นักกีฬาว่ายน้ำ กรีฑา พายเรือแคนู และเทควันโด ทั้ง 6 คน ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมการแข่งขันบนเวทีการกีฬาที่ใหญ่ที่สุดในโลกในฐานะสมาชิกทีมพาราลิมปิกผู้ลี้ภัยในการแข่งขันโตเกียวพาราลิมปิกเกมส์ พ.ศ 2563
คณะกรรมการพาราลิมปิกสากลประกาศรายชื่อนักกีฬาเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน โดยมีผู้หญิง 1 คน และผู้ชาย 5 คน ที่ได้แสดงศักยภาพในประเภทกีฬาที่เขาเลือก บางคนเคยได้รับบาดเจ็บในสงครามและบางคนเคยเผชิญความเจ็บปวดของชีวิตที่เปลี่ยนไปตลอดกาลหรือความเจ็บป่วยขณะต้องพลัดถิ่น
หนึ่งในนั้น คือ นักกีฬาพาราลิมปิกหญิงผู้ลี้ภัยคนแรกและเป็นสมาชิกที่อายุน้อยที่สุดของทีม อลิอา อิซซา อายุ 20 ปี ผู้ลี้ภัยชาวซีเรียที่อาศัยอยู่ในประเทศกรีซ ผู้ลงแข่งขันขว้างไม้ – กีฬาประเภทลานที่จัดขึ้นพิเศษสำหรับนักกีฬาที่สามารถใช้มือได้อย่างจำกัด ไม่สามารถพุ่งแหลน ทุ่มน้ำหนัก หรือขว้างจักรได้
อลิอาติดเชื้อโรคไข้ทรพิษตอนอายุ 4 ขวบ ทำให้สมองได้รับความเสียหายและทำให้เธอมีความบกพร่องทางร่างกายและสติปัญญา หลังสูญเสียพ่อที่ป่วยด้วยโรคมะเร็ง เธอได้ค้นพบการเล่นกีฬาที่โรงเรียนของเธอในประเทศกรีซ เมื่อ 3 ปีที่แล้ว และตอนนี้เธอได้ร่วมการแข่งขันในระดับนานาชาติ โดยล่าสุดเธอได้ครองอันดับ 4 ในการแข่งขันพาราเวิลด์กรีฑาชิงแชมป์ยุโรป พ.ศ. 2564
อลิอา เล่าว่าการมีส่วนร่วมในกีฬาเป็นช่วงเวลาที่สำคัญยิ่งสำหรับเธอ ทำให้เธอรู้สึกเข้มแข็งและมั่นใจมากขึ้น “ฉันต้องการบอกกับทุกคนว่าหากพวกเขามีลูกที่มีความบกพร่องเหมือกับฉัน อย่าซ่อนพวกเขาไว้ในบ้าน สนับสนุนเขาให้เล่นกีฬา” เธอกล่าว
หนึ่งในสองนักกีฬาว่ายน้ำของทีม อับบาส คาริมิ ผู้ลี้ภัยชาวอัฟกานิสถานที่อาศัยอยู่ในเมืองฟอร์ท ลอเดอร์เดล ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มาเป็นผู้สนับสนุนที่มีชื่อเสียงของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เมื่อต้นปีที่ผ่านมา อับบาสพิการแขนทั้งสองข้างแต่กำเนิดและต้องเผชิญกับการถูกแบ่งแยกในบ้านเกิดของเขาเพราะความบกพร่องทางร่างกายและเชื้อชาติ ทำให้เขาต้องหนีมายังประเทศตุรกีที่เขาพักพิงอยู่ในสถานะผู้ลี้ภัยเป็นเวลา 4 ปี ก่อนได้ไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในสหรัฐอเมริกา
อับบาสเคยคว้ารางวัลมาได้ 8 เหรียญ รวมถึง 1 เหรียญเงินจากการแข่งขันพาราเวิลด์ว่ายน้ำชิงแชมป์ยุโรปที่เม็กซิโก ซิตี้ พ.ศ. 2560 และเขาคาดหวังที่จะคว้าอีกรางวัลให้ได้จากการแข่งขันที่โตเกียว “ผมเชื่อว่าผมมีศักยภาพที่จะได้ขึ้นไปบนแท่นรับรางวัลในการแข่งขันพาราลิมปิกส์ และผมก็เชื่ออีกว่ามันเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้ลี้ภัยและทีมของเราทุกคนที่หนึ่งในทีมนักกีฬาผู้ลี้ภัยจะได้ขึ้นไปรับรางวัลบนแท่นให้ได้ เพราะชัยชนะนี้จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง เป็นแรงบันดาลใจและความหวังให้กับผู้ลี้ภัยทุกคน” เขากล่าว
นักกีฬาว่ายน้ำอีกหนึ่งคนที่หวังคว้าชัยในการแข่งขันครั้งนี้คือ อิบราฮิม อัล ฮุซเซน จากประเทศบ้านเกิดในซีเรีย ผู้เคยลงแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์ที่เมืองริโอ พ.ศ. 2559 หนึ่งในสองสมาชิกแรกของทีมนักกีฬาพาราลิมปิกอิสระที่มีทั้งผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัย ตอนนี้อิบราฮิมอาศัยอยู่ในประเทศกรีซ ขาข้างขวาของเขาตั้งแต่ช่วงเข่าลงไปถูกตัดออก หลังได้รับบาดเจ็บจากเหตุระเบิดในซีเรียขณะกำลังพยายามช่วยเพื่อนที่ได้รับบาดเจ็บ
เขาเป็นนักว่ายน้ำตัวยงมาตั้งแต่เด็ก และยังบออกอีกว่าการได้ลงแข่งขันในพาราลิมปิกคือฝันที่เป็นจริง “ผมอยากให้ผู้ลี้ภัยทุกคนได้รับโอกาสทางการกีฬา ผมคิดไม่ออกเลยว่าชีวิตผมจะเป็นอย่างไรถ้าไม่มีกีฬา” อิบราฮิม กล่าว
ผมคิดไม่ออกเลยว่าชีวิตผมจะเป็นอย่างไรถ้าไม่มีกีฬา”
อนาส อัล คาลิฟา ชาวซีเรียพลัดถิ่นมายังประเทศเยอรมนีโดยผ่านทางประเทศตุรกีใน พ.ศ. 2558 ที่เขาเคยทำงานติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์อยู่ ก่อนได้รับบาดเจ็บที่ไขสันหลังจาการตกตึก 2 ชั้นใน พ.ศ. 2561 ซึ่งทำให้เขาเคลื่อนไหวได้อย่างจำกัดและสูญเสียความรู้สึกบางส่วนตั้งแต่สะโพกลงไป
นักกายภาพบำบัดของเขาแนะนำให้เขาเริ่มพายเรือแคนูสำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกายเมื่อปีก่อน และต้องขอบคุณความทุ่มเทในการฝึกซ้อมของเขาและการสนับสนุนของโค้ชที่เธอเองก็เป็นอดีตนักกีฬาโอลิมปิกที่เคยได้รับรางวัล ทำให้อนาสมีพัฒนาการอย่างน่าทึ่ง “ทุกครั้งที่ผมฝึกซ้อม กีฬาทำให้รู้สึกเหมือนว่าคุณสามารถประสบความสำเร็จได้ในหลายๆ เรื่อง และมันทำให้คุณลืมเรื่องความบกพร่องทางร่างกายไปเลย”
ชาห์ราด นาซัจปูร์ อีกหนึ่งสมาชิกของทีมนักกีฬาพาราลิมปิกอิสระที่ริโอจะลงแข่งอีกครั้งในกีฬาขว้างจักรที่โตเกียว ชาห์ราดเกิดในประเทศอิหร่านพร้อมความบกพร่องทางสมองแต่กำเนิด เขาเคยเล่นปิงปองก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นพารากรีฑา หลังจากได้ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ประเทศสหรัฐอเมริกาใน พ.ศ. 2558 เขาติดต่อคณะกรรมการพาราลิมปิกสากลด้วยความคิดที่จะจัดตั้งทีมนักกีฬาผู้ลี้ภัยสำหรับการแข่งขันที่ริโอ และเขาก็สามารถเข้าร่วมการแข่งขันนั้นได้ในที่สุด
จากหนึ่งในผู้บุกเบิกทีมนักกีฬาพาราลิมปิกผู้ลี้ภัย ชาห์ราดได้รับการสนับสนุนจากทีมที่ขยายสมาชิกเพิ่มเป็น 6 คนเพื่อไปแข่งขันที่โตเกียว “เมื่อคุณมีทีม คุณได้รับความสนใจที่มากขึ้น มันช่างดีเหลือเกินที่ได้เห็นนักกีฬาเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ผมหวังว่าทีมจะใหญ่ขึ้นอีกเรื่อย ๆ ในปีต่อ ๆ ไป” ชาห์ราด กล่าว
“มันช่างดีเหลือเกินที่ได้เห็นนักกีฬาเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น”
สมาชิกทีมคนสุดท้ายคือ ปาเฟ่ต์ อาคิซิมานา ผู้ที่เดินทางไปโตเกียวตรงจากค่ายผู้ลี้ภัยมาฮามาในประเทศรวันดาที่เขาพักพิงอยู่ตั้งแต่ต้องหนีออกมาจากความขัดแย้งในประเทศบุรุนดี เขาเสียแขนข้างหนึ่งตอนอายุ 8 ขวบ ระหว่างถูกโจมตี ซึ่งแม่ของเขาเสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนั้นด้วย เขาเริ่มเรียนเทควันโดในเวลาต่อมาและได้เข้าร่วมการแข่งขันในระดับนานาชาติ อีกทั้งยังเป็นผู้ฝึกซ้อมให้เด็กๆ ผู้ลี้ภัยในค่ายด้วยเช่นกัน
ปาเฟ่ต์ให้ความสำคัญกับการให้ความเคารพ มิตรภาพ และศักยภาพที่ได้มาจากการเล่นเทควันโดซึ่งช่วยให้เขาค้นพบตัวเองในประเทศใหม่ “ผู้ลี้ภัยมีความขาดแคลนในหลายๆ ด้าน แต่กีฬาช่วยให้พวกเขาลืมความยากลำบากเหล่านี้ไป” ปาเฟ่ต์ อธิบาย
ทีมนักกีฬาพาราลิมปิกผู้ลี้ภัยได้รับการประกาศรายชื่ออย่างเป็นทางการผ่านวีดีโอ โดยนักดนตรี นักกีฬา นักประพันธ์ และนักแสดงผู้มีชื่อเสียงระดับโลก รวมถึงทูตสันถวไมตรีของ UNHCR ด้วย นักกีฬาจะลงแข่งภายใต้ธงสัญลักษณ์ของคณะกรรมการพาราลิมปิกสากลในการแข่งขันที่โตเกียว และเป็นนักกีฬาทีมแรกที่เดินเปิดขบวนเข้าสนามกีฬานานาชาติญี่ปุ่นในพิธีเปิด วันที่ 24 สิงหาคม
ทีมผู้ลี้ภัยจะเป็นตัวแทนของผู้ที่ถูกบังคับให้พลัดถิ่นจากความขัดแย้ง การประหัตประหาร และการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนมากกว่า 82 ล้านคนทั่วโลก รวมถึงผู้พลัดถิ่นที่มีความบกพร่องทางร่างกายในจำนวนนั้นราว 12 ล้านคนที่มักเผชิญกับความเสี่ยงและอุปสรรคที่เพิ่มขึ้นในการเข้าถึงความช่วยเหลือและโอกาสต่าง ๆ รวมถึงการมีส่วนร่วมด้านกีฬา
UNHCR ทำงานร่วมกับคณะกรรมการพาราลิมปิกสากล เพื่อสนับสนุนให้ทีมผู้ลี้ภัยได้เข้าร่วมการแข่งขันที่โตเกียว และพร้อมด้วยเหล่านักกีฬาเรียกร้องให้ทั่วโลกมอบการเข้าถึงการกีฬาและการถูกรวมเข้ากับสังคมในด้านต่างๆ อย่างเท่าเทียมแก่ผู้พลัดถิ่นทุกคน รวมถึงผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกาย