Thailand Sport Magazine Sponsored

โรคข้อเสื่อม เป็นไปตามวัย แก้ไขได้ไม่ยาก / พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ

Thailand Sport Magazine Sponsored
Thailand Sport Magazine Sponsored

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   


คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี somsak_doctor@hotmail.com”

เจ้าเก่งเป็น งง! เมื่อเห็นคุณชูสง่า นั่งรถเข็นออกมาจากห้องตรวจข้อเข่าในสภาพเข่าซ้ายถูกดามด้วย Slab หรือเฝือกฝาเดียวพันผ้ายืด Elasticbandage ออกมาพร้อมพี่หมอ “เฮียขาหักเหรอครับพี่หมอ” “เปล่า” พี่หมอตอบหน้าตาเฉย…..นัยว่า..พี่หมอจับเฮียใส่ Slab ก็เพื่อที่จะให้หายจากอาการเจ็บเข่าได้อย่างรวดเร็วใน 1 สัปดาห์ เพราะงานรับปริญญาของลูกสาวรออยู่ ทั้งนี้อาการปวดเข่าจนเดินกระเผลก เกิดจากเฮียเป็นโรค ข้อเท้าเสื่อมอยู่เดิมแล้วลืมตัวไปเดินมากแถมยังขึ้นบันไดไปไหว้พระในวิหารบนยอดเขาสูงกลับลงมาเลยเกิดอาการเข่าซ้ายอักเสบบวมเป่งปวดจนเดินกระเผลก

อาการปวดข้อในผู้สูงอายุชนิดที่พบบ่อยที่สุดคือ เกิดจากโรคข้อเสื่อม (Osteoarthritis) ส่วนมากมักพบในข้อใหญ่ๆที่มีการเคลื่อนไหวมากหรือข้อที่รับน้ำหนักมาก เช่น ข้อเข่า ข้อสะโพก ข้อเท้า โรคข้อเสื่อมนี้เกิดจากความเสื่อมสภาพของกระดูกอ่อนผิวข้อเปลี่ยนสภาพจากผิวเรียบมันกลายเป็นผิวที่ขรุขระ ส่งผลให้การเคลื่อนไหวของข้อมีการติดขัดไม่ราบเรียบและความเสื่อมนี้จะดำเนินไปเรื่อยๆไม่มีทางกลับคืนเป็นปกติเหมือนเดิม

-ปัจจัยเสี่ยงใดบ้างที่ทำให้เกิดข้อเสื่อม

1.การบาดเจ็บโดยเฉพาะการบาดเจ็บที่รุนแรงหริอการบาดเจ็บที่ซ้ำซาก

2.มักพบในผู้สูงวัยที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป

3.คนอ้วน น้ำหนักเกิน

4.ผู้ที่มีโรคกระดูกพรุน

5.ผู้ที่ทำอาชีพที่ต้องยืนหรือเดินมากเป็นประจำ

6.เพศหญิงมีโอกาสเกิดข้อเสื่อมมากกว่าเพศชาย

7.กรรมพันธ์ แม่ที่มีโรคข้อเสื่อมมักพบว่าลูกสาวจะมีข้อเสื่อมด้วย

-การป้องกันและรักษา โรคข้อเสื่อมโดยไม่ใช้ยา ทำอย่างไร?

1.ถ้าคนอ้วนหรือน้ำหนักเกินให้ลดน้ำหนักลง เพราะน้ำหนักที่เกินทำให้ข้อรับน้ำหนักเพิ่มขึ้นทำให้เสื่อมเร็วขึ้น

2.ลดการใช้งานหรือการรับน้ำหนักของข้อ ได้แก่ ลดการวิ่งหรือจ๊อกกิ้ง เพราะเข่าต้องรับน้ำหนักเพิ่ม 10 เท่าของน้ำหนักตัว หลีกเลี่ยงการกระโดด การนั่งยอง นั่งคุกเข่า การนั่งพับเพียบ งดการยกของหนักโดยเฉพาะ 5 กิโลกรัมขึ้นไป

3.บริหารกล้ามเนื้อรอบข้อให้แข็งแรงสม่ำเสมอให้มีการเคลื่อนไหวข้อเข่าหรือข้อสะโพกเป็นเวลา 20-30 นาทีทุกๆวัน

4.ออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาอย่างสม่ำเสมอการออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่มีข้อเสื่อม คือ การว่ายน้ำ การปั่นจักรยาน

5.รายที่เป็นรุนแรง อาจใช้เครื่องพยุงข้อและใช้ไม้เท้าช่วยเดิน

ปัจจุบันมียาช่วยชะลอการเสื่อมของข้อเข่ามีสรรพคุณคล้ายเป็นอาหารสำหรับบำรุงกระดูกอ่อน คือ กลูโคซามีน (Glucosamine) โดยทำให้กระดูกอ่อนแข็งแรงขึ้น

ส่วนยาที่ใช้รักษา จะเป็นเพียงยากินบรรเทาอาการปวดและลดการอักเสบ เช่น ibuprofen diclofenac celecoxib เป็นต้น ซึ่งการกินยาควรกินหลังอาหารทันทีเพราะยามีฤทธิ์ระคายกระเพาะในรายที่เป็นโรคกระเพาะอยู่แล้วการให้กินยาป้องกันโรคกระเพาะร่วมด้วยและการใช้ยาลดการอักเสบเป็นเวลานานๆหรือใช้ในขนาดสูงอาจทำให้การทำงานของไตลดลงเกิดโรคไตตามมาได้

โรคข้อเสื่อมเป็นโรคที่ป้องกันได้โดยอย่าให้น้ำหนักเกินหลีกเลี่ยงการใช้ข้อเกินกำลังบริหารให้ข้อต่างๆแข็งแรงอยู่เสมอ การใช้ยาแก้ปวดลดการอักเสบควรใช้เพียงครั้งคราวเราก็สามารถรักษาข้อไว้ใช้ได้นานๆ

Thailand Sport Magazine Sponsored
ผู้สื่อข่าว กีฬา

ข่าวกีฬา นักกีฬา กีฬา ในร่ม indoor outdoor ต้องทำ sport ให้เป็น กีฬา หลักของประเทศ ดูข้อมูล กอล์ฟ บาสเก็ตบอล ฟุตบอล ว่ายน้ำ วอลเล่ย์บอล มวย แข่งรถ แบดมินตัน และ อีสปอร์ต Dedicated to all sport news from Thailand, with news updates, stories and event reports on many different types of sporting activities that the Thailand currently holds, across all of the asia.

This website uses cookies.