เผยแพร่: ปรับปรุง:
คอลัมน์ EYE ON SPORTS โดย กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน
ด้วยความที่ อาลิง แบร๊ท ฮอลัน (Erling Braut Håland) ชอบนั่งวิปัสสนา เขาเคยทำท่าดีใจหลังจากทำประตู ปารี แซ็ง-แฌรแม็ง (Paris Saint-Germain) ใน ยูเอ๊ฟฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก (UEFA Champions League) 2019-20 รอบ 16 ทีม เล้กแรก ด้วยท่านั่งวิปัสสนา แต่ดันไปพลาดท่าพ่ายใน เล้กที่ 2 ซะ เนย์มาร (Neymar) จึงได้โอกาสฉลองการยิงประตูด้วยการทำท่านั่งวิปัสสนาล้อเลียนบ้าง แม้ว่า อาลิง จะอ้างว่าไม่รู้สึกอะไร ดีซะอีกที่ช่วยเผยแผ่การนั่งวิปัสสนากรรมฐานไปทั่วโลก แต่รับรองว่า ทั้งคู่ต้องโคจรมาเจอกันให้แฟนๆเห็นอะไรดีๆอีกแน่นอน
วันนี้ขอกล่าวถึง อาลิง ถึงแม้ว่าทีมชาติของตนเองจะไม่ได้ไปโลดแล่นใน กาตาร 2022 (Qatar 2022) ฟุตบอลโลก ครั้งที่ 22 ในช่วงปลายปีนี้ที่ประเทศ กาตาร แต่กองหน้าดาวยิงร่างยักษ์แห่งทีมชาตินอร์เวย์ วัย 22 ปี ของ แมนเช้สเต้อร์ ซิตี้ ก็ถูกมองว่า เขาจะเป็นแบบฉบับของดาวยิงที่ครอบครอง “โลกของฟุตบอล” นับแต่นี้ต่อไปอีก 10 ปี
นามสกุล “แบร๊ท” (Braut) มาจาก กรี มาหรี่ต๊ะ แบร๊ท (Gry Marita Braut) แม่ของเขาที่เป็นนักสัตตกรีฑาหญิงระดับแช้มพ์ของ นอร์เวย์ ส่วน “ฮอลัน” มาจาก อั๊ลฟ์-อิงเก้อ ฮอลัน (Alf-Inge Håland) พ่อของเขาที่เคยเป็นแผงหลังให้ทีมใน เพรอมิเอ ลีก ในยุค 1993 – 2003 รวมทั้ง แมน ซิตี้ ด้วย แม้ว่า อาลิง มีสิทธิ์เล่นให้ทีมชาติ อังกฤษ เพราะเกิดตอนที่พ่อของเขากำลังค้าแข้งอยู่กับ ลีดส์ ยูนายถิด (Leeds United) แต่เขาได้ตัดสินใจเล่นให้ทีมชาติ นอร์เวย์
เพราะความที่ฝรั่งที่ใช้ภาษาอังกฤษจะไม่ถนัดกับอักษร “ å ” ที่มีห่วงอยู่ด้านบน อันเป็นภาษาของทางยุโรปเหนือ ซึ่งต้องออกเสียง “ออ” และไม่ถนัดพิมพ์อักษรแบบนี้ เขาจึงมักแทนด้วย “ aa ” หมายให้เป็นที่รู้กันว่ามาจาก å แต่ผู้คนล้วนอ่าน Haaland กันผิดๆว่า “ฮาแลนด์” เอาเป็นว่า ผมอ่านตามการออกเสียงที่แท้จริงของภาษานอร์เวย์ว่า “อาลิง แบร๊ท ฮอลัน” ก็แล้วกัน
สตายล์การเล่นของหมอนี่นับว่าเป็นคุณสมบัติที่ครบเครื่องสำหรับศูนย์หน้า ซึ่งวันนี้ได้รับการวางชื่อเป็น 1 ในนักเตะที่ดีที่สุดในโลกไปแล้ว ด้วยพละกำลัง ความเร็ว ไปกับบอลได้ดี ดึงกองหลังคู่แข่งตามไปได้มาก วางบอลข้ามฟากไปให้เพื่อนแล้วสปริ๊นท์ไปเอาเพื่อจบสกอร์ ด้วยความสูง 1.95 เมตร อย่างหนาด้วย ทำให้สามารถใช้รูปร่างของตนเบียดบังสยบคู่แข่งได้อย่างเด็ดขาด ครอบครองบอลได้อย่างเหนียวแน่น การจบสกอร์ก็ทำได้ดีทั้ง 2 เท้า รวมทั้ง ลูกโหม่ง ในกรอบเขตโทษ อาลิง มีคุณสมบัติพิเศษในการเคลื่อนที่อย่างรวดเร็วและเหมาะเจาะ แม้ในพื้นที่แคบๆเข้าไปสู่จุดที่เพื่อนสามารถให้บอลได้ นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้กองหลังของคู่แข่งปวดหัวเพราะคาดเดาได้ยากมาก
มีการเปรียบเทียบระหว่าง อาลิง กับดาวยิงเด่นๆหลายคนเพื่อดูว่า ใครจะมีเพอร์เซ็นท์ความสำเร็จในการทำประตูในกรอบเขตโทษสูงกว่ากัน ฝรั่งเรียกว่า นักล่าหน้าประตู หรือ นักล่าในกรอบเขตโทษ (The Penalty Box Predator) รายแรกคือ ดิดิเอ ดร๊อกบา (Didier Drogba) อดีตดาวยิงทีมชาติ โก๊ต ดีวัวร (Côte d’Ivoire) ที่โด่งดังกับ เช็ลซี ในยุคปี 2004-12 รายที่ 2 คือ แฮรี่ เคน (Harry Kane) ดาวยิงทีมชาติ อังกฤษ วัย 29 ปี แห่ง ท้อทแน่ม ฮ้อทสเปอร์ ทั้ง 2 คนนี้มีเพอร์เซ็นท์ประสิทธิผลในการจบสกอร์ในกรอบเขตโทษ 64% เท่ากัน
อลัน เชียเร่อร์ (Alan Shearer) ดาวยิงทีมชาติอังกฤษในยุค 1992-2000 แห่ง นิวค้าสเซิ่ล ยูนายถิด (Newcastle United) ผู้ซึ่งท่าดีใจหลังการทำประตู (Goal celebration) ของเขาถูกสร้างเป็นอนุสาวรีย์ที่ เซ็นท์ เจมส์ พ้าร์ค (St James’ Park) มีประสิทธิผล 71% ในขณะที่ แซรฆิโอ อากุเอโร (Sergio Agüero) ดาวยิงทีมชาติอารเฆ็นตีนา วัย 34 ปี ที่เคยอยู่กับ แมน ซิตี้ มาร่วมทศวรรษ ก่อนจะย้ายไปเล่นให้ บารเซโลนา นับเฉพาะตอนที่เล่นใน เพรอมิเอ ลีก นั้น คุง อากุเอโร (Kun Agüero) มีประสิทธิผลถึง 79% เด็ดกว่านั้นก็คือ เจมี วาร์ดี (Jamie Vardy) ดาวยิงทีมชาติอังกฤษ วัย 35 ปี แห่ง เล้สเต้อร์ ซิตี้ (Leicester City) ที่มีอัตราประสิทธิผล 88%
แต่ในบรรดานักเตะกองหน้าดาวยิงที่ถูกเลือกมานั้น อาลิง แบร๊ท ฮอลัน กินขาด ลำพังตอนที่ค้าแข้งอยู่ใน บุนเดสลีกา (Bundesliga) 3 ฤดูกาล กับ ซัลซบวร์ก (Salzburg) 2019-20 และ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ (Borussia Dortmund) 2020-22 รวม 116 นัด ยิง 115 ประตู ประสิทธิผล 94% ยิ่งฤดูกาลนี้เพิ่งเปิดฉากกับ แมน ซิตี้ แค่ 7 นัด ยิงไปแล้ว 10 ประตู วัดค่าประสิทธิผลในกรอบเขตโทษได้สูงถึง 96% เลย งั้นที่หายไปแค่ 4% มันคือเพอร์เซ็นท์ความผิดพลาดน่ะซิครับ