สมัชชาใหญ่สหประชาชาติ หรือ UNGA กระตุ้นให้นานาประเทศ ให้ความสำคัญและมีมาตรการเพื่อป้องกันการจมน้ำของประชาชนในแต่ละประเทศ ในฐานะที่การจมน้ำ เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตกว่า 2 ล้าน 5 แสนคนทั่วโลกตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และกว่า 90% ของการเสียชีวิตจากการจมน้ำ อยู่ในกลุ่มประเทศรายได้น้อยและปานกลาง
มติของสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ เมื่อวันพุธ (28 เมษายน) ที่ได้รับการเสนอโดยบังคลาเทศและไอร์แลนด์ และได้รับการสนับสนุนจากประเทศสมาชิกทั้งหมด 193 ประเทศของสหประชาชาตินี้นับเป็นฉันทามติร่วมกันในเรื่องดังกล่าวเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ รวมทั้งได้กำหนดให้วันที่ 25 กรกฎาคมของทุกปี เป็น “วันป้องกันการจมน้ำโลก” หรือ “World Drowning Prevention Day” ด้วย
ทางสหประชาชาติ เน้นย้ำความสำคัญว่า ปัญหาการจมน้ำนั้นเป็นสิ่งที่ “ป้องกันได้” ด้วยการช่วยเหลือที่ใช้ต้นทุนต่ำ พร้อมทั้งเรียกร้องให้นานาชาติ พิจารณามาตรการความปลอดภัยทางน้ำ ทั้งการส่งเสริมการให้ความรู้และฝึกทักษะการว่ายน้ำ และการช่วยเหลือผู้จมน้ำแบบเบื้องต้น ผ่านการบรรจุหลักสูตรทักษะนี้ลงในหลักสูตรการศึกษาในแต่ละประเทศ และสนับสนุนให้แต่ละประเทศให้ความสำคัญต่อการป้องกันการจมน้ำ ด้วยการจัดทำโครงการป้องกัน มาตรการป้องกัน ไปจนถึงการบังคับใช้กฎหมายด้านความปลอดภัยทางน้ำอย่างจริงจัง
แม้ว่ามติของสมัชชาใหญ่สหประชาชาติจะไม่ได้มีผลผูกพันทางกฎหมายในระดับประเทศก็ตาม แต่ก็ถือเป็นเสียงสะท้อนของประชาคมโลกในการให้ความสำคัญกับปัญหานี้ในระดับสากล
ทั้งนี้ ตามข้อมูลของสหประชาชาติ พบว่า กลุ่มประเทศในทวีปแอฟริกา มีอัตราการจมน้ำสูงที่สุดในโลก ขณะที่เอเชียครองแชมป์ในแง่จำนวนผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำมากที่สุดในโลก
ทางสหประชาชาติ ให้ความเห็นเมื่อกลางสัปดาห์นี้ว่า การจมน้ำถือเป็นประเด็นด้านความเสมอภาคทางสังคม จากการที่เด็กและเยาวชนในพื้นที่ชนบทจะเป็นฝ่ายที่ได้รับผลกระทบจากความไม่เสมอภาคนี้ และในหลายประเทศการจมน้ำเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่สำคัญของเด็กและเยาวชนในประเทศเหล่านั้น โดยการจมน้ำยังอยู่ใน 10 อันดับแรกของสาเหตุการเสียชีวิตของเด็กอายุ 5-14 ปีทั่วทุกมุมโลกด้วยเช่นกัน
การประเมินของสหประชาชาติ ให้ความกังวลต่อปัญหาการจมน้ำอย่างยิ่งยวด จากตัวเลขคาดการณ์ที่ว่า มีผู้คนราว 235,000 คนทั่วโลกที่อาจเสียชีวิตจากการจมน้ำในแต่ละปี และตัวเลขดังกล่าวยังไม่ได้รวมการเสียชีวิตจากการจมน้ำที่เกี่ยวเนื่องกับภัยธรรมชาติและการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุระหว่างการขนส่งทางน้ำ ซึ่งอาจเป็นการรายงานการเสียชีวิตจากการจมน้ำที่ต่ำกว่าความเป็นจริงถึงราว 50% ในบางประเทศทีเดียว
ยูเอ็นชี้ว่า ภัยพิบัติทางน้ำ ส่งผลกระทบต่อผู้คนนับล้านทั่วโลก ส่วนหนึ่งมีปัจจัยมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผิดธรรมชาติ และภาวะอุทกภัยส่งผลกระทบกับผู้คนมากกว่าภัยธรรมชาติรูปแบบอื่น โดยการจมน้ำเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของผู้ประสบอุทกภัย
ผู้แทนถาวรของบังกลาเทศประจำสหประชาชาติ ราบาบ ฟาติมา กล่าวต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ว่า การลงมือป้องกันการจมน้ำไม่ใช่ทำเพียงเพื่อเหตุผลด้านศีลธรรมหรือการเมือง แต่การจมน้ำส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน จากที่การจมน้ำเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่สำคัญทั้งในบังคลาเทศและประเทศอื่นในกลุ่มเอเชียใต้
ขณะที่เอกอัครราชทูตไอร์แลนด์ประจำสหประชาชาติ เจอรัลดีน เบิร์น เนสัน เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกทั่วโลกกำหนดให้วันที่ 25 กรกฎาคมของทุกปีเป็นวันรณรงค์ป้องกันปัญหาจมน้ำ เพื่อรักษาชีวิตผู้คนจำนวนมากจากเรื่องนี้
ด้านอดีตนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก ไมเคิล บลูมเบิร์ก ในฐานะทูตพิเศษขององค์การอนามัยโลก ที่รณรงค์ปัญหาเรื่องโรคไม่ติดต่อและการบาดเจ็บ เรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกมีมาตรการที่มีประสิทธิผลในการป้องกันการจมน้ำ เพื่อช่วยเหลือผู้คนจำนวนมาก และเรียกร้องให้ผลักดันวาระนี้เป็นประเด็นเร่งด่วนด้านสาธารณสุขด้วยเช่นกัน