คอลัมน์ EYE ON SPORTS โดย กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน
ฟุตบอลชิงแช้มพ์แห่งชาติยุโรป ครั้งที่ 16 (UEFA Euro 2020) กำลังจะเริ่มขึ้นใน 11 เมือง 11 ประเทศ ระหว่างวันที่ 11 มิถุนายน – 11 กรกฎาคมนี้ ผมจะพามารู้จักทั้ง 24 ทีมกัน โดยเฉพาะเรื่องของฉายาของพวกเขาและความสำเร็จที่ผ่านมาด้วย วันนี้ เริ่มที่ 3 กลุ่มแรกก่อน
กลุ่ม A อิตาลี (Italia) มีฉายา ลา นาซิโอนาเล (la Nazionale) แปลว่า ทีมชาติ หรือ ยี อั๊ดซูรี (Gli Azzurri) สีฟ้าอ่อน เข้าร่วมแข่งเป็นหนที่ 10 โดยเฉพาะ 7 หนหลังนี้ได้หลุดเข้ามาตลอดนับตั้งแต่ปี 1996 เคยได้แช้มพ์ครั้งเดียวในปี 1968 รองแช้มพ์อีก 2 หน ในปี 2000 และ 2012 สวิส (Suisse) เข้าร่วมแข่งเป็นครั้งที่ 5 ไปไกลสุดแค่รอบ 16 ทีมเมื่อปี 2016 เดาะใช้ฉายา เอ-ทีม (A-Team) เปรียบเป็นทีมชั้นแนวหน้าเชียว อีกฉายาคือ ร้อสโซ่โครชีอาตี (Rossocrociati) คือ กากบาทแดง แบบกาชาด (Red Cross) นั่นไง ซึ่งความจริงสีของมันสลับกลับกัน แล้วดันใช้บ่อยซะด้วย อีกฉายาแบบพื้นๆก็คือ ลา นาตี (La Nati) ซึ่งย่อมาจาก นาซิโอนาลมันชัฟท์ (Nationalmannschaft) ก็คือ ทีมชาติ นั่นเอง ตุรกี (Türkiye) มีฉายา ไอ-ยิลดิซลิลา (Ay-Yıldızlılar) คือ ดาวกับจันทร์เสี้ยว ชาวเติ๊ร์คใช้รูปดาวกับจันทร์เสี้ยวหรือรูปดวงอาทิตย์กับจันทร์เสี้ยวเป็นสัญลักษณ์ของขั้วตรงข้ามเหมือนกับ หยิน-หยาง ของชาวจีน โดยดาวหรือพระอาทิตย์คือผู้หญิง และจันทร์เสี้ยวคือผู้ชาย เข้าร่วมแข่งครั้งนี้เป็นหนที่ 5 เคยได้อันดับ 3 ในปี 2008 เวลส์ (Wales) หรือ คัมรี (Cymru) เจ้าของฉายา เอ๊อ ไดรกา (Y Dreigiau) ก็คือ The Dragons หรือ มังกร นั่นเอง เพิ่งเข้ามาหนที่ 2 เอง หนแรกคือคราวที่แล้วทำเซอร์พร้ายฃ์คว้าอันดับ 3 ซะงั้น
กลุ่ม B เบ็ลเจี้ยม (Belgique/België) ฉายา เล ดิอั๊บเบลอะ รู้ช (Les Diables Rouges) ก็คือ ปิศาจแดง (The Red Devils) นั่นแหละ ฉายานี้ได้มาจาก พิแอร วัลกิเอ (Pierre Walckiers) คอลัมนิสท์กีฬาเขียนในคอลัมน์ ลา วี สปอรตี๊ฟ (La Vie sportive) หลังจาก เบ็ลเจี้ยม สวมชุดสีแดงถล่ม เนเธ่อร์แลนด์ส เละเทะ 5-0 ในปี 1905 ร่วมแข่งเป็นหนที่ 6 เคยทำได้ดีที่สุดก็ในปี 1980 ได้รองแช้มพ์ เด็นมาร์ค หรือ ดานม้าร์ค (Danmark) ฉายา เดอ เริ๊ด วี๊ด (De rød-hvide) แปลว่า แดงขาว (The Red and White) หรืออีกฉายาคือ ระเบิดเด็น (Danish Dynamite) ร่วมแข่งเป็นหนที่ 9 ทำเซอร์พร้ายซ์สุดๆในปี 1992 ตอนนั้นเป็นมวยแทน ยูโกสลาเวีย ที่มีปัญหาสงครามกลางเมืองแบ่งแยกประเทศ แล้วดันคว้าแช้มพ์เฉยเลย ฟินแลนด์ (Finland/Suomi) มีฉายา นกเค้าใหญ่ หรือ นกเค้าหงอน (Huuhkajat) หรือ (The Eagle-owls) ซึ่งความจริงในทวีปยุโรปไม่ค่อยมีใครใช้สัตว์เป็นฉายานัก เพียรพยายามในรอบคัดเลือกมาตั้งแต่ปี 1968 แต่ไม่เคยได้เข้ารอบสุดท้ายสักที นี่เป็นหนแรกจริงๆ รัสเซีย (Россия/Rossiya) ใช้ฉายา สบอรนา (Сборная) ซึ่งก็คือ The National Team หรือ ทีมชาติ นั่นเอง ตอนที่ยังเป็น สหภาพ โซเวียต คว้าแช้มพ์ได้ตั้งแต่ ยูโร หนแรก ในปี 1960 เป็นรองแช้มพ์ถึง 3 ครั้ง ในปี 1964 1972 และ 1988 นี่เข้าร่วมเป็นหนที่ 12 แล้ว
กลุ่ม C อ๊อสเตรีย หรือ เอิ๊สเตอไร้ช์ (Austria/Österreich) ฉายา ด๊าส ทีม (Das Team) หรือ The Team ในภาษาอังกฤษ บัวร์เชิ่น (Burschen) หรือ The Boys รวมทั้ง อุนเซอเรอ บัวร์เชิ่น (Unsere Burschen) คือ Our Boys แต่บางคนก็เรียก ดี โร้ต ไว้ส์ โร๊เทิ่น (die Rot-Weiss-Roten) คือ แดงขาวแดง ตามสีธงชาติ ตกรอบคัดเลือกมาตลอดตั้งแต่ปี 1960 เคยได้เข้ารอบสุดท้ายแค่ 2 หนเท่านั้นในปี 2008 และ 2016 แล้วก็มาร่วงแค่รอบแรก ไม่เคยชนะแม้แต่เกมเดียว เนเธ่อร์แลนด์ส (Netherlands/Nederland) ฉายา โฮลันด์ (Holland) ซึ่งความจริงคำนี้มาจากชื่อจังหวัดทางชายฝั่งตะวันตกที่คนอื่นๆนอกจังหวัดรู้สึกไม่พอใจหรอกที่จะเอามาเรียกทั้งประเทศ ฉายา ออรั้นเยอ (Oranje) สีส้ม ดูจะดีกว่า เป็นทั้งชื่อราชวงศ์และสีประจำชาติด้วย และยังมีฉายา เดอะ ฟลายอิ้ง ดัทช์เม็น (The Flying Dutchmen) จากตำนานเรือผีสิงที่ต้องคำสาปให้เดินทางในมหาสมุทรชั่วกัลปาวสานอีกด้วย ร่วมแข่งเป็นหนที่ 10 เคยคว้าแช้มพ์ในปี 1988 นอกนั้นครองอันดับ 3 ในปี 1976 1992 2000 และ 2004 อูคราอีนา (Україна) หรือ ยูเครน (Ukraine) ฉายาพื้นๆคือ ซบีรนา (Zbirna) แปลว่า ทีมชาติ และนิยมใช้อีกฉายาคือ โชโต-ซีนี (Жовто-Сині) หรือ เหลืองฟ้า (The Yellow and Blue) ตามสีธงชาติ ตั้งแต่แยกตัวจาก สหภาพโซเวียต เคยร่วมแข่ง 2 หน ตกรอบแรกหมด นอร์ท มาเซโดเนีย (North Macedonia) ฉายาของเขา บางทีก็เป็น เสือ (Рисови/Risovi) คือ Lynxes บางทีก็เรียก สิงโต (Лавови/Lavovi) หลังจากแยกจาก ยูโกสลาเวีย ก็ได้มาร่วมหนแรกซิงๆเลยครับ
เผยแพร่: 3 มิ.ย. 256…
This website uses cookies.