คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี somsak_doctor@hotmail.com”
บ่ายนี้ คุณชูสง่าพาลูกก๊วนมาฉลอง 3 in 1 ของเจ้าเก่งตามธรรมเนียมที่สัญญาเอาไว้ “เอ้า! เอ็งสั่งเองเลยไอ้เก่ง” เฮียเปิดไฟเขียวเต็มที่กับเจ้าเด็กอ้วนที่หน้าบานยังไม่หุบ
“ขอข้าวผัดปูจานกลางกิน 3 คน ส้มตำปูปลาร้า ลาบหมูใส่เครื่องใน หอยจ้อปู ยำสามกรอบ ทะเลหม้อไฟ …” “พอเลยไอ้อ้วน” พี่หมอฟังรายชื่ออาหารแล้วรีบเบรก “ทำไมครับ? เมนูที่พี่หมอเคยชอบไม่ใช่หรอ ผมรู้ใจนะ” “เออ! ใช่ ของอร่อยทั้งนั้น แต่นี่มันหน้าร้อนมหาโหด อาหารที่สั่งเป็นอาหารเสี่ยงต่อโรคอาหารเป็นพิษที่หมอเค้าห้าม ให้ระวังในหน้าร้อนทั้งนั้นเลย เดี๋ยวให้พี่หมอสั่งให้ดีกว่า รับรองว่าอร่อยและปลอดภัย” เฮียชูพยักหน้าเห็นด้วย
– หน้าร้อน เสี่ยงอาหารเป็นพิษมากกว่าปกติ
รองอธิบดี และโฆษก กรมควบคุมโรค นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ กล่าวว่า หน้าร้อนปีนี้อุณหภูมิสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้เชื้อโรคหลายชนิดเจริญเติบโตได้ดี และทำให้อาหารบูดเสียได้ง่ายกว่าปกติ ส่งผลให้ประชาชนมีความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษ กรมควบคุมโรคจึงแนะนำให้ระมัดระวังในเรื่องการรรับประทานอาหารและเครื่องดื่มเป็นพิเศษ โดยสถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 9 มีนาคม 2563 มีรายงานผู้ป่วยจำนวน 17,757 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ 15-24 ปี รองลงมา แรกเกิด-4ปี และอายุมากกว่า 65 ปี
สาเหตุของโรคอาหารเป็นพิษ เกิดจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย และพยาธิที่มากับอาหารที่ไม่สะอาด อาหารที่ปรุงไว้นาน หรืออาหารที่ปรุงสุกๆดิบๆ และไม่ได้แช่เย็น หรือนำมาอุ่นให้ทั่วถึงก่อนรับประทาน ประกอบกับช่วงนี้อากาศร้อนขึ้นอย่างมาก ทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดี และเพิ่มจำนวนมากขึ้น
อาการของโรคอาหารเป็นพิษ
-คลื่นไส้พะอืดพะอม อาเจียน
-ปวดท้อง แบบลำไส้บิดเกร็งรุนแรงเป็นพักๆ
-ถ่ายอุจจาระเหลวบ่อย
-ปวดหัว
-คอแห้งกระหายน้ำ
-อ่อนเพลีย อาจเป็นไข้ร่วมด้วย
10เมนูฤดูร้อน เสี่ยงอาหารเป็นพิษ ที่ควรเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ 1.ลาบ ก้อยดิบ จ่อม 2.อาหารทะเล 3.อาหารประเภทยำ 4.ข้าวผัดโรยเนื้อปู 5.อาหารหรือขนมที่มีส่วนประกอบของกะทิสด 6.ขนมจีน 7.ข้าวมันไก่ 8.ส้มตำ 9.สลัดผัก 10.น้ำแข็งที่ไม่สะอาด หรือผลิตไม่ได้มาตรฐาน
ซึ่งเมนูอาหารเหล่านี้ ควรรับประทานได้เฉพาะที่ปรุงสุกใหม่ๆ ขอให้หลีกเลี่ยงการปรุงโดยวิธีลวกหรือพล่าสุกๆดิบๆ นอกจากนี้อาหารกล่องควรแยกกับข้าวออกจากข้าว และควรรรับประทานภายใน 2-4 ชั่วโมง หลังปรุงเสร็จ และหากมีกลิ่นผิดปกติไม่ควรรับประทาน อย่าเสียดาย
ดังนั้นวิธีป้องกันโรคอาหารเป็นพิษ ขอให้ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” ในการรักษาเบื้องต้น ให้จิบน้ำผสมสารละลายเกลือแร่ (ORS) บ่อยๆ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ หากอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบพบแพทย์
เผยแพร่: 3 มิ.ย. 256…
This website uses cookies.