อิเหนา อินโดนีเซีย เจ้าภาพการแข่งขันกีฬาคนพิการ “อาเซียน พาราเกมส์” ครั้งที่ 11 ที่เมืองโซโล ยอมรับไทยเป็นคู่แข่งหมายเลขหนึ่งที่จะแย่งเจ้าเหรียญทองในครั้งนี้
เกาะติดข่าว กดติดตาม ข่าวสด
อิเหนา อินโดนีเซีย ยกให้ไทยเป็นคู่แข่งสำคัญที่สุดในการแย่งตำแหน่งเจ้าเหรียญทองศึกอาเซียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 11 ที่เมืองโซโล เพราะมีนักกีฬาระดับโลกหลายชนิดกีฬา และยังเป็นเจ้าเหรียญทองมาแล้ว 6 สมัย
มหกรรรมกีฬาคนพิการ อาเซียน พาราเกมส์ ครั้งที่ 11 จัดที่เมืองโซโล ประเทศอินโดนีเซีย ระหว่าง 30 ก.ค. – 6 ส.ค. มี 11 ชาติอาเซียนร่วมแข่งขัน กว่า 1,500 คน ใน 14 ชนิดกีฬา ประกอบด้วย กรีฑา ยิงธนู แบดมินตัน บอคเซีย ฟุตบอลคนตาบอด หมากรุก โกลบอล ยูโด ยกน้ำหนัก ว่ายน้ำ เทเบิลเทนนิส วีลแชร์เทนนิส วอลเลย์บอลนั่ง และวีลแชร์บาสเกตบอล
- เดอะแรบบิท พัฒนาต่อเนื่องสร้างสนามหญ้าจริงเพิ่มในศูนย์ฝึกยามาโอกะ
โดยการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) และกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ให้การสนับสนุนทัพนักกีฬาคนพิการไทย และเจ้าหน้าที่รวมทั้งสิ้น 479 คน ร่วมชิงชัยถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์เพื่อการท่องเที่ยวและกีฬา ช่อง T Sports 7 ตลอดการแข่งขัน
ทั้งนี้ ประเทศอินโดนีเซียเจ้าภาพ ได้ดำเนินการวิ่งคบเพลิงอาเซียนพาราเกมส์ 2022 ไปตามเมืองสำคัญที่ร่วมเป็นเจ้าภาพอย่าง โกรโบกาน, ซูโคฮาโย , คารากันยาร์ ก่อนจะเข้าสู่เมืองสุราการ์ตา หรือ “โซโล” เพื่อทำพิธีเปิดการแข่งขันที่สนามกีฬามานาฮาน วันที่ 30 ก.ค.
เซนนี มาร์บัน ประธานคณะกรรมการพาราลิมปิกแห่งอินโดนีเซีย เผยว่า นักกีฬาอินโดนีเซียเจ้าภาพ ประเมินว่าจะทำได้อย่างน้อย 104 เหรียญทอง จากกีฬาหลัก ๆ อย่าง กรีฑา แบดมินตัน เทเบิลเทนนิส ว่ายน้ำ ยกน้ำหนัก และหมากรุก โดยมีประเทศไทยเป็นคู่แข่งที่สำคัญที่สุดในการแย่งตำแหน่งเจ้าเหรียญทอง เนื่องจากนักกีฬาคนพิการไทยมีประสบการณ์สูง และมีความสามารถระดับแชมป์พาราลิมปิกเกมส์ อาทิ วีลแชร์เรซซิ่ง บอคเชีย เป็นต้น บวกกับนักกีฬาไทยที่เป็นสายเลือดใหม่มีความแข็งแกร่งเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ในอาเซียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 9 ที่มาเลเซีย เป็นเจ้าภาพเมื่อปี 2560 ซึ่งเป็นการแข่งขันครั้งล่าสุด อินโดนีเซีย คว้าเจ้าเหรียญทองไปครอง ทำได้ 126 เหรียญทอง 75 เหรียญเงิน 50 เหรียญทองแดง ส่วนไทยทำได้ 68 เหรียญทอง 73 เหรียญเงิน 95 เหรียญทองแดง ได้อันดับ 3
อย่างไรก็ตาม ทัพนักกีฬาไทยคนพิการไทยถือว่าประสบความสำเร็จมากที่สุดในการแข่งขันอาเซียนพาราเกมส์ ด้วยการเป็นเจ้าเหรียญทอง 6 สมัย ในการแข่งขันครั้งที่ 2 ที่เวียดนาม ปี 2546, ครั้งที่ 3 ที่ฟิลิปปินส์ ปี 2549, ครั้งที่ 4 ที่ไทย ปี 2551, ครั้งที่ 5 ที่มาเลเซีย ปี 2552, ครั้งที่ 6 ที่อินโดนีเซีย ปี 2554 และครั้งที่ 8 ที่สิงคโปร์ ปี 2558
สำหรับกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ เริ่มจัดการแข่งขันครั้งแรกในปี 2544 ที่ประเทศมาเลเซีย และดำเนินการจัดการแข่งขันมาแล้ว 9 ครั้ง คู่ขนานไปกับกีฬาซีเกมส์ โดยการแข่งขันครั้งที่ 10 ที่กำหนดจัดขึ้นที่ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อปี 2563 ต้องยกเลิกการแข่งขันด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทำให้กีฬาอาเซียนพาราเกมส์ ต้องว่างเว้นจากการแข่งขันนานถึง 5 ปี