ศาลกีฬาโลก ให้ความเป็นธรรมสมาคมกีฬายกน้ำหนักฯ โดยนักกีฬาระดับยุวชน สามารถกลับไปแข่งขันรายการระดับนานาชาติของสหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติ ได้แล้ว ส่วนประเภทเยาวชน และประชาชน กลับไปเข้าร่วมได้ หลังจากวันที่ 18 มิถุนายน 2564 แต่ถ้าหากต้องการกลับไปแข่งขันทันที สมาคมฯ จะต้องชำระเงิน 200,000 ดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 6,400,000 บาท ให้ไอดับบลิวเอฟ โดยยังไม่สามารถเข้าร่วมในกีฬาโอลิมปิก โตเกียว ได้ ขณะที่ผู้ตัดสินหรือกรรมการตัดสินนานาชาติของไทย สามารถกลับไปปฏิบัติหน้าที่ได้ทันที โดยไม่มีเงื่อนไข
ตามที่ สมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินการ ทำเรื่องอุทธรณ์ เพื่อขอความเป็นธรรมให้กับนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ยกน้ำหนักไทย ต่อศาลกีฬาโลก ณ เมืองโลซานน์ สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2563 ตามคดีเลขที่ CAS 2020/A/6981 นั้น
นายนิพนธ์ ลิ่มบุญสืบสาย ประธานคณะทำงานกฎหมายระหว่างประเทศ ของสมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ได้รายงานถึงผลแห่งคดีอันเป็นคำตัดสินที่ถือได้ว่าเป็นที่ยุติแล้ว จากคณะอนุญาโตตุลาการของศาลกีฬาโลก หรือ CAS ระหว่าง ผู้อุทธรณ์ คือ สมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย กับ สหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติ หรือไอดับลิวเอฟ โดยเป็นเอกสารจำนวนถึง 52 หน้า ลงวันที่ 8 เมษายน 2564 (ตามวัน/เวลาท้องถิ่น) โดยภาพรวม เป็นไปตามเป้าประสงค์หลักของสมาคมฯ ในการต่อสู้เพื่อขอความเป็นธรรมให้กับบุคคลากรของกีฬายกน้ำหนัก เป็นสำคัญ โดยสามารถแบ่งได้เป็น 3 ภาคส่วนหลัก
ส่วนที่ 1 นักกีฬายกน้ำหนักระดับยุวชน สามารถกลับเข้าไปแข่งขันในรายการระดับนานาชาติของไอดับบลิวเอฟ ได้แล้ว เพราะโทษห้ามเข้าร่วมการแข่งขัน หมดไปตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2563 สำหรับนักกีฬายกน้ำหนักในระดับนอกเหนือข้างต้น คือ เยาวชน และประชาชน สามารถกลับเข้าไปร่วมการแข่งขันได้ หลังจากวันที่ 18 มิถุนายน 2564 แต่ถ้าหาก ต้องการกลับเข้าไปแข่งขันนานาชาติของไอดับบลิวเอฟในทันทีนั้น ทางสมาคมฯ จะต้องชำระเงิน 200,000 ดอลลาร์สหรัฐห รือประมาณ 6,400,000 บาทให้ไอดับบลิวเอฟ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น นักกีฬายกน้ำหนักทีมชาติไทย ไม่สามารถเข้าร่วมในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกส์เกมส์ ณ กรุงโตเกียว ได้
ส่วนที่ 2 เจ้าหน้าที่ทางเทคนิค ที่จะไปเป็นผู้ตัดสินหรือกรรมการตัดสินนานาชาติ สามารถกลับไปปฏิบัติหน้าที่ได้ในทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข
และสุดท้าย ส่วนที่ 3 สำหรับสมาคมฯ เอง จะถูกจำกัดสิทธิ์ในการดำเนินการกิจกรรมต่าง ๆ จนถึงวันที่ 1 เมษายน 2566 โดยไม่มีสิทธิในจัดการแข่งขัน จัดประชุมคองเกรส จัดประชุมกรรมการบริหาร จัดประชุมกรรมาธิการและกรรมการชุดอื่นใดได้ ไม่มีสิทธิในการเข้าร่วมประชุมคองเกรส หมายรวมถึงการออกเสียง ไม่มีสิทธิในการยื่นหรือเสนอญัตติ และวาระต่าง ๆในการประชุมคองเกรส และไม่มีสิทธิเข้าร่วมและรับสิทธิประโยชน์จาก IWF Development Program ยกเว้น การศึกษากับเข้าอบรมในเรื่องการต่อต้านการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา
อย่างไรก็ตาม คำตัดสินของศาลกีฬาโลก ได้เปิดช่องให้ระยะเวลาการถูกจำกัดสิทธิ์ของสมาคมฯ นั้น สามารถกระชับหรือย่อขึ้นมาได้ประมาณ 1 ปี โดยให้ไปสิ้นสุดได้ในวันที่ 7 มีนาคม 2565 (จากวันที่ 1 เมษายน 2566) ได้ เพียงสมาคมฯ ชำระเงิน 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 6,400,00 บาท พร้อมกันนี้ สมาคมฯ จะต้องแสดงถึงเจตนารมณ์พร้อมหลักฐานเชิงประจักษ์ของการปฏิบัติที่เป็นจริงในการต่อต้านการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬาที่สอดคล้องเป็นไปตามประมวลมาตรฐานของ องค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก หรือ WADAโดยให้กับชุดคณะทำงานของไอดับบลิวเอฟ ซึ่งมีองค์ประกอบเป็นกรรมการอิสระจากภายนอก Independent Monitoring Group (IMG) มาติดตามผลการปฏิบัติงานของสมาคมฯ
“โดยสรุปแล้ว ผมคิดว่าสมาคมฯ ได้บรรลุการทำงานในระดับยุทธศาสตร์ อันมีเป้าหมายคำนึงถึงบุคคลกรทางการกีฬายกน้ำหนัก ซึ่งได้แก่ นักกีฬายกน้ำหนัก กับเจ้าหน้าที่เทคนิคของสมาคมฯ เป็นศูนย์กลางหรือเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญ ซึ่งเห็นได้จาก คำตัดสินแสดงถึงความเมตตาจากท่านในองค์คณะอนุญาโตตุลากรของศาลกีฬาโลกในคดีนี้ โดยทางเราน้อมรับและเคารพในการตัดสินทุกประการ นอกจากนี้แล้ว สมาคมฯ ก็ได้มีหลายสิ่งอย่างที่พวกเราจำเป็นต้องถอดเป็นบทเรียน เพื่อจะได้ป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นกับสมาคมฯ ซ้ำอีก สมาคมฯ กำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่การเป็นองค์กรกีฬาอัจฉริยะ โดยมีบุคลากรอันทรงคุณค่าระดับสากล ในการขับเคลื่อนเสมือนเฟืองหนึ่งที่สำคัญในการสร้างพลังอำนาจทางกีฬาให้กับประเทศไทยในอนาคตอันใกล้นี้” นายนิพนธ์ กล่าว
นอกจากนี้ ประธานคณะทำงานกฎหมายระหว่างประเทศ ของสมาคมกีฬา ยกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ได้กล่าวในท้ายด้วยว่า กราบขอบพระคุณ พลตรีอินทรัตน์ ยอดบางเตย ประธานที่ปรึกษา, นางบุษบา ยอดบางเตย อดีตนายกสมาคมฯ และ นายปรัชญา กีรตินันท์ นายกสมาคมฯ และ กรรมการบริหารสมาคมฯ ทุกท่าน รวมถึงพี่น้องประชาชนคนไทย ที่ได้ให้คำแนะนำและกำลังใจมาโดยตลอดถึงคณะทำงานของเราทั้งทางตรงและทางอ้อมในการต่อสู้เพื่อขอความเป็นธรรม และทวงสิทธิโดยชอบ คืนกลับให้กับ ลูก ๆ หลาน ๆ นักกีฬายกน้ำหนักทีมชาติไทยทุกคน
เผยแพร่: 3 มิ.ย. 256…
This website uses cookies.