Thailand Sport Magazine Sponsored

ฟุตบอลแห่งอนาคต / กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน

Thailand Sport Magazine Sponsored
Thailand Sport Magazine Sponsored

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   


คอลัมน์ EYE ON SPORTS โดย กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน

ในเกมฟุตบอลนั้น เราอาจลืมไปว่า ไม่เพียงแต่ผู้รักษาประตูเท่านั้น นักเตะคนอื่นๆก็ใช้มือเล่นกันได้ทั้งนั้น อย่างน้อยก็ตอนทุ่มบอลไง หลายคนอุตส่าห์คิดค้นหาวิธีที่จะทุ่มบอล (Throw-in) ให้ได้ระยะไกล เพราะถ้าทุ่มไปถึงหน้าประตู มันมีโอกาสทำประตูได้เลย แต่ถ้ากำลังแขนไม่ดีจริงๆก็คงไม่ได้ระยะขนาดนั้น บางคนคิดท่าทุ่มแบบตีลังกาซะ 1 รอบก่อน เรียกว่า ฟลิพ ธโรว (Flip throw) ซึ่งจะทำให้ได้แรงเหวี่ยงมากขึ้น ในขณะที่บางคนแอบตบตาผู้ตัดสินโดยการใช้แรงจากแขนข้างเดียว มันจะทำให้ทุ่มไปได้ไกลกว่าการใช้ 2 แขน แต่ผิดกติกา อย่างไรก็ตาม ต่อไปนี้ การทุ่ม อาจหายไปจากเกมฟุตบอล เพราะเขากำลังคิดใช้วิธี เตะเข้าสนาม (kick-in) แทน คราวนี้ก็จะเหลือเพียงผู้รักษาประตูเท่านั้นที่ใช้มือได้คนเดียวจริงๆ

คณะกรรมการฟุตบอลสากล (International Football Association Board – IFAB) ที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1886 สมาชิกประกอบด้วย อังกฤษ สก๊อทแลนด์ เวลส์ และ อายร์แลนด์เหนือ รวม 4 ชาติ มีเสียง 50% และจาก สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (Fédération Internationale de Football Association – FIFA) อีก 50% เป็นผู้คุ้มกฎ กติกา ที่เรียกว่า ลอว์ส อ๊อฟ เดอะ เกม (Laws of the Game) และคอยปรับปรุงให้เหมาะสมกับยุคสมัย เพิ่งประชุมกันที่ กรุงโดฮา (Doha) กาตาร (Qatar) เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยมีประเด็นสำคัญคือเรื่องการนำลูกบอลที่ออกนอกสนามกลับเข้าสู่เกม การจับล้ำหน้าด้วยอุปกรณ์แทนคน และจำนวนการเปลี่ยนตัวผู้เล่น

การทุ่มนั้นใช้บังคับในเกมฟุตบอลมาตั้งแต่ปี 1863 โดยในอดีตเคยมีการเสนอให้ใช้การเตะเข้าสู่สนามเหมือนกันแต่ไม่เป็นที่ยอมรับ กติกาการทุ่มที่ปรับปรุงล่าสุดนั้นอยู่ในข้อ 15 กำหนดว่า ใครทำบอลออกนอกสนามก็ให้อีกฝ่ายได้ทุ่ม แต่จะทุ่มเข้าประตูไปเลยไม่ได้ ต้องสัมผัสนักเตะก่อน ถ้าดันทุ่มเข้าประตูก็ให้ฝ่ายเสียทุ่มเอาบอลมาตั้งเตะจากประตู แต่ถ้าทุ่มเข้าประตูตนเอง อันนี้เสียลูกเตะมุมครับ

คนทุ่มบอลต้องยืนหันหน้าเข้าสู่สนาม เท้าทั้ง 2 ข้างเหยียบบนเส้นขอบสนามหรืออยู่ภายนอกสนามไปเลย ต้องใช้ทั้ง 2 มือทุ่มบอลจากด้านหลังและเหนือศีรษะตรงจุดที่ลูกบอลออกนอกสนาม แล้วต้องให้บอลไปสัมผัสคนอื่นก่อนที่ผู้ทุ่มจะมีสิทธิ์สัมผัสบอล ที่สำคัญ ฝ่ายตรงข้ามต้องยืนห่างจากเส้นขอบสนาม 2 เมตร หรือ 2 หลา ไม่ใช่ 10 หลาเหมือนการเตะฟรีคิค ตรงนี้ไง มันถึงได้มีการทุ่มใส่หน้าฝ่ายตรงข้ามอยู่บ่อยๆ แต่การทุ่มใส่คู่แข่งโดยเจตนาเพื่อที่ตนจะได้เล่นในจังหวะที่บอลกระดอนมานั้น ถ้าไม่อัดซะเต็มแรง ผู้ตัดสินก็จะอนุญาตให้เล่นได้เลย ในกรณีที่มีการทุ่มผิดกติกาก็จะถูกเปลี่ยนให้อีกฝ่ายได้ทุ่มแทน

อารแซน เว็งเกอร (Arsène Wenger) อดีตโค้ชของ อาร์เซน็อล (Arsenal) ซึ่งในปัจจุบันเป็น หัวหน้าฝ่ายพัฒนาฟุตบอลของ ฟีฟ่า เป็นตัวตั้งตัวตีในการเปลี่ยนเป็น คิค-อิน เพื่อให้เกิมเดินไปอย่างต่อเนื่องรวดเร็วไม่เสียเวลาไปเปล่าๆ เขาอ้างว่าเรื่องนี้มีการคำนวณค่าเฉลี่ยระยะเวลาที่ได้เล่นบอลจริงๆจากเกมใน เพรอมิเอ ลีก (Premier League) ฤดูกาล 2021-22 นั้น ใน 90 นาที ได้เล่นจริงๆเพียง 55 นาที 3 วินาที เท่านั้น นอกนั้นเสียเวลาไปกับลูกออกและการเตะฟรีคิค

อย่างไรก็ตาม หากเปลี่ยนจากการทุ่มเข้าสนามเป็นการเตะเข้าสนามแทนจริงๆ คำถามก็ต้องเกิดขึ้นว่า แล้วจะให้ฝ่ายตรงข้ามยืนห่างจากเส้นขอบสนามเท่าใดแน่ 2 หลาเหมือนการทุ่มหรือเปลี่ยนเป็น 10 หลาอย่างการเตะฟรีคิคทั่วๆไป อันนี้น่าจะ 10 หลาใช่มั้ยครับ และการ คิค-อิน จะเตะเข้าประตูไปเลยได้หรือไม่ ซึ่งก็จะคล้ายกับลูกเตะมุม (Corner Kick) หรือจะต้องให้สัมผัสใครจังหวะหนึ่งเสียก่อน ทั้งนี้ คงมีการทดลองการเล่น Kick-in เสียก่อนจึงจะนำมาใช้จริง

การประชุมของ IFAB ที่ผ่านมาได้พูดถึงการนำเครื่องตรวจจับลูกบอลมาใช้จับการล้ำหน้า (Offside) ด้วย โดยสามารถแสดงผลได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่วินาที เขากำลังทดลองใช้งาน ซึ่งถ้าเป็นผลสำเร็จก็จะทำให้เกมฟุตบอลเป็นไปอย่างถูกต้องเป็นธรรมยิ่งขึ้น นอกจากนั้น การเปลี่ยนตัวผู้เล่นได้ 5 คนที่ถูกนำมาใช้ด้วยเหตุการแพร่ระบาดของ โควิด-19 (COVID-19) ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2020 นั้นก็จะถูกนำมาใช้ต่อไปในฤดูกาล 2022-23 ที่สำคัญ กรณีบาดเจ็บที่ศีรษะสามารถเพิ่มโควต้าเปลี่ยนตัวผู้เล่นได้อีก 1 คนนั้น เขายังให้ทดลองใช้ต่อไปอีกถึงเดือนสิงหาคม 2023 ดังนั้น ต่อไปนี้ในใบรายชื่อนักเตะคงต้องใส่สำรองเข้าไปถึง 15 คน ไม่ใช่แค่ 12 คนซะแล้วครับ

Thailand Sport Magazine Sponsored
ผู้สื่อข่าว กีฬา

ข่าวกีฬา นักกีฬา กีฬา ในร่ม indoor outdoor ต้องทำ sport ให้เป็น กีฬา หลักของประเทศ ดูข้อมูล กอล์ฟ บาสเก็ตบอล ฟุตบอล ว่ายน้ำ วอลเล่ย์บอล มวย แข่งรถ แบดมินตัน และ อีสปอร์ต Dedicated to all sport news from Thailand, with news updates, stories and event reports on many different types of sporting activities that the Thailand currently holds, across all of the asia.

This website uses cookies.