จากกรณีที่องค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก หรือ วาดา มีคำสั่งแบนประเทศไทยและอินโดนีเซียเป็นเวลา 1 ปี ห้ามใช้ธงชาติและห้ามเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ เนื่องจากปัญหาเรื่องข้อกฎหมายการใช้สารต้องห้าม โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2021
อย่างไรก็ตามล่าสุดประเทศไทย ได้พยายามแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการปรับแก้กฎหมายให้เป็นที่พอใจของ วาดา ด้วยการให้หน่วยงานที่เป็นอิสระจากภาครัฐมีหน้าที่ในการตรวจสอบ
โดยมีการประกาศผ่านราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ ควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ. 2555 พ.ศ. 2564 เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2564 โดย พ.ร.ก. ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป
ทว่าก่อนหน้านี้มีสื่อบางสำนักนำเสนอข่าวเรื่อง วาดา อาจไม่พอใจในการแก้กฎหมายของไทย ในเรื่องการควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา โดยเฉพาะในกรณีการเข้าตรวจหาสารต้องห้ามในเวลากลางคืน และการแยกองค์กรควบคุมการใช้สารต้องห้ามออกเป็นองค์กรที่เป็นอิสระจากการกีฬาแห่งประเทศไทย
ซึ่งล่าสุด ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ กกท. เปิดเผยว่า “การกีฬาแห่งประเทศไทย ได้มีการติดต่อประสานงานกับวาดามาโดยตลอด และได้รับการยืนยันจากวาดาแล้วว่าการแก้กฎหมายในเรื่องของการตรวจหาสารต้องห้ามได้ในทุกที่ทุกเวลา มีความสอดคล้องกับประมวลกฎการต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลกแล้ว และการดำเนินการตรวจหาสารต้องห้ามทางการกีฬา สามารถดำเนินการได้โดยไม่ขัดกับกฎหมายใดๆ ซึ่งเป็นการยืนยันก่อนที่จะนำร่างกฎหมายฉบับแก้ไขนี้ เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ส่วนนักกีฬาที่ต้องทำการส่ง athlete whereabouts ซึ่งเป็นเพียงนักกีฬาจำนวนน้อย จะมีการลงนามรับทราบและตกลงที่จะปฏิบัติตามข้อกำหนดนี้ทุกคนอยู่แล้ว จึงไม่ควรจะเป็นประเด็นที่วาดายังมีข้อกังวลอีกต่อไป อนึ่ง วาดาไม่ได้มีหน้าที่ในการตรวจหาสารต้องห้ามในนักกีฬา แต่มีหน้าที่กำกับให้การตรวจ ซึ่งกระทำโดยองค์กรต่อต้านสารต้องห้ามระดับนานาชาติ เช่น สหพันธ์กีฬานานาชาติ และระดับชาติ เป็นไปในมาตรฐานเดียวกัน
ผู้ว่าการ กกท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนความเป็นอิสระขององค์กรต่อต้านสารต้องห้ามระดับชาติ วาดาได้มีการออกแนวทางปฏิบัติไว้อย่างชัดเจน ว่าเป็นความอิสระในด้านการดำเนินการ มิใช่ทางด้านโครงสร้าง https://www.wada-ama.org/…/guide-for-the-operational… กล่าวคือ การตรวจหาสารต้องห้าม การพิจารณาโทษ การอนุญาตให้ใช้สารต้องห้ามในการรักษา และการให้ความรู้เรื่องสารต้องห้ามทางการกีฬา ต้องไม่มีการแทรกแซงจากองค์กรทางด้านกีฬาอื่นและรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมา วาดาได้ทำการตรวจสอบเรื่องนี้มาโดยตลอด และยังไม่ได้ให้มีการแก้ไขโครงสร้างแต่อย่างใด ส่วนในด้านการดำเนินการ สำนักงานควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย ได้มีการดำเนินการแก้ไขให้เป็นไปตามข้อกำหนดของวาดาเป็นที่เรียบร้อยไปก่อนหน้านี้แล้ว ทำให้คำถามเรื่องความเป็นอิสระในการดำเนินการควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬาของประเทศไทย ไม่ได้เป็นเงื่อนไขในการที่ประเทศไทยจะได้รับสิทธิทางการกีฬาคืนมาในครั้งนี้แต่อย่างใด
เผยแพร่: 3 มิ.ย. 256…
This website uses cookies.