แพทย์แนะผู้ประสบภัยน้ำท่วม ระวังป่วยโรคฉี่หนู หากมีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว ขอให้ไปพบแพทย์โดยเร็ว
แพทย์แนะผู้ประสบภัยน้ำท่วม ระวังป่วยโรคฉี่หนู หากมีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว ขอให้ไปพบแพทย์โดยเร็ว
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น เตือนประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมโดยเฉพาะพื้นทีภาคอีสานระวังป่วยด้วยโรคฉี่หนู โดยเฉพาะหลังการเดินลุยน้ำย่ำโคลนให้รีบทำความสะอาดชำระร่างกาย ถ้ามีไข้ ปวดเมื่อยตามตัวไม่ควรซื้อยากินเอง ขอให้ไปพบแพทย์โดยเร็วและแจ้งประวัติการสัมผัสน้ำ ดิน โคลน ในช่วงอุทกภัยให้แพทย์ทราบด้วย และหากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ ควรสวมรองเท้าบูทหรือถุงพลาสติกที่สามารถหาได้ในพื้นที่ สวมป้องกันไม่ให้เท้าสัมผัสน้ำหรือดินโดยตรง
นายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น เตือนประชาชนในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ทั้ง 4 จังหวัด ได้แก่ขอนแก่น ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ และมหาสารคาม ว่าขณะนี้หลายพื้นที่กำลังประสบปัญหาน้ำท่วม โรคติดต่อที่มักพบการระบาดในหน้าฝน พื้นดินแฉะ หรือช่วงที่มีน้ำท่วมขังเอื้อต่อการเจริญเติบโตและสะสมของเชื้อในธรรมชาติ ก็คือโรคฉี่หนูหรือโรคเลปโตสไปโรสิส สัตว์ที่แพร่เชื้อโรคนี้ ได้แก่สัตว์ฟันแทะ เช่น หนู เชื้อก่อโรคจะติดต่อมาสู่คนได้จากการสัมผัส โดยเชื้อโรคจะไชเข้าทางผิวหนังที่มีรอยแผลหรือเยื่อบุผิวหนังที่เปื่อยยุ่ยจากการแช่น้ำเป็นเวลานาน โดยเฉพาะพื้นที่ที่ปนเปื้อนเชื้อจากปัสสาวะของสัตว์ที่มีเชื้อ อาการสำคัญหลังได้รับเชื้อ คือ มีไข้สูงหนาวสั่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ซึ่งโรคฉี่หนูจะมีลักษณะเฉพาะคือ ปวดบริเวณน่อง หลัง และหน้าท้อง อาการปวดศีรษะมักมีอาการปวดรุนแรงและเฉียบพลัน อาจมีอาการปวดเบ้าตาและกลัวแสง หากพบว่ามีอาการดังกล่าวควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที หากผู้ป่วยมารับการรักษาช้า มีโอกาสเสียชีวิตสูงกว่าผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ทันทีที่เริ่มมีอาการ วิธีป้องกัน คือ 1) หลีกเลี่ยงการสัมผัสเชื้อ ได้แก่ หลีกเลี่ยง การแช่น้ำติดต่อกันนานๆหรือลงว่ายน้ำขณะที่มีน้ำท่วมจนกระทั่งหลังน้ำลดถ้าจำเป็นต้องลงแช่น้ำ ต้องระมัด ระวังไม่ให้น้ำเข้าปาก จมูก 2)หากมีบาดแผล ต้องสวมพลาสติกคลุมบริเวณที่มีบาดแผล 3) สวมเครื่องป้องกันทุกครั้ง เช่นรองเท้าหุ้มส้น รองเท้าบู๊ท ถุงมือยาง สวมเสื้อแขนยาวและกางเกงขายาว 4)อาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดทันที 5) งดรับประทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์ทุกชนิดแบบสุกๆดิบๆอาหารค้างมื้อควรเก็บในตู้หรือภาชนะปิดมิดชิด 6) อุ่นอาหารให้เดือดก่อนนำมารับประทาน ดื่มน้ำสะอาดและบริโภคอาหารที่ปรุงสุกใหม่ 7) หมั่นล้างมือบ่อยๆ 8) จัดบ้านเรือนให้สะอาด กำจัดขยะ แหล่งทิ้งเศษอาหาร เพื่อลดการแพร่พันธุ์ของหนู กำจัดและทำลายหนูบริเวณที่พักอาศัยด้วยวิธีที่เหมาะสม
และขอความร่วมมือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และอสม. ในพื้นที่ เร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนในการป้องกันโรค เมื่อมีอาการป่วย ควรรีบพบแพทย์เพื่อป้องกันการเสียชีวิตให้ได้มากที่สุด โดยโรคนี้รักษาให้หายขาดได้ ย้ำเตือนประชาชนหากมีอาการ ไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง ปวดกล้ามเนื้อ บริเวณน่อง หลัง และต้นขา ไม่ควรซื้อยามารักษาอาการเอง ทั้งนี้ประชาชน สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
******************************************************
ข้อมูลจาก : สำนักโรคติดต่อทั่วไป / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
โทรศัพท์ 0-2590-3857 วันที่ 30 มกราคม 2560
ข้อมูล/เผยแพร่ : กลุ่มระบาดวิทยา กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ ๗ ขอนแก่น
ศูนย์รับข้อร้องเรียนหมายเลข 043-222818-9 ต่อ 237
http://odpc7.ddc.moph.go.th/