คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี somsak_doctor@hotmail.com”
หลังมื้อเที่ยง เจ้าเก่งปฎิบัติภารกิจประจำ (สันดาน) ของมันตามเคย คือ แอบมางีบนอนเอนตากแอร์บนโซฟาในห้องนั่งเล่นอย่างมีความสุข คุณชูสง่าองสั่งเวรด้วยความห่วงใยสุขภาพของลูกก๊วน “พี่หมอช่วยดัดสันดานมันที เดี๋ยวก็อ้วน มันจุกอกตายเร็วแน่ๆ” พี่หมอรับคำแล้วเดินไปหยิบลูกกอล์ฟมา 1 ลูก “เอ้าไอ้อ้วน มึงยื่นมือออกมาแล้วถือลูกกอล์ฟไว้นะ แล้วหลับไปถ้าลูกกอล์ฟร่วงเมื่อไหร่มึงต้องลุกทันทีนะ” “ครับพี่” เจ้าเก่งตาปรือ รับลูกกอล์ฟมากำไว้อย่างงงงว่ากันว่า โทมัส อัลวา เอดิสัน นักประดิษฐ์คนสำคัญ ผู้คิดค้นนวัตกรรมที่มีประโยชน์ต่อมนุษยชาตินับพันชิ้น มีวิธีงีบหลับพักผ่อนแบบพิสดาร ซึ่งช่วยให้คิดและจินตนาการโลดแล่นไร้ติดขัดเมื่อตื่นขึ้น
เทคนิคการงีบหลับแบบพิสดารพิเศษนี้ ทำได้ด้วยการเอนตัวลงผ่อนคลายบนเก้าอี้หรือโซฟา ในลักษณะกึ่งนั่งกึ่งนอน จากนั้นให้กำวัตถุ เช่น ช้อนโลหะ ลูกบอล หรือสิ่งใดก็ตามที่จะทำให้เกิดเสียงดังเมื่อตกกระทบพื้น เอาไว้ในมือ โดยยื่นมือออกมาให้พ้นขอบเก้าอี้หรือโซฟานั้น เมื่อผ่อนคลายได้สักครู่หนึ่งและเริ่มผล็อยหลับ วัตถุที่กำไว้ในมือจะตกลงสู่พื้น เสียงดังจะปลุกผู้ที่กำลังงีบหลับให้ตื่นขึ้นมา แม้ในขณะนั้นจะรู้สึกงัวเงียอยู่บ้างแต่คนผู้นั้นจะพร้อมทำงานที่ค้างคาไว้ โดยเกิดไอเดียใหม่ๆ หรือพบวิธีแก้ปัญหาที่ดีขึ้นสำหรับงานนั้นได้
ล่าสุดทีมวิจัยของฝรั่งเศส ได้ทดสอบเทคนิคการงีบหลับดังกล่าว ว่าจะได้ผลจริงหรือไม่ และได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาลงในวารสาร Science Advances ซึ่งนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันสมองกรุงปารีส (ICM) พบว่า วิธีงีบหลับแบบอัจฉริยะเหล่านี้ ได้ผลอย่างที่พวกเขาบอกไว้จริง
มีการทดลองโดยให้คนทั่วไปที่สุขภาพดี มีระดับสติปัญญาปานกลาง และนอนหลับง่าย 103 คน ให้งีบหลับด้วยวิธีพิเศษนี้ โดยมีการติดตั้งเครื่องตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) เพื่อติดตามความเปลี่ยนแปลงที่บ่งชี้ว่า คนผู้นี้อยู่ในภาวะการนอนหลับขั้นใดแล้ว แต่ก่อนจะให้กลุ่มทดลองเอนกายลงพักผ่อน นักวิจัยได้ให้พวกเขาทำโจทย์คณิตศาสตร์ โดยจะบอกวิธีทำให้ 2 วิธี แต่ก็ยังมีวิธีการแก้ปัญหาอีกแบบหนึ่งซ่อนอยู่ในโจทย์ ซึ่งหากผู้เข้าร่วมการทดลองมองออก หรือค้นพบวิธีนี้ ก็จะสามารถทำโจทย์ได้รวดเร็วขึ้นอย่างมาก ดร.เคลฟิน อูเดียทต์ หัวหน้าทีมวิจัย อธิบายว่า “ความคิดสร้างสรรค์ไม่ได้มีอยู่แค่ในงานศิลปะ อย่างที่คนทั่วไปเข้าใจกัน แต่มันคือไหวพริบและการอย่างรู้ถึงแนวคิดใหม่ๆ ที่ตัวเองไม่เคยได้เรียนรู้มาก่อน โดยความคิดใหม่ที่เกิดขึ้นนั้น เป็นประโยชน์ต่องานที่ทำอยู่ ซึ่งในกรณีของเราแล้วการวัดระดับความคิดสร้างสรรค์หลังตื่นนอน ขึ้นอยู่กับการแก้ไขโจทย์เลขโดยใช้วิธีที่ซ่อนได้” โดยผลการตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าสมองชี้ว่า กลุ่มทดลองที่ได้เคลิ้มหลับไปจนตกอยู่ในภาวะครึ่งหลับครึ่งตื่น หรือเรียกขั้นตอนนี้ว่า N1 เป็นเวลาอย่างน้อย 15 วินาที ซึ่งในลักษณะนี้จะมีโอกาสถึง 83% ที่จะค้นพบวิธีแก้โจทย์เลขที่ถูกซ่อนไว้ ส่วนกลุ่มที่นอนไม่หลับระหว่างการทดลอง มีโอกาสน้อยเพียง 30% เท่านั้น คนเราใช้เวลานอนหลับในขั้น N1 เพียง 5% ของแต่ละคืน โดยในขั้นนี้เราจะสามารถจินตนาการถึงรูปทรงสีและภาพความฝันต่างๆได้ ซึ่งเท่ากับเป็นโอกาสให้สมองได้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งมักไม่เกิดขึ้นในขณะตื่นอยู่
เคล็ดลับก็คือ คุณจะต้องพล็อยหลับง่าย แต่ไม่เผลอหลับลึกจนเกินวงจรการนอนหลับขั้น N1 เข้าสู่ขั้น N2 ที่เป็นการหลับลึกแล้วโอกาสเกิดความคิดสร้างสรรค์ ก็จะหายไปทันที ดร.อูเดียทต์ กล่าว