า
เบาใจขึ้นหน่อย แต่อย่าประมาท
สรุปแนวโน้มผู้ป่วยโควิด-19 กำลังรักษาตัวอยู่ตลอดเดือนสิงหาคม 2564
หมออนุตตร ระบุว่า ตอนนี้จำนวนผู้ป่วยรายวันลดลงอย่างต่อเนื่อง ผมไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญมากนัก เพราะตัวเลขผู้ป่วยจะขึ้นกับว่ามีการตรวจมากน้อยแค่ไหน แต่ตัวเลขที่ผมให้ความสำคัญคือจำนวนผู้ป่วยที่รักษาอยู่มากกว่า เพราะแสดงถึงผลกระทบของการระบาดต่อระบบการรักษาพยาบาล
มีรายงานรายละเอียดของการรักษาตัวใน Home isolation (HI) และ Community isolation (CI) แยกออกจากโรงพยาบาลสนามตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม 64 จึงนำข้อมูลมาทำเป็นรูปตามนี้
แนวโน้มผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ค่อย ๆ ลดลง จากสูงสุด 213,910 ตอนต้นเดือน ลดลงเหลือ 171,368 ราย
ผู้ป่วยรักษาตัวใน รพ. (สีส้ม) ลดลงอย่างมาก จาก 87,150 เหลือเพียง 14,308 ราย
ผู้ป่วยรักษาตัวใน HI หรือ CI (สีเขียว) เพิ่มขึ้นอย่างมาก จาก 46,330 เป็น 76,605 ราย
ผู้ป่วยรักษาตัวใน รพ.สนามหรือ Hospitel (สีเหลือง) เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย 71,879 เป็น 76,755 ราย
แนวโน้มผู้ป่วยอาการหนัก ใส่เครื่องช่วยหายใจ และเสียชีวิต
ผู้ป่วยอาการหนัก (สีแดง) ยังมีจำนวนใกล้เคียงกับต้นเดือน 4,993-5,003 แต่ก็ลดลงเล็กน้อยจากที่เคยสูงสุดตอนกลางเดือน 5,626 ราย
ผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจ (สีแดงเข้ม) ยังมีจำนวนใกล้เคียงกับต้นเดือน 1,058-1,042 แต่ก็ลดลงเล็กน้อยจากที่เคยสูงสุดตอนกลางเดือน 1,172 ราย
ผู้ป่วยเสียชีวิต (สีดำ) ยังมีจำนวนใกล้เคียงกับต้นเดือน 160-190 แต่ก็ลดลงเล็กน้อยจากที่เคยสูงสุดตอนกลางเดือน 312 ราย
ดูแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยรักษาพยาบาลอยู่ดีขึ้น แต่ผู้ป่วยอาการหนักและใช้เครื่องช่วยหายใจยังไม่ลดลงมาก จึงอย่าเพิ่งชะล่าใจกัน ผู้ป่วยถึงแม้เข้าโรงพยาบาลได้สะดวกขึ้น แต่ก็ยังลำบากในการเข้ารักษาใน ICU โดยเฉพาะต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
พรุ่งนี้ (1 ก.ย. 64) จะมีการปรับมาตรการต่าง ๆ ก็คงยังต้องป้องกันตนเองแบบ universal prevention กันต่อ แล้วก็อย่าลังเลในการฉีดวัคซีนเมื่อมีโอกาส ฉีดดีกว่าไม่ฉีดแน่นอน
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทยวันที่ 31 สิงหาคม 64 นั้น “ฐานเศรษฐกิจ” ติดตามรายงานจากศูนย์ข้อมูล โควิด-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า
มีการติดเชื้อเพิ่ม 14,666 ราย
ติดเชื้อในเรือนจำ 304 ราย
สะสมระลอกที่สาม 1,175,866 รายสะสมทั้งหมด 1,204,729 ราย
หายกลับบ้านได้ 19,245 ราย
สะสม 994,346 ราย
เสียชีวิต 190 ราย
สะสมระลอกสาม 11,495 ราย
สะสมทั้งหมด 11,589 ราย
ส่วนวันที่ 1 กันยายน 2564 ศบค.ได้มีมติให้คลายล็อก หรือผ่อนคลายกิจการกิจกรรมบางส่วน พร้อมปรับการควบคุมโรคแนวใหม่ที่สมดุลกับการดำเนินชีวิตที่ปลอดภัยจากโควิด-19
โดยพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) ยังคง 29 จังหวัด พื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) 37 จังหวัด และพื้นที่ควบคุม (สีส้ม) 11 จังหวัด โดยคงมาตรการทางสังคม Work From Home และเคอร์ฟิว 21.00-04.00 น. ใน 29 จังหวัดสีแดงเข้มต่อไปอีก 14 วัน
สำหรับการคลายล็อก 29 จังหวัด (สีแดงเข้ม) มีดังนี้
1. การเปิดบริการของร้านอาหาร ไม่มีเครื่องปรับอากาศ นั่งได้ 75% มีเครื่องปรับอากาศ 50%
2. ร้านอาหาร ไม่มีเครื่องปรับอากาศ นั่งได้ 75% มีเครื่องปรับอากาศ 50%
3. เปิดใช้อาคารของสถานศึกษา โดยสามารถใช้เพื่อจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือทำกิจกรรมใดๆ ที่มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก
4. เปิดใช้สนามกีฬา/สวนสาธารณะ
5. ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ เปิดได้ทุกแผนกไม่เกิน 20.00 น. โดยมีเงื่อนไขดังนี้
ร้านเสริมสวย เปิดเฉพาะตัดเท่านั้น (ไม่เกิน 1 ชม./คน)
ร้านนวด เปิดให้บริการได้เฉพาะนวดเท้า
คลินิกเสริมความงาม เปิดเฉพาะจำหน่ายสินค้า
สำหรับยังไม่เปิดให้บริการ มีดังนี้
สถาบันกวดวิชา
โรงภาพยนตร์
สปา
สวนสนุก
สวนน้ำ
ฟิตเนส
ห้องออกกำลังกาย
สระว่ายน้ำ
ห้องจัดประชุม/จัดเลี้ยง