คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี somsak_doctor@hotmail.com”
เวลาบ่ายในวันที่ร้อนอบอ้าว คุณชูสง่ากับเจ้าเก่งนั่งหาวแข่งกัน น้ำหูน้ำตาไหล เหงื่อโทรมใกล้จะเข้าภวังค์ พลันพี่หมอก็ปรากฏกายเข้ามาในห้อง เจ้าเก่งเหลือบเห็นพี่หมอก็ทำท่าดีใจ ลุกไปเปิดแอร์ทันที ตามกติกาที่กำหนดไว้ว่าต้องมีคนในห้องเกิน 2 คนขึ้นไปจึงจะเปิดแอร์ได้ “เมื่อคืนนอนดึกกันหรือครับ” พี่หมอถามหลังทักทายเฮียชู “เปล่า…แต่หลับไม่สนิทฝันเรื่อยเปื่อย ขอยานอนหลับด้วยนะ” เฮียขยับลุกยืดเส้นยืดสาย “ผมขอด้วย นอนหลับๆตื่นๆกลางวันเลยง่วง” ไอ้อ้วนแก้ตัวกลัวโดนด่า
ฝันกับไม่ฝัน แบบไหนคือ “หลับสนิท” จริงๆ
ตามปกติ เราทุกคนอาจจะนอน 6-8 ชั่วโมงต่อวัน และใช้เวลาในการ “ฝัน” เฉลี่ยราว 2 ชั่วโมงในแต่ละคืน อาจจะมีทั้งฝันดีจนไม่อยากตื่น หรือฝันร้ายจนตื่นมาพร้อมกับเหงื่อที่แตกพลั่กไปทั่วร่างกาย หรือฝันที่เนื้อเรื่องมั่วซั่วจนจับต้นชนปลายไม่ถูก
แต่ที่บางคนคิดว่า คืนไหนที่ไม่ได้ฝันเลย แปลว่าเราหลับสนิทดีที่สุด จริงๆแล้วเป็นเช่นนั้นหรือไม่?
ไม่ฝันแปลว่านอนหลับสนิทจริงหรือ?
จริงๆแล้วมนุษย์เราฝันขณะนอนหลับทุกคืน ย้ำว่าทุกคืน เพียงแต่คุณอาจจะจำไม่ได้ว่าฝัน ฝันไหนที่เราจำได้คือฝันที่เราตื่นในขณะที่เรากำลังฝันไปกลางเรื่อง อาจจะเป็นช่วงที่เพิ่งเข้านอนได้ไม่นาน ช่วงกลางดึก หรือช่วงกำลังจะรุ่งเช้า หากคืนไหนที่เรารู้สึกว่าเราไม่ได้ฝันเลย อาจเป็นเพราะเรานอนหลับๆตื่นๆไม่ได้นอนหลับยาวๆจนทำให้เกิดความฝันมากกว่า
ทำไมเราถึงฝัน?
ความฝันเป็นกระบวนการทางสมองที่ทำงานขณะนอนหลับ โดยเฉลี่ยแล้วแต่ละคืนเราอาจฝันได้มากถึง 4-5เรื่อง แต่เรามักจะจำความฝันได้ไม่หมดทุกเรื่อง โดยมักจะจำเรื่องสุดท้ายที่ฝันได้เพราะเป็นเรื่องที่ใกล้ตื่นมากที่สุด จิตแพทย์กล่าวว่า การที่เราฝันขณะนอนหลับ เป็นการช่วยปลอบประโลมจิตใจราวกับได้ทำการบำบัดจิตด้วยตนเองอย่างที่เราคาดไม่ถึง
ข้อดีของความฝัน
เราสามารถฝันได้ตั้งแต่เรื่องไร้สาระที่เกิดขึ้นในชีวิตของเราในตอนนั้น ไปจนถึงเรื่องที่เราหวาดกลัวหรือกังวลในอดีต หรือความทรงจำอันเลวร้ายที่เกิดขึ้นในชีวิต แต่เราพยายามหลีกเลี่ยงที่จะพบกับสิ่งเหล่านั้น การที่เราฝันถึงสิ่งแย่ๆเหล่านี้เป็นกระบวนการทางสมองที่อยากบำบัดจิตใจของตนเองให้คุ้นชิน และยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น เมื่อเราเปิดใจยอมรับกับสิ่งเหล่านั้นในความฝัน จิตใต้สำนึกของเราก็จะเริ่มค่อยๆปรับตัว และรู้สึกหวาดกลัวต่อเรื่องราวเหล่านั้นน้อยลงได้ ราวกับเราได้เล่าเรื่องที่เรากังวลใจให้กับจิตแพทย์ฟัง ดังนั้นหากคุณสามารถเผชิญกับสิ่งที่ไม่อยากเผชิญในความฝันได้ คุณอาจสามารถปลดล็อกตัวเองจากสิ่งที่เรากังวล หรือปล่อยวางความทรงจำที่เป็นบาดแผลในจิตใจลึกๆของคุณได้จากการฝัน อย่างไรก็ตามหากเรามีความฝันที่ดี ก็สามารถช่วยสร้างความทรงจำดี สร้างบรรยากาศที่ดีหลังจากตื่นนอนได้ส่งผลต่อจิตใจให้เบิกบานไปตลอดทั้งวันได้ด้วยเช่นกัน
ดังนั้นเพื่อคุณภาพในการนอนควรเตรียมตัวให้ร่างกายและสมองผ่อนคลายอย่างเต็มที่ จะช่วยให้เรานอนหลับได้อย่างมีประสิทธิภาพ การอาบน้ำอุ่น ดื่มน้ำหรือนมอุ่นๆ ปรับอากาศในห้องนอนให้สบาย ไม่ร้อนหรือหนาวจนเกินไป งดใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด รวมถึงการงดดูทีวีก่อนเข้านอน ปิดไฟในห้องให้มืดหรือเพียงสลัวๆ ปิดเพลงหรือเปิดเสียงเพลงเบาๆที่เป็นเพลงช้าฟังสบาย จุดเทียนหอมหรือสเปรย์ที่มีกลิ่นหอมที่ช่วยให้จิตใจผ่อนคลาย เช่น กลิ่นดอกลาเวนเดอร์ เป็นต้น หากนอนหลับตาไป 15-30 นาทีแล้วยังไม่ง่วง ให้ลุกขึ้นมาทำกิจกรรมเบาๆก่อนจนกว่าจะง่วง เช่น ฟังเพลง อ่านหนังสือ ช่วงหลับตานอนให้นึกถึงเรื่องดีๆที่เราอยากฝันถึง ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ รับรองหลับสนิทหลับสบายตลอดคืน คุณภาพการนอนดี สุขภาพกายและสุขภาพจิตใจเราจะดีตามอย่างแน่นอน
เผยแพร่: 3 มิ.ย. 256…
This website uses cookies.