สรุปเหตุ นักกรีฑาเบลารุส ถูกบังคับกลับประเทศอย่างไม่เป็นธรรม หลังจวกการทำงานของโค้ช โร่ขอตำรวจญี่ปุ่นช่วย จ่อขอลี้ภัยต่างแดน โดยคาดอาจลี้ภัยไปโปแลนด์
ภาพจาก GIUSEPPE CACACE / AFP
วันที่ 2 สิงหาคม 2564 สำนักข่าวรอยเตอร์ส มีรายงานประเด็นร้อนที่จากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก สำหรับเรื่องราวของ คริสตินา ชิมานูยสกายา (Krystsina Tsimanouskaya) นักกรีฑาสาวชาวเบลารุส วัย 24 ปี ที่ต้องการขอลี้ภัยไปยังต่างแดนหลังถูกประเทศของเธอสั่งถอดจากการแข่งขัน โตเกียว โอลิมปิก 2020 และบังคับให้เดินทางกลับบ้านเกิดโดยด่วน ซึ่งเธอไม่ยินยอม และหันไปร้องขอการคุ้มครองจากตำรวจญี่ปุ่นแทน ทำให้ประเด็นเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองภายในเบลารุส ที่อยู่ภายใต้การปกครองเผด็จการของประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก กลับมาเป็นที่สนใจของชาวโลกอีกครั้ง
– คริสตินา ชิมานูยสกายา เป็นนักกรีฑาที่ฝึกซ้อมมาอย่างหนักเพื่อเตรียมเข้าร่วมการแข่งวิ่ง 100 เมตร และ 200 เมตร หญิง ในการแข่งขันโอลิมปิก ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น
ภาพจาก GIUSEPPE CACACE / AFP
– อย่างไรก็ตาม อยู่ ๆ เธอก็ถูกบังคับให้เข้าร่วมการแข่งวิ่งผลัด 4×400 เมตร โดยไม่ทันได้เตรียมตัว ซึ่งทำให้เธอไม่พอใจและออกมาวิจารณ์การทำงานของคณะกรรมการโอลิมปิกเบลารุสและรัฐบาล รวมถึงแฉสาเหตุว่าเกิดจากความเลินเล่อของทีมโค้ชที่ทำให้นักกีฬาที่ควรจะลงแข่งวิ่งผลัด ทำการทดสอบสารต้องห้ามไม่ครบ จนไม่มีสิทธิ์เข้าร่วม
– แต่แล้วอยู่ ๆ เธอก็ถูกเบื้องบนสั่งถอดตัวออกจากการแข่งขันที่เหลือทั้งหมดโดยไม่ทันตั้งตัว หลังเพิ่งลงแข่งวิ่ง 100 เมตรหญิง เสร็จสิ้นไป และยังมีโปรแกรมลงแข่งวิ่ง 200 เมตรหญิง ต่อในวันที่ 2 สิงหาคม รวมถึงการการแข่งวิ่งผลัด 4×400 เมตร ในวันที่ 5 สิงหาคม
– คริสตินา ชี้ว่าสาเหตุที่ทำให้เธอถูกถอดออกจากทีม เกิดจากคำวิจารณ์ของเธอบนอินสตาแกรม
– โดยอยู่ ๆ ในช่วงเย็นวันอาทิตย์ (1 สิงหาคม) หัวหน้าโค้ชของเบลารุสก็มาหาคริสตินาที่ห้องพักในหมู่บ้านนักกีฬา และสั่งให้เธอเก็บของทันที
– “หัวหน้าโค้ชมาหาฉัน บอกว่ามีคำสั่งจากเบื้องบนให้ถอดฉันออก” คริสตินา เผยกับนักข่าว
– จากนั้นตัวแทนของคณะกรรมการโอลิมปิกเบลารุสก็นำตัวคริสตินาขึ้นรถ เดินทางไปยังสนามบินฮาเนดะ บังคับให้เธอเดินทางกลับประเทศในทันที แม้จะขัดต่อความยินยอมของเธอก็ตาม
– คริสตินาที่หวั่นอำนาจมืด ไม่ยอมขึ้นเครื่องบิน ยืนกรานไม่ขอกลับไปยังเบลารุสเด็ดขาด และตัดสินใจขอความช่วยเหลือจากตำรวจญี่ปุ่นที่สนามบินฮาเนดะ
– เรื่องที่เกิดขึ้นนำมาสู่การประสานงานร่วมกับทางการญี่ปุ่น ผู้จัดงานโตเกียว โอลิมปิก 2020 ตลอดจนคณะกรรมการโอลิมปิกสากล ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ให้การคุ้มครองนักกีฬาสาวให้อยู่ในสถานที่ปลอดภัย
– ต่อมามีฝ่ายกฎหมายจากทางญี่ปุ่นพยายามติดตามคริสตินา แต่ทางตำรวจญี่ปุ่นบอกเพียงว่าเธอไม่ได้อยู่ที่นั่นแล้ว และปฏิเสธไม่ขอเผยที่อยู่ของเธอ
– มีรายงานว่าคริสตินารู้สึกว่าตัวเองปลอดภัยแล้ว และกำลังเตรียมขอลี้ภัยไปยังเยอรมนีหรือออสเตรเลีย
– หลังจากรอยเตอร์สนำเสนอข่าวของคริสตินาที่ถูกบังคับให้กลับประเทศ คณะกรรมการโอลิมปิกของเบลารุสก็ออกแถลงการณ์ชี้แจง ยืนยัน โค้ชตัดสินใจถอดนักกีฬาออกจากเกม ตามคำแนะนำของแพทย์ สืบเนื่องจากสภาพอารมณ์และจิตใจของเธอ
ภาพจาก YUKI IWAMURA / AFP
– ต่อมา พบว่าเจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศของโปแลนด์ ออกมาเผยว่าคริสตินาจะได้รับวีซ่าเพื่อมนุษยธรรม และมีอิสระที่จะทำงานด้านกีฬาในโปแลนด์ หากเธอเลือกที่จะลี้ภัยมา
– กระทั่งล่าสุดพบว่า ในช่วงเช้าวันที่ 2 สิงหาคม คริสตินาได้เดินทางไปยังสถานทูตโปแลนด์ ในประเทศญี่ปุ่นแล้ว โดยมีผู้หญิง 2 คนที่รายหนึ่งถือธงสัญลักษณ์การต่อต้านรัฐบาลเบลารุส มายืนให้กำลังใจนักกีฬาสาวที่หน้าสถานทูตด้วย
– ขณะเดียวกัน แหล่งข่าวจากกระทรวงมหาดไทยของยูเครน เผยกับรอยเตอร์สว่า สามีของคริสตินาได้เดินทางไปยังยูเครนแล้ว แต่ไม่ชัดเจนว่าเขาอยู่ระหว่างเดินทางต่อไปยังโปแลนด์ เพื่อรอพบกับภรรยาที่นั่นหรือไม่
– ข่าวคราวที่เกิดขึ้นในครั้งนี้รวมถึงการใช้อำนาจากทางการเบลารุส ทำให้ผู้คนมุ่งเป้าไปยังเรื่องสภาพการเมืองภายในประเทศ ที่อยู่ภายใต้การปกครองเผด็จการของประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก มาตั้งแต่ปี 2537 หรือตลอด 27 ปีที่ผ่านมา
– ผู้คนในเบลารุสเกิดกระแสลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐบาล มีการประท้วงเกิดขึ้นในประเทศ ซึ่งทางการมีคำสั่งปรามปรามการประท้วงอย่างรุนแรง ขณะที่นักกีฬาซึ่งออกมาแสดงจุดยืนต่อต้านรัฐบาลและเข้าร่วมการประท้วง ถูกจับขังคุกไปหลายรายแล้ว
– ทั้งนี้ พบว่าวงการกีฬาของเบลารุสนั้นยากที่จะหนีพ้นเรื่องการเมือง โดยพบว่าผู้ที่นั่งเก้าอี้ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกเบลารุส ก็คือ วิกเตอร์ ลูกาเชนโก ลูกชายของประธานาธิบดีนั่นเอง
ขอบคุณข้อมูลจาก รอยเตอร์ส