คอลัมน์ Buzzer Beat โดย MVP
นับเป็นข่าวเศร้าของวงการ บาสเกตบอล เอ็นบีเอ (NBA) อีกครั้งหนึ่ง บิลล์ รัสเซลล์ ตำนาน บอสตัน เซลติกส์ เสียชีวิตด้วยวัย 88 ปี ท่ามกลางบุคคลใกล้ชิด เมื่อวันอาทิตย์ที่ 31 กรกฎาคม ตามเวลาท้องถิ่น สหรัฐอเมริกา หลังเผชิญอาการป่วยที่ติดตัวมายาวนาน นอกเหนือจากความยิ่งใหญ่ของเขาบนสนาม 1950-1960 เขายังเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนคนหนึ่งเช่นกัน
รัสเซลล์ ได้รับการยกย่องเป็นซูเปอร์สตาร์ผู้ทรงอิทธิพล คนหนึ่งของลีก คล้ายๆ กับ ไมเคิล จอร์แดน ซึ่งโด่งดังสุดขีด ยุค 1990 ตามด้วย โคบี ไบรอันท์ และ เลอบรอน เจมส์ ในยุค 2000 ด้วยสถิติเข้ารอบชิงชนะเลิศ NBA 8 สมัยติดต่อกัน คว้าแชมป์ 11 สมัย ตลอดระยะเวลา 13 ซีซัน ที่บอสตัน และจารึกประวัติศาสตร์ ในฐานะโค้ชเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกันคนแรก และเป็น 1 ใน 5 ขุนพลผิวสีตัวจริงชุดแรกของ NBA
จุดเริ่มต้นของการเรียกร้องความเท่าเทียมเกิดขึ้น วันที่ 17 ตุลาคม 1961 ผู้เล่น เซลติกส์ 5 คน และ เซนต์ หลุยส์ ฮอว์กส 2 คน ถอนตัวจากการแข่งขันเกมอุ่นเครื่อง ที่เมืองเล็กซิงตัน รัฐเคนตัคกี เพื่อส่งสัญญาณต่อต้านเหยียดผิว หลัง แซม โจนส์ กับ แซตช์ แซนเดอร์ส (เซลติกส์ ทั้งหมด) แวะ คอฟฟี ช็อป แห่งหนึ่ง แล้วโดนพนักงานเสิร์ฟหญิงบอกว่า “ฉันเสียใจ แต่เราไม่ให้บริการ นิโกร” และต่อมาคลีโอ ฮิลล์ ผู้เล่น ฮอว์กส ก็โดนปฏิเสธเช่นกัน
2 ผู้เล่น เซลติกส์ จึงนำเรื่องไปบอก รัสเซลล์ ทำให้ เค.ซี. โตนส์ , แอล บัตเลอร์ เพื่อนร่วมทีม และ วูดดี็ เซาล์ดสเบอร์รี กับ ฮิลล์ ประท้วงด้วยการเดินทางออกจากรัฐเคนตัคกี ถึงแม้ เรด ออเออร์แบ็ค เฮดโค้ช บอสตัน พยายามเกลี้ยกล่อมให้ลูกทีมอยู่ต่อ แต่สุดท้ายก็รั้งไม่อยู่ แถมขับรถไปส่งที่สนามบิน เมื่อ รัสเซลล์ กลับถึงเมืองบอสตัน เขาได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน “นิโกร ต้องสู้เพื่อสิทธิของตัวเอง การต่อสู้ใดๆ เพื่อความอยู่รอดในการเปลี่ยนแปลงของโลก ผมจะเคียงข้าง นิโกร เหล่านี้”
ปี 1963 เจ้าของรางวัล MVP 5 สมัย เข้าร่วมการเดินขบวนของ ดร. มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ นักต่อสู้เพื่อพลเมืองแอฟริกัน-อเมริกัน ภายใต้แคมเปญ “The March to Washington for Jobs and Freedom” ในช่วงพีกของอาชีพ และต่อต้านการแบ่งแยกสีผิว ภายในโรงเรียนประจำเมืองบอสตัน
ถัดมา 4 ปี รัสเซลล์ จับมือนักกีฬาระดับตำนาน จิม บราวน์ รันนิงแบ็ก คลีฟแลนด์ บราวน์ส และ คารีม อับดุล-จับบาร์ เซ็นเตอร์เจ้าของท่าชู้ต “สกาย ฮุก” สมัยยังใช้ชื่อว่า ลูว์ อัลซินดอร์ ที่เมืองคลีฟแลนด์ เพื่อสนับสนุน มูฮัมหมัด อาลี หรือชื่อเดิม แคสเซียส เคลย์ ตำนานมวยรุ่นยักษ์ กรณีปฏิเสธถูกเกณฑ์ทหาร เข้าร่วมสงครามเวียดนาม โดยเขียนบรรยายความรู้สึกอิจฉา อาลี “เขามีศรัทธาอันแน่วแน่และจริงใจ ผมไม่ได้กังวลเกี่ยวกับ มูฮัมหมัด อาลี เขาเป็นคนที่เพียบพร้อมกว่าคนอื่นๆ ผมรู้ถึงการทนต่อการสอบสวนอันยาวนานที่รอเขาอยู่ สิ่งที่ผมกังวลคือชีวิตพวกเราที่เหลืออยู่”
บุคลิกตรงไปตรงมา และการเรียกร้องความเป็นธรรมของ รัสเซลล์ ขยายผลมาถึงหอเกียรติยศของกีฬาบาสเกตบอล เขาปฏิเสธบรรจุชื่อเข้า ฮอลล์ ออฟ เฟม เมื่อปี 1975 ในฐานะผู้เล่น ด้วยความเชื่อส่วนตัวว่า ยังมีนักบาสเกตบอลผิวสีหลายคนถูกมองข้าม และมีแนวคิดเหยียดผิวในการคัดเลือก กระทั่งปี 2019 ซึ่งตรงกับปีที่ ชัค คูเปอร์ ผู้เล่นผิวสีคนแรกที่ถูกดราฟต์ ปี 1950 ได้รับเกียรติบรรจุเข้าหอเกียรติยศ
รัสเซลล์ เข้าหอเกียรติยศครั้งที่ 2 ปี 2021 ในฐานะโค้ชผิวสีคนแรกของลีก พา เซลติกส์ คว้าแชมป์ 2 สมัย ปี 1968 กับ 1969 แล้วย้ายมาคุม ซีแอตเทิล ซูเปอร์โซนิคส์ ปี 1973-1977และ ซาคราเมนโต คิงส์ ปี 1987-88 สถิติรวม ชนะ 341 แพ้ 290 (คิดเป็น 54 เปอร์เซ็นต์) ทว่าด้วยสถานการณ์ โควิด-19 และปัญหาสุขภาพ ทำให้เขาไม่ได้มาร่วมกิจกรรมของหอเกียรติยศ
ความยิ่งใหญ่ของ รัสเซลล์ ซึ่งปรากฏตัวครั้งสุดท้าย ในงาน Hoops Hall 2021 ที่สปริงฟิลด์ ทั้งในและนอกสนาม ไม่ว่าจะเป็นการคว้าแชมป์ NBA 11 สมัย, MVP 5 สมัย และการเรียกร้องความเท่าเทียมแก่คนผิวสี ส่งผลให้เขาได้รับเกียรติสร้างรูปปั้นไว้ที่ ซิตี ฮอลล์ พลาซา (หากตีความหมายเป็นไทย เทียบได้ศูนย์ราชการจังหวัด) เมื่อปี 2013
ถึงแม้คนรุ่นผมไม่มีโอกาสได้เห็นฝีมือ หรือสัมผัสถึงความยิ่งใหญ่ของ รัสเซลล์ นอกเหนือจากบนเว็บไซต์ Youtube แต่เขาน่าจะอยู่ในความทรงจำของแฟนๆ ยัดห่วงทั่วโลก เนื่องจากชื่อของเขาถูกนำมาตั้งเป็นโทรฟีผู้เล่นทรงคุณค่า (MVP) รอบชิงชนะเลิศ ตั้งแต่ปี 2009 เหมือนกับ เมาริซ โพโดลอฟฟ์ ประธานลีกคนแรก (ชื่อรางวัล MVP ฤดูกาลปกติ), แลร์รี โอ’ไบรอัน (ถ้วยแชมป์ NBA) และ โคบี ไบรอันท์ (MVP ออล-สตาร์) เพื่อให้คนรุ่นหลังเกิดความสงสัยว่า ชื่อเรียกรางวัลต่างๆ มาจากไหน
เผยแพร่: 3 มิ.ย. 256…
This website uses cookies.