เผยแพร่: ปรับปรุง:
คอลัมน์ Buzzer Beat โดย MVP
อเมริกันฟุตบอล เอ็นเอฟแอล (NFL) ฤดูกาล 2022 ย่างเข้าสู่สัปดาห์ที่ 5 แต่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้วว่า “รีฮันนา” ศิลปินระดับตัวแม่คนหนึ่งของวงการเพลง จะเป็นตัวหลักช่วง ฮาล์ฟ ไทม์ โชว์ ศึกซูเปอร์โบว์ล 57 ที่เมืองเกลนเดล รัฐอริโซนา เดือนกุมภาพันธ์ 2023 ทำให้คนอย่างผมที่ลุ้นว่า เมื่อไรจะถึงโอกาส “Blackpink” เกิร์ล กรุ๊ป ระดับโลก ต้องรอต่อไปถึงครั้งที่ 58, 59, 60 หากสมาชิกไม่ได้แยกย้ายกันไปทำงานอื่นๆ เสียก่อน
นึกๆ แล้วช่างน่าเสียดายยิ่งนัก ช่วงต้นปีที่ผ่านมาเราเริ่มเห็นแล้วว่า บาสเกตบอล เอ็นบีเอ (NBA) เริ่มมีปฏิกิริยาตอบรับกระแส K-Pop บ้างแล้ว อาจจะด้วยเหตุผลทางการตลาด เนื่องจากลีกเคยมีความขัดแย้งทางการเมืองกับประเทศจีน ตลาดใหญ่ที่สุดของโลกและทวีปเอเชีย จึงต้องพยายามรุกหาประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน บวกกับกระแสความนิยมศิลปิน K-Pop ย่านนี้ก็มีอยู่มิใช่น้อย จึงสามารถใช้เป็นกลยุทธ์เพื่อดึงดูดคนดู และเรียกเรตติงได้
ล่าสุด Suga สมาชิกวง BTS มาปรากฏตัวและชมการแข่งขันเกมพรีซีซัน ที่ประเทศญี่ปุ่น ระหว่าง โกลเดน สเตท วอร์ริเออร์ส กับ วอชิงตัน วิซาร์ดส ซึ่งมีผู้เล่นชาวญี่ปุ่นอย่าง รุย ฮาชิมูระ เล่นอยู่ หรือลองย้อนกลับไปช่วงท้ายฤดูกาลปกติ 2021-22 เราได้เห็น “แบมแบม” กันต์พิมุกข์ ภูวกุล อดีตสมาชิก “Got7” โชว์ผลงานเดี่ยว ที่เชส เซ็นเตอร์ รังเหย้าของ วอร์ริเออร์ส และเดือนพฤศจิกายน 2021 โรเซ สมาชิกวง Blackpink มาปรากฏตัวเกม นิว ยอร์ก นิกส์ พบ มิลวอกี บัคส์ ที่เมดิสัน สแควร์ การ์เดน พร้อมรับเสื้อของ เดอร์ริค โรส การ์ดจ่ายดีกรีผู้เล่นทรงคุณค่า (MVP) 2011 เป็นของที่ระลึก
แต่สำหรับ NFL พวกเขาไม่จำเป็นต้องทำเช่นนั้น ลำพังความนิยม ลีกคนชนคน เฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา ก็สามารถกอบโกยรายได้มหาศาล ทั้งลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด, ค่าโฆษณา, ค่าตั๋วเข้าชม และอื่นๆ อีกมากมาย บวกกับกลยุทธ์ทางการขยายตลาด NFL เน้นรุกเจาะทวีปยุโรป โดยเฉพาะประเทศอังกฤษ ซึ่งมีสื่อมวลชนค่ายใหญ่ๆ ช่วยกันประโคมข่าวการแข่งขัน ดูเหมือนว่าแนวทางนี้จะประสบความสำเร็จมากกว่า และความนิยม NFL ของคนเอเชียยังไม่สูงเท่าไร ด้วยเหตุนี้ NFL จึงไม่มีความจำเป็นต้องแคร์กระแส K-Pop มากมายเท่าไร
สำหรับโชว์พักครึ่งของ ซูเปอร์โบว์ล 57 นี่คือการกลับมาขึ้นเวทีครั้งแรกของ รีฮันนา หลังห่างหายไปนานเกือบ 7 ปี นับตั้งแต่ออกอัลบั้มล่าสุด โดยไม่มีผลง่านใดๆ ออกสู่สายตาประชาชนเลย เป็นเหตุให้แฟนเพลงของเธอต่างออกอาการตื่นเต้น เมื่อเห็นเพจ badgalriri เริ่มมีความเคลื่อนไหว ด้วยการโพสต์ภาพถ่าย มือชูลูกอเมริกันฟุตบอล ก่อนการยืนยันอย่างเป็นทางการของ NFL ส่วนหตุผลของการคืนเวที คงคิดเป็นอื่นเสียมิได้นอกเสียจาก เธอ กับ เจย์-ซี โปรดิวเซอร์ของงาน เคยร่วมงานกันมาก่อน ถ้าจะเรียกว่าคนกันเองก็ไม่น่าจะผิด
ตามโปรไฟล์ NFL กับ รีฮันนา ด้วยความรู้เรื่องบันเทิงเท่าหางอึ่ง ผมไม่ขอย้อนไปไกลมากนัก เอาแค่ปี 2019 รีฮันนา เคยลั่นวาจาไว้ว่า จะแบนรับงานของ NFL เพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับ โคลิน เคเปอร์นิก อดีตควอเตอร์แบ็ก ซาน ฟรานซิสโก โฟร์ตีไนเนอร์ส ซึ่งตกงานนับตั้งแต่เริ่มสัญลักษณ์คุกเข่า เพื่อต่อต้านการแบ่งแยกชนชั้นด้วยสีผิว ฤดูกาล 2016 “แน่นอน ฉันทนอยู่ไม่ได้ เพื่ออะไร ใครได้ประโยชน์จากจุดนั้น ไม่ใช่คนของฉัน ฉันไม่อยากเป็นคนทรยศ ฉันคงไม่ใช่คนที่ทรงอิทธิพล มีหลายสิ่งขององค์กรที่ฉันไม่เห็นด้วยเลย และฉันไม่ได้อยากตอบรับ และรับงานเพื่อพวกเขาทุกงาน”
กาลเวลาผ่านไป เคเปอร์นิก ยังถูกแฟรนไชส์ NFL หมางเมินเช่นเดิม ถ้ามองมุมของ อเมริกันฟุตบอล เคเปอร์นิก ไม่ใช่ควอเตอร์แบ็กที่มีจุดเด่นด้านการปักหลักขว้างหลังพ็อคเก็ต (แนวป้องกัน) แต่เป็นเกมวิ่ง จึงถูกทีมรับจัดการได้ง่ายๆ ด้วยการบลิตซ์บีบ พ็อคเก็ต ให้แคบลง แล้วบีบให้ใช้เกมขว้าง เพียงเท่านี้ก็หมดพิษสงแล้ว แถมโค้ชไม่น่าจะชอบใช้ควอเตอร์แบ็กที่วิ่งเก่ง หรือวิ่งพร่ำเพรื่อ เพราะเสี่ยงต่อการบาดเจ็บจากการถูกแท็คเกิลบ่อยๆ ยิ่งนานวันมันก็ทำให้คิดได้ว่า กรณี เคเปอร์นิก ไม่มีทีมใดจ้าง มันมาจากการเล่นของเขาเองมากกว่าการเมือง
ถึงแม้ รีฮันนา จะเคยพูดแบบนั้นจริง แต่ถ้าเราเอาประเด็นการเมืองมาเชื่อมโยงกับสิ่งใดก็แล้วแต่ หัวมันจะปวดเสียเปล่าๆ ถ้ามองมุมง่ายๆ ว่า รีฮันนา กับ เจย์-ซี คือ คนที่เคยร่วมงานกันมาก่อนจากผลงาน Run This Town ที่มีรางวัล แกรมมี อวอร์ด รับประกันคุณภาพ มันก็ไม่แปลกเลยที่จะถูกทาบทามมาแสดง นับจากนี้ผมอยากรอฟัง “เชนไดรท์ แล้วก็ ไบกอน” บนเวที ซูเปอร์โบว์ล มากกว่า