Thailand Sport Magazine Sponsored

เป็นโรคหัวใจ…แต่ทำไมหมอให้กินยาแก้ไข้! / พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ

Thailand Sport Magazine Sponsored
Thailand Sport Magazine Sponsored

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   


คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี somsak_doctor@hotmail.com”

คุณชูสง่าวางช้อนอาหารคำสุดท้าย พลางหยิบยาหลังอาหารทันทีเม็ดเล็กๆใส่ปาก ก่อนดื่มน้ำตาม3อึกใหญ่ เจ้าเก่งมองดูแล้วคิดในใจว่าเฮียคงได้ยาโรคหัวใจมา หลังจากเมื่อวานพี่หมอพาไปเช็คหัวใจเพราะบ่นว่าเหนื่อยง่ายกว่าปกติ “ยาอะไรครับเฮีย” เจ้าอ้วนเก่งถามไปงั้น “แอสไพริน” “อ้าว! เฮียปวดหัวหรือเป็นไข้” เจ้าเก่ง ลูกก๊วนฉายาจอมตีไกลออกอาการงง แต่เมื่อหันมามองหน้าพี่หมอ กลับเห็นสีหน้าของพี่หมอที่ยิ้มกริ่มเหมือนจะบอกอะไร

“ยาแอสไพริน” เป็นยาที่ใช้ในการลดไข้ แต่ปัจจุบันนำมาใช้ในการป้องกันโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายซ้ำ ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญของโรคหัวใจขาดเลือด ซึ่งมักเกิดขึ้นในผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวอื่นๆร่วมด้วย โรคหัวใจขาดเลือดนี้เกิดขึ้นเพราะเมื่อมีอายุมากขึ้น จะมีไขมันมาเกาะที่ผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแข็งตัว ยิ่งนานมันไขมันก็ยิ่งเกาะมากขึ้น ผนังหลอดเลือดก็หนาตัวขึ้นและขรุขระ หลอดเลือดจึงตีบ เลือดไหลได้ไม่สะดวก เกล็ดเลือดซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเลือดก็จะเกาะที่ผนังหลอดเลือดที่ขรุขระนั้น ถ้าเกาะกันเป็นก้อนใหญ่มากก็จะทำให้หลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลันได้ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหน้าอก และกล้ามเนื้อหัวใจอาจตายแบบเฉียบพลันได้

กลไกการออกฤทธิ์ของแอสไพรินคือสามารถยับยั้งการเกาะกันเป็นกลุ่มก้อนของเกล็ดเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุของหลอดเลือดตีบ ขนาดยาที่ใช้น้อยกว่าขนาดยาสำหรับแก้ไข้ คือเม็ดเล็กขนาด 60-75 มิลลิกรัม กินวันละ 1 ครั้ง ก็ได้ผล โดยไม่ระคายเคืองกระเพาะอาหารเท่าเม็ดใหญ่ที่เรากินแก้ปวดแก้ไข้กันทุกวันนี้

แม้ปัจจุบันจะมียาแอสไพรินแบบเคลือบฟิล์มเอนเทอริก (enteric-coated) ที่จะไปแตกตัวที่ลำไส้เล็ก ลดอาการไม่สบายท้อง แต่ราคาจะแพงกว่า และถึงอย่างไรก็ตามยาแอสไพรินอาจไปเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเลือดออกในกระเพาะอาหารได้ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใด จึงควรที่จะรับประทานหลังอาหารทันทีและดื่มน้ำตามมากๆเช่นกัน

ข้อสำคัญประการหนึ่งที่ควรปฏิบัติคือ หากไปทำฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน หรือรับการผ่าตัด ต้องบอกให้หมอทราบก่อนเสมอว่ากินยาแอสไพรินอยู่ เพื่อที่จะได้ระมัดระวังไม่ให้เกิดปัญหาเลือดไหลไม่หยุดระหว่างทำฟันหรือผ่าตัดนั้นๆ

แล้วยาอมใต้ลิ้นที่เราเห็นกันในหนังในละคร เวลาเกิดอาการเจ็บหน้าอกตัวละครจะหยิบยามาอม เจ้าตัว “ยาอมใต้ลิ้น” ใช้แก้อาการเจ็บหน้าอกได้อย่างไร?

อาการเจ็บหน้าอก เป็นอาการแสดงอย่างหนึ่งของโรคหัวใจขาดเลือด อันเนื่องมาจากหลอดเลือดที่เลี้ยงกล้ามเนื้อของหัวใจเกิดการอุดตันหรือตีบ บางคนรู้สึกเจ็บเหมือนมีอะไรมารัดหน้าอก บางคนรู้สึกเจ็บตื้อๆ จกแน่นที่ลิ้นปี่ หายใจไม่สะดวก บางคนอาจมีอาการปวดร้าวไปที่แขนซ้าย ไหล่ซ้าย คางหรือกราม และขณะเจ็บจะมีเหงื่อออกมาก ใจสั่น อาจรู้สึกคล้ายจะเป็นลม อาการเจ็บหน้าอกนี้มักเกิดขึ้นเมื่อออกกำลังกายมากกว่าปกติ กินอาหารมากเกินไป มีอารมณ์โกรธหรือตื่นเต้น หากนั่งพักอาการส่วนใหญ่จะดีขึ้น แต่ถ้าไม่ดีขึ้นก็ต้องใช้ยาอมใต้ลิ้นช่วย

ยาอมใต้ลิ้น เป็นยาที่มีฤทธิ์ขยายหลอดเลือด เลือดจึงไหลไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ ทำให้อาการเจ็บหน้าอกหายไปภายใน 1-2นาที แต่ถ้าหลังอมยาไปแล้ว 5 นาที อาการยังไม่ดีขึ้นให้อมยาเม็ดที่ 2 พร้อมทั้งเตรียมรีบไปโรงพยาบาล

ดังนั้น ผู้ที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดจึงควรพกยาอมใต้ลิ้นติดตัวเสมอ เมื่อเกิดอาการเจ็บหน้าอกจะได้หยิบยามาอมใต้ลิ้นได้ทันท่วงทีเพื่อบรรเทาอาการให้หายไปและไม่เป็นอะไรที่หนักขึ้น

“จำไว้นะไอ้เก่ง ถ้าอยู่ๆนายเอ็งเจ็บหน้าอกหรือเอามือกำหน้าอกล่ะก็ รีบล้วงหายาอมใต้ลิ้นมายัดปากเฮียแกเลยนะ แต่ถ้าเฮียเจ็บหน้าอกเพราะน้องแคดดี้สาวสวยประจำตัวไม่ค่อยเทคแคร์ อันนี้ไปฟ้องซ้อได้เลยไม่ต้องใช้ยา!” พี่หมอพูดพลางยิ้มกริ่มแกล้งเฮียชูสง่าหัวหน้าก๊วนที่ทำหน้ากังวลกับการตรวจหัวใจเมื่อวานจนเกินเหตุ

Thailand Sport Magazine Sponsored
ผู้สื่อข่าว กีฬา

ข่าวกีฬา นักกีฬา กีฬา ในร่ม indoor outdoor ต้องทำ sport ให้เป็น กีฬา หลักของประเทศ ดูข้อมูล กอล์ฟ บาสเก็ตบอล ฟุตบอล ว่ายน้ำ วอลเล่ย์บอล มวย แข่งรถ แบดมินตัน และ อีสปอร์ต Dedicated to all sport news from Thailand, with news updates, stories and event reports on many different types of sporting activities that the Thailand currently holds, across all of the asia.

This website uses cookies.