เดลินิวส์ ได้สัมภาษณ์พิเศษ นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) คนใหม่ ถึงภารกิจสำคัญในปี 65 ในการเป็นหน่วยงานสำคัญในการคุ้มครองผู้บริโภคให้ใช้สินค้ามีคุณภาพมาตรฐานอย่างปลอดภัยทั้งชีวิต และทรัพย์สิน รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม และเป็นกลไกรัฐในการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยว่า สมอ.จะเข้มข้นเรื่องการสร้างกลยุทธ์ความเชื่อมั่นในเครื่องหมาย มอก.กับให้ผู้บริโภค โดยจะร่วมกับหลายๆ ภาคีเครือข่าย เพื่อให้ประชาชนใช้สินค้าได้มาตรฐานปลอดภัยสูงที่สุด รวมทั้งช่วยแก้ปัญหาอุปสรรคทางการค้าให้กับผู้ประกอบการในประเทศ เพื่อลดอุปสรรค ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ รวมทั้งอำนวยความสะดวกการนำเข้าสินค้า เพื่อมาผลิตสร้างมูลค่า สร้างเศรษฐกิจในประเทศของเรา
เดินหน้าสร้างเครือข่ายร้านมอก.
สำหรับการเน้นสร้างกลยุทธ์ในการสร้างความเชื่อมั่นในเครื่องหมายมอก. ได้กำหนดไว้ 11 ยุทธศาสตร์ เริ่มตั้งแต่ การทำคิวอาร์โค้ด ในการแสดงรายละเอียดสินค้าและข้อมูลผู้ได้รับอนุญาต คู่กับเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ประชาชนสามารถสแกนคิวอาร์โคด เพื่อดูข้อมูลการผลิตสินค้าได้ทันที 2.กระบวนการตรวจติดตามร้านค้าจำหน่าย 3.เดินหน้าสร้างเครือข่ายร้านค้า มอก. ซึ่งเป็นร้านค้าที่จำหน่ายสินค้าที่ใส่ใจความปลอดภัยผู้บริโภค โดยเฉพาะสินค้าที่เป็นมอก. ล่าสุดต้นเดือน ม.ค. ได้ร่วมกับร้านค้าปลีกสมัยใหม่เซเว่น-อีเลฟเว่น 106 สาขา และทเวนตี้โฟร์ ชอปปิ้ง เซ็นเอ็มโอยู เป็นร้านมอก.แล้ว และหลังเดือน มิ.ย.นี้ เซเว่น-อีเลฟเว่น แจ้งว่า จะคลอบคลุม 13,000 สาขาทั่วประเทศ
กลยุทธ์ที่ 4 เดินหน้าตลาดสดน่าซื้อ โดยร่วมมือกับเจ้าของตลาด ให้ความรู้ร้านค้าย่อยขายสินค้าที่ได้มาตรฐาน สร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าในตลาดสด โดยเฉพาะสินค้าที่ควบคุมของ สมอ. 125 มาตรฐาน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ ของเล่น หมวกกันน็อก ท่อพีวีซี เหล็ก วัสดุก่อสร้าง ได้ดำเนินการไปแล้วที่ตลาดสดต่างๆ กว่า 33 ตลาดแห่งในปทุมธานี หลังจากนี้จะไปยังตลาดสดที่จังหวัดอื่นๆ เช่น นนทบุรี อุดรธานี ขอนแก่น นครราชสีมา สงขลา เชียงใหม่
ผนึกอุตฯจว.ตรวจเข้มสินค้าตั้งแต่ต้นทาง
กลยุทธ์ที่ 5 การตรวจตรวจติดตาม เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจควบคุม โดยร่วมมือกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ตรวจติดตาม ณ โรงงานที่ตั้งทั้งในประเทศ และในต่างประเทศทันทีที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย เพื่อควบคุมสินค้าให้ได้มาตรฐานตั้งแต้ต้นทาง รวมถึงทำงานร่วมกับหน่วยงานที่มีภารกิจด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในการตรวจควบคุมสินค้าในท้องตลาด รวมทั้งร้านค้าออนไลน์ ควบคุมการตลาดแบบตรง และการจำหน่ายสินค้าผ่านทางรายการโทรทัศน์
ส่งนักรบไซเบอร์เจาะทุกแพลตฟอร์ม
ส่วนกลยุทธ์ที่ 6 ส่งนักรบไซเบอร์ ของสมอ. ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ของสมอ. เพื่อเฝ้าระวังตรวจติดตามการจำหน่ายสินค้า บนแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อให้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปที่ผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น และล่าสุดเตรียมเซ็นเอ็มยูกับ ชอปปี้ แพลตฟอร์มชื่อดัง เพื่อร่วมกันตรวจสอบการจำหน่ายสินค้าของร้านค้าต่างๆ ก่อนมาจำหน่ายในแพลตฟอร์ม โดยเฉพาะกลุ่มมอก. บังคับ 125 รายการ เป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก เพราะเป็นการตรวจสอบสินค้าตั้งแต่ต้นทาง
กลยุทธ์ที่ 7 การกำหนดมาตรฐานสินค้าต่างๆ จากปัจจุบันมีมาตรการผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) จำนวน 3,996 มาตรฐาน ครอบคลุม 43 สาขา เช่น คอนกรีต วัสดุก่อสร้าง เซรามิก เหล็ก อิเล็กทรอนิกส์ โทรคมนาคม ระบบอัตโนมัติ ยานยนต์ไฟฟ้า ระบบราง เครื่องกล ยานยนต์ และเคมี เป็นต้น แบ่งเป็นมาตรฐานทั่วไป 3,871 มาตรฐาน และมาตรฐานบังคับ 125 มาตรฐาน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า วัสดุก่อสร้าง ยานยนต์ และของเล่น, มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) 1,355 มาตรฐาน แบ่งเป็น 5 ประเภท ได้แก่ อาหาร 490 มาตรฐาน, เครื่องดื่ม 224 มาตรฐาน, ผ้าและเครื่องแต่งกาย 98 มาตรฐาน, เครื่องใช้ เครื่องประดับตกแต่ง ศิลปะประดิษฐ์และของที่ระลึก 443 มาตรฐาน และสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร 100 มาตรฐาน
เพิ่มตีตรา มอก.บังคับได้ทันที
“ปีนี้เราได้ตั้งเป้าจะเพิ่มมาตรฐาน มอก. อีก 632 มาตรฐาน โดยจะยกระดับมอก.ภาคบังคับอีก 13 มาตรฐาน เช่น กระเบื้องเซรามิก, ฝักบัว, เหล็กกล้าทรงแบนรีดร้อน แบตเตอรี่ ข้อกำหนดไมโครเวฟ ใช้ที่อยู่อาศัย น้ำมันหล่อลื่นเครื่องยนต์เบนซิน 2 จังหวะ สีเทียน และหากระหว่างปีมีสินค้าประเภทใด ที่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค ก็จะดึงเข้ามาดูเพิ่มเช่นกัน และตอนนี้อยู่ระหว่างการพิจารณายกมาตรฐานสินค้า เป็น มอก.ภาคบังคับได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องยกระดับเป็น มอก.ทั่วไป ให้ เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ในการคุ้มครองดูแลผู้บริโภคเป็นสำคัญ แต่จะเพิ่มระยะเวลาให้ผู้ประกอบการได้ปรับตัวก่อนที่จะเป็น มอก.ภาคบังคับ”
ทะลวงทุกอุปสรรคการค้า
กลยุทธ์ที่ 8 การส่งเสริมมาตรฐาน ให้ความรู้ทุกภาคส่วน เพื่อผลักดันให้นำมาตรฐานไปใช้ เช่น ครู อบต. ผู้ประกอบการ และล่าสุดเตรียมรับฟังปัญหาผู้ประกอบการทั้ง 43 กลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคอะไร ที่เกี่ยวข้องกับ สมอ. ให้ผู้ประกอบการ โดยจะรับเริ่มฟังตั้งแต่เดือนหน้า เช่น มีผู้ประกอบการส่งออกแหนบไปอินเดียยื่นเรื่องให้สมอ.แก้ปัญหา ต้นทุนสูง และมีขั้นตอนเพิ่มขึ้น เนื่องจากหลักเกณฑ์เดิม ทุกสินค้าที่ได้มอก.ทุกล็อตที่ออกจากโรงงาน ต้องตีตรา มอก. แต่อินเดีย ไม่ต้องการตรามอก. ทำให้เอกชนต้องจ้างคนงานลบตรา มอก.ออก ทำให้เพิ่มขั้นตอน เพิ่มต้นทุน สมอ.จึงได้แก้ปัญหาออกประกาศยกเว้นให้กรณีสินค้าลอตส่งออกเท่านั้นไม่ต้องตีตรา โดยให้แจ้งมาว่า ต้องส่งออกเท่าไร ผลิตขายในประเทศที่ต้องตีตราเท่าไร รวมทั้งหากลไกวิธีการอำนวยความสะดวกผู้ประกอบการ ที่นำเข้าสินค้ามาผลิตในประเทศ เพื่อเพิ่มมูลค่า
กลยุทธ์ที่ 9 การเผยแพร่ข่าวสารความเคลื่อนไหวมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง กลยุทธ์ที่ 10 ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ให้มีมาตรฐานอุตสาหกรรมเอส (มอก.เอส) ปัจจุบันมี 179 มาตรฐาน แบ่งเป็นหมวดผลิตภัณฑ์ มีมาตรฐาน 111 มาตรฐาน, หมวดบริการ มีมาตรฐาน 68 มาตรฐาน โดยปีนี้ตั้งเป้าให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และวิสาหกิจชุมชน มี มอก.เอสอีก 400 ราย เช่น โครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (ซีไอวี) ที่หมู่บ้านนาต้นจั่น อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม สมอ.ได้ส่งทีมเจ้าหน้าที่เข้าไปร่วมศึกษา วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อกำหนดมาตรฐาน มอก.เอส ด้านบริการท่องเที่ยววิถีชุมชนหมู่บ้านซีไอวี และส่งเสริมให้ประกอบการได้มาตรฐาน รวมทั้งที่ซีไอวี ออนใต้ จ.เชียงใหม่ มั่นใจว่าจะเป็นเครื่องมือที่สร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยว และยังเป็นกลไกสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากด้วย เชื่อว่า จะทำให้เอสเอ็มอีได้มาตรฐานหลายพันรายแน่นอน
ร่วมกรมศุลฯสกัดนำเข้าสินค้าห่วย
ส่วนกลยุทธ์สุดท้ายการป้องกันนำเข้าสินค้าที่ ไม่ได้มาตรฐาน หรือสินค้าด้อยคุณภาพทะลักเข้ามาในประเทศ โดยจะร่วมมือเข้มข้นกับกรมศุลกากรในการสุ่มตรวจสินค้าที่ด่านศุลกากรทั่วประเทศเข้มข้นขึ้น, เพิ่มความถี่ในการตรวจติดตามเมื่อผู้รับใบอนุญาตได้นำสินค้าเข้ามาจำหน่ายในประเทศ โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่มีประวัติไม่ซื่อตรง กลยุทธ์ทั้งหมดนี้ เพื่อให้ประชาชน มั่นใจในการเลือกซื้อสินค้า มอก. ใช้แล้วต้องปลอดภัย ในชีวิตและทรัพย์สินค้า รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการเป็นไปตามเป้าหมาย “สมอ.เคียงคู่ เศรษฐกิจไทย ใส่ใจผู้บริโภค”