Thailand Sport Magazine Sponsored

“ท็อดด์ โบห์ลี” ผู้สืบทอดหรือปลิงมะกัน? / MVP

Thailand Sport Magazine Sponsored
Thailand Sport Magazine Sponsored

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   


คอลัมน์ Buzzer Beat โดย MVP

ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ขอเรียนตามตรงว่า เป็นวันที่ผมโคตรเซ็งสุดๆ ครั้งหนึ่งของชีวิต ด้วยความผิดหวังจากการเชียร์กีฬา เริ่มตั้งแต่หัวค่ำ ฟุตบอลหญิง-ชาย พลาดเหรียญทองซีเกมส์ ด้วยความปราชัยแก่ เวียดนาม เจ้าภาพ ทั้ง 2 ชุด จนถึงเวลาเกือบๆ เที่ยงคืน ลิเวอร์พูล มีโอกาสสร้างปาฏิหาริย์คว้าแชมป์ พรีเมียร์ ลีก แต่ความหวังกลับดับสนิท เพราะ แมนเชสเตอร์ ซิตี ดันยิงคืน 3 ประตู ภายใน 5 นาที แซงชนะ แอสตัน วิลลา แบบดราม่า 3-2

ถึงกระนั้นความเคลื่อนไหวของ พรีเมียร์ ลีก ยังมีประเด็นต้องติดตามกันต่อ โดยเฉพาะแฟนๆ เชลซี เกี่ยวกับเจ้าของคนใหม่ ล่าสุดถือว่ามีจ่าวดี เนื่องจากบอร์ดบริหาร พรีเมียร์ ลีก ประกาศรับรองการเทกโอเวอร์ของ ท็อดด์ โบห์ลี นักธุรกิจชาวอเมริกัน และผู้นำของกลุ่มทุน “Clearlake” เรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงขั้นตอนสุดท้ายของการซื้อ-ขายสโมสร ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นวินาทีสุดท้ายของวันที่ 31 พฤษภาคม

หลายท่านคงสดับโปรไฟล์ของ โบห์ลี วัย 53 ปี จากสื่อต่างๆ มาแล้วว่า เขาเป็นเจ้าของร่วม แอลเอ ด็อดเจอร์ส แฟรนไชส์หนึ่งของศึกเมเจอร์ ลีก เบสบอล (MLB) ซึ่งผมไม่ทราบรายละเอียดการแข่งขันเบสบอลอาชีพ ไม่ว่าของ สหรัฐอเมริกา หรือทวีปเอเชีย สักเท่าไร จะดูก็แค่การ์ตูนมังงะอย่าง Touch และ H2 ของอาจารย์ อาดาจิ มิซึรุ เท่านั้นเอง ส่วนความเคลื่อนไหวของ ด็อดเจอร์ส ที่เด่นๆ เห็นจะเป็นประเด็น แมจิก จอห์นสัน ตำนานของ แอลเอ เลเกอร์ส เข้ามาเป็นเจ้าของแฟรนไชส์คนหนึ่ง เมื่อนานมาแล้ว

กลับมาเรื่องของ เชลซี แน่นอนว่า การเปลี่ยนแปลงเจ้าของทีม สร้างความกังวลแก่สาวก “เดอะ บลูส์” อย่างยิ่ง เนื่องจาก โรมัน อบราโมวิช มหาเศรษฐีชาวรัสเซีย จัดว่าเป็นคนบ้าบอลอย่างเห็นได้ชัด ทุ่มเงินปลุกปั้น ทีมจากย่านลอนดอนตะวันตก ประสบความสำเร็จมากมาย รวมการแข่งขันใหญ่ๆ อย่าง พรีเมียร์ ลีก 5 สมัย และ ยูฟา แชมเปียนส์ ลีก 2 สมัย นับตั้งแต่ “เสี่ยหมี” ซื้อกิจการต่อจาก เคน เบตส์ เมื่อปี 2003

ผมไม่ได้เห็นด้วยเลยกับกรณี อบราโมวิช ถูกบีบขายสโมสรจากการคว่ำบาตร หลัง รัสเซีย ก่อสงครามกับ ยูเครน แต่โลกความเป็นจริงคำว่า “กีฬาไม่ยุ่งเกี่ยวการเมือง” เป็นเพียงวลีที่ประดิษฐ์ขึ้นไว้ตอบโต้เวลาอำนาจทางการเมืองเข้ามาแทรกแซงวงการกีฬาต่างๆ ยกตัวอย่างสโมสรฟุตบอลในประเทศไทยหลายแห่ง มักจะมีนักการเมืองท้องถิ่น เข้ามาบริหารจัดการจนได้รับความนิยม แล้วก้าวสู่สนามเลือกตั้ง สมมติว่านักการเมืองคนนั้นถูกตรวจสอบพบว่า ใช้สโมสรฟุตบอลเป็นแหล่งฟอกเงินที่มาจากการทุจริต สโมสรนั้นก็จะกลายเป็นทรัพย์สินที่ถูกริบคืน แล้วรัฐบาลก็ต้องจัดการหาขายแก่ เจ้าของคนใหม่ สุดท้ายแล้ว กีฬากับการเมือง มันก็มีความเกี่ยวข้องกันจนแทบเลี่ยงไม่ได้ หรือการทำหน้าที่เจ้าภาพมหกรรมกีฬาต่างๆ ฝ่ายจัดก็ต้องขอความร่วมมือจาก รัฐบาล เพื่อให้งานลุล่วงตามเป้าหมาย

ขึ้นชื่อว่า “กลุมทุนอเมริกัน” ย่อมเป็นของแสลงของแฟนฟุตบอลอังกฤษ หากคุณพิจารณาการบริหารของ ตระกูลเกลเซอร์ ผู้เปรียบเสมือนวีรบุรุษของกองเชียร์ แทมปา เบย์ บัคคาเนียร์ส แต่สาวก “เรด เดวิลส์” ทั่วโลกขยะแขยงยิ่งกว่า ขี้กองหนึ่ง โดยเฉพาะการเลือกใช้คนทำงานที่ไม่มีความรู้ด้านฟุตบอล ดำเนินการซื้อ-ขายนักเตะ เป็นเหตุให้ผลาญเงินไปราวๆ 200-300 ล้านปอนด์ เฉพาะตำแหน่งกองหลังทั้งตัวจริงและสำรอง โดยไม่มีใครเป็นกระดูกสันหลังของทีมได้สักคน แถมยังเป็นหมูบนโต๊ะเจรจา ซื้อใครเข้ามาก็มักจะจ่ายค่าตัวเกินความจริง เมื่อมองสิ่งที่เกิดขึ้นบนสนาม

นอกจากนี้เรายังเห็นความผิดพลาดของ ตระกูลเกลเซอร์ ด้านการบริหารกิจการ “ปิศาจแดง” ไม่ต้องย้อนไปไหนไกล เอาแค่การปลด โอเล กุนนาร์ โซลชา ก็ตัดสินใจล่าช้าทั้งๆ ที่ควรจะปลดตั้งแต่แพ้ ลิเวอร์พูล คาบ้าน 0-5 แล้ว ทำให้โค้ชยอดฝีมืออย่าง อันโตนิโอ คอนเต้ ถูก ท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ ฉกตัวไปคุมทีมจนติดท็อป 4 และเปย์นักเตะเกินจริง ทำให้ผู้เล่นบางคนอยู่กินค่าจ้างไปวันๆ พอจะขายก็ขายลำบาก เพราะสโมสรอื่นสู้ค่าจ้างไม่ไหว แถมโค้ชก็ไม่ใช้งาน (เอาไว้แค่นี่ก่อน พื้นที่เริ่มไม่พอแล้ว อิอิอิ)

หันกลับมามอง เฟนเวย์ สปอร์ตส กรุ๊ป ซึ่งสาวก “เดอะ ค็อป” หลายคนมองว่า “ขี้เหนียว” เนื่องจากไม่ยอมต่อยอดความสำเร็จแข่งกับ แมนฯ ซิตี แต่สิ่งสำคัญ คือ FSG เลือกใช้คนเก่งมาทำงานอย่าง ไมเคิล เอ็ดเวิร์ดส ที่กำลังจะพ้นตำแหน่ง ดูแลงานซื้อ-ขายนักเตะ และดึงเทรนเนอร์ยอดฝีมือ เจอร์เกน คล็อปป์ โดยให้เวลาสร้างทีมกระทั่งกลับสู่ความยิ่งใหญ่ ด้วยมาตรฐานการเล่นอันสูงส่ง เก็บทะลุ 90 แต้ม 3 จาก 4 ซีซันที่ผ่านมา

ดังนั้นคำว่า กลุ่มทุนอเมริกัน ใช่ว่าจะเลวร้ายเสมอไป ขึ้นอยู่กับการเลือกคน และวิธีการบริหารจัดการ สำหรับ เชลซี จัดว่ามีพื้นฐานโครงสร้างค่อนข้างแน่น มีนักเตะที่สร้างจากอคาเดมี อาทิ เมสัน เมาน์ท, รีซ เจมส์ และ เทรวอห์ ชาโลบาห์ รวมถึง คอเนอร์ กัลลาเกอร์ มิดฟิลด์ดาวรุ่ง ที่โชว์ผลงานโดดเด่นกับ คริสตัล พาเลซ จนติด ทีมชาติอังกฤษ ตลอดจนการซื้อนักเตะ ซึ่งพวกเขาไม่ได้ซื้อนักเตะกะโหลกกะลา แต่จะเข้าระบบหรือไม่ ขึ้นอยู่กับโค้ช ดังนั้นคงไม่ใช่เรื่องยาก หาก โบห์ลี จะเข้ามาต่อยอดความสำเร็จ

หากมองแง่ลบ เรามิอาจล่วงรู้ได้ว่า โบห์ลี จะทุ่มเงินก้อนโตซื้อนักเตะเก่งๆ เหมือน อบราโมวิช หรือเปล่า, จะอนุมัติงบให้ โธมัส ตูเคิล ทำทีมแค่ไหน หรือจะโละนักเตะค่าจ้างแพงๆ ออก เพื่อรักษาเพดานหรือไม่ สิ่งเหล่านี้เราก็จะทราบก็ต่อเมื่อ เขากลายเป็นเจ้าของทีมเต็มตัว แต่บรรดาสาวก “เดอะ บลูส์” ก็ต้องไม่ลืมว่า การเข้ามาเทกโอเวอร์สโมสร มันคือธุรกิจอย่างหนึ่ง ผลกำไรคือเป้าหมายสูงสุดของนักลงทุน ดังนั้นหาก โบห์ลี มองผลกำไรมากกว่าโทรฟี จึงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ

Thailand Sport Magazine Sponsored
ผู้สื่อข่าว กีฬา

ข่าวกีฬา นักกีฬา กีฬา ในร่ม indoor outdoor ต้องทำ sport ให้เป็น กีฬา หลักของประเทศ ดูข้อมูล กอล์ฟ บาสเก็ตบอล ฟุตบอล ว่ายน้ำ วอลเล่ย์บอล มวย แข่งรถ แบดมินตัน และ อีสปอร์ต Dedicated to all sport news from Thailand, with news updates, stories and event reports on many different types of sporting activities that the Thailand currently holds, across all of the asia.

This website uses cookies.