เซ็ปป์ แบล็ตเตอร์ อดีตประธาน สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) กับ มิเชล พลาตินี อดีตประธานสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (UEFA) รอดพ้นข้อกล่าวหาทุจริต ซึ่งเขย่าวงการลูกหนังและนำไปสู่การสูญเสียอำนาจ เมื่อวันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม
ศาลอาญาของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ตั้งอยู่ตอนใต้ของเมืองเบลลินโซนา ตัดสินให้จำเลยทั้ง 2 พ้นข้อกล่าวหา หลังกระบวนการสอบสวนอันยาวนาน เริ่มตั้งแต่ปี 2015
แบล็ตเตอร์ วัย 86 ปี กับ พลาตินี วัย 67 ปี ฟังคำพิพากษาด้วยอาการสงบนิ่ง ระหว่างเจ้าหน้าที่อ่านผลการวินิจฉัย ซึ่งปฏิเสธคำร้องของอัยการให้ลงโทษจำคุก 1 ปี 8 เดือน
โดมินิค เนลเลน ทนายความของ พลาตินี กล่าว “ในที่สุดศาลยุติธรรมพบว่าไม่มีการกระทำผิดใดๆ ในคดีนี้ ลูกความของผมบริสุทธิ์และถูกล้างมลทิน”
เจ้าของสมญา “นโปเลียนลูกหนัง” คลอดแถลงการณ์สั้นๆ ระบุว่า เป็นชัยชนะยกแรก พร้อมพาดพิงถึงอำนาจมืดที่คิดปลดตนออกจากตำแหน่ง
“คดีนี้มีผู้กระทำผิดมากมายที่ไม่ได้ปรากฏตัว ระหว่างการสอบสวน ขอให้พวกเขาวางใจตัวผม เราจะหาคนๆ นั้นจนเจอ”
พลาตินี ถูกว่าจ้างตำแหน่งที่ปรึกษาของ แบล็ตเตอร์ ตั้งแต่ปี 1998-2002
แบล็ตเตอร์ ให้การต่อศาล สมัยตนรับตำแหน่งประธาน “ฟีฟา” ปี 1998 องค์กรมีประวัติอันเลวร้าย และมองว่าคนๆ หนึ่งที่มีชื่อเสียงในวงการน่าจะช่วยงานได้
แบล็ตเตอร์ จึงรับฟังคำแนะนำของ พลาตินี ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเดินทาง, ปรับปฏิทินการแข่งขันทีมชาติ และ ช่วยเหลือ สหพันธ์ฟุตบอลระดับประเทศ ด้านการเงิน
ทั้งคู่เซ็นสัญญาฉบับหนึ่ง เมื่อปี 1999 ระบุค่าตอบแทนปีละ 300,000 ฟรังก์สวิส (ประมาณ 11 ล้านบาท) ซึ่ง “ฟีฟา” เป็นผู้จ่ายทั้งหมด
แต่ผลการตรวจสอบพบว่า มีการจ่ายเงินมากกว่า 2 ล้านฟรังก์สวิส (ราว 74 ล้านบาท) แก่ พลาตินี เมื่อปี 2011 ขณะนั่งเก้าอี้ประธาน “ยูฟา” ณ เวลานั้น
แบล็ตเตอร์ แก้ต่างต่อศาลว่า ทั้ง 2 ฝ่ายทำสัญญาลูกผู้ชายกันไว้ว่า พลาตินี จะได้รับเงิน 1 ล้านฟรังก์สวิส (37 ล้านบาท) ต่อปี
พลาตินี ขอเงินแบบขำๆ สัก 1 ล้าน โดยไม่ได้กำหนดสกุลเงิน และ แบล็ตเตอร์ ตอบรับว่าจะจ่ายให้บางส่วน ซึ่งเป็นเงินนอกเหนือสัญญาที่เซ็นกันไว้ และจะจ่ายให้ภายหลัง
ส่วนที่เหลือจะชำระให้ เมื่อสถานภาพทางการเงินอันเปราะบางของ “ฟีฟา” เอื้ออำนวย และ แบล็ตเตอร์ ชี้แจงว่า ข้อตกลงนี้ทำกันแบบปากเปล่า โดยไม่มีพยานรู้เห็น
พลาตินี ถูกกล่าวหาว่าส่งใบแจ้งหนี้ปลอมถึง “ฟีฟา” เพื่อเรียกร้องเงินจากการทำหน้าที่ที่ปรีกษา เมื่อปี 2011
ทั้งคู่ต้องคดีฉ้อโกง และปลอมแปลงเอกสาร โดย แบล็ตเตอร์ ถูกกล่าวหาว่า ยักยอกเงินเพื่อใช้ประโยชน์ส่วนตัว และคอร์รัปชั่น ขณะที่ พลาตินี ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมกระทำผิด
แบล็ตเตอร์ และ พลาตินี ยืนยันความบริสุทธิ์ตลอดการพิจารณาคดี ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 8-22 มิถุนายน
ขณะที่ศาลพิจารณาว่า การฉ้อโกงไม่ใช่การกระทำที่ตัดสินจากความเป็นไปได้ ดังนั้นจึงนำหลักกฎหมายอาญามาประกอบการตัดสินว่า “หากมีข้อสงสัยต้องยกประโยชน์แก่จำเลย”
โจเซฟ หรือ เซ็ปป์ แบล็ตเตอร์ ทำงานที่ “ฟีฟา” เมื่อปี 1975 ขยับขึ้นตำแหน่งเลขาธิการ เมื่อปี 1981 และดำรงตำแหน่งประธาน ปี 1998
แบล็ตเตอร์ ถูกบีบให้อำลาตำแหน่ง ปี 2015 และถูก ฟีฟา ลงโทษแบน 8 ปี แล้วลดหย่อนเหลือ 6 ปี ข้อหากระทำผิดจริยธรรม กรณีจ่ายเงินแก่ พลาตินี ซึ่งมองว่าทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าองค์กร
ส่วน พลาตินี ได้รับการยกย่องว่าเป็นสุดยอดนักเตะคนหนึ่งของโลก คว้ารางวัล “บัลลง ดอร์” 3 สมัย ปี 1983, 1984 และ 1985
พลาตินี นั่งเก้าอี้ประธาน “ยูฟา” ตั้งแต่เดือนมกราคม 2007 ถึง ธันวาคม 2015 และยื่นอุทธรณ์โทษแบนเดิม 8 ปี ต่อศาลกีฬา และได้รับการลดหย่อนเหลือ 4 ปี
เผยแพร่: 3 มิ.ย. 256…
This website uses cookies.