เผยแพร่: ปรับปรุง:
คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี somsak_doctor@hotmail.com”
“เมื่อวาน เฮียไปตรวจร่างกายมา” คุณชูสง่าเล่าให้พี่หมอฟัง “คนไนอายุ 60 เค้าให้ทดสอบยืนกระต่ายขาเดียว 10 วินาที ด้วยนะ แปลกดี” “โอ้…ใช่ครับเฮีย มันสามารถบอกถึงความแข็งแรงของร่างกายได้เลยนะ…เฮียยืนได้ไหมละ?” พี่หมอถามอย่างห่วง ๆ “เกือบไม่ผ่านแน่ะ!” “เฮียต้องผ่านอยู่แล้ว” เจ้าเก่งได้โอกาสเชียร์อัพหัวหน้าก๊วน “ผ่าน 100% เพราะผมเห็นเฮียซ้อมยืนกรานกระต่ายขาเดียวกับซ้อผ่านบ่อย ๆ ..5555!…”
ทีมนักวิทยาศาสตร์ เสนอให้ใช้วิธียืนขาเดียว นานอย่างน้อย 10 วินาที เพื่อเป็นแบบทดสอบมาตรฐาน ในการตรวจวัดความแข็งแรงของร่างกาย หลังจากพบว่าผู้ที่อยู่ในวัยกลางคนและวัยชรา จะมีความเสี่ยงเสียชีวิตภายใน 10 ปีข้างหน้าเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า หากไม่สามารถทำท่าดังกล่าวได้
ทีมนักวิทยาศาสตร์จากสหรัฐ สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย ฟินแลนด์ และบราซิล ร่วมกันตีพิมพ์ผลวิจัยล่าสุดลงในวารสารเวชศาสตร์การกีฬาอังกฤษ (British Journal of Sports Medicine) หลังติดตามศึกษาชาวบราซิลผิวขาว ซึ่งมีอายุระหว่าง 51-75 ปี จำนวน 1,702 คน เป็นเวลา 12 ปีเต็ม (2008 – 2020)
แม้ผู้เข้าร่วมการวิจัยทั้งหมด จะมีสภาพของขาและเท้าปกติ ทั้งยังสามารถก้าวเดินได้อย่างมั่นคง แต่ 1 ใน 5 หรือ 21% ไม่สามารถยืนขาเดียวได้นานถึง 10 วินาทีตามกำหนด โดยในการทดสอบนี้ ผู้เข้าร่วมจะต้องมองตรงไปข้างหน้า ปล่อยแขนแนบลำตัว แล้วเอานิ้วเท้าด้านที่ยกขึ้นมาแตะไว้ที่น่องของขาด้านที่ใช้ยืน ซึ่งผู้วิจัยจะให้โอกาสแต่ละคนให้ทำท่านี้ด้วยขาทั้งสองข้างข้างละ 3 ครั้ง
เมื่อติดตามศึกษาข้อมูลของผู้เข้าร่วมการวิจัยใน 10 ปีต่อมา พบว่า มีผู้เสียชีวิตไป 123 ราย ด้วยสาเหตุทางสุขภาพที่หลากหลาย ทั้งยังพบว่าการที่ไปสามารถยืนขาเดียวได้ถึง 10 วินาที ในการทดสอบเมื่อ 10 ปีก่อน มีส่วนสัมพันธ์กับอัตราการตาย ที่สูงกว่าคนทั่วไปถึง 84% หรือสูงกว่าเกือบสองเท่าเลยทีเดียว
งานวิจัยที่มีมาก่อนหน้านี้ชี้ว่า คนที่ยืนขาเดียวได้ไม่ถึง 10 วินาที มีความเสี่ยงต่ออาการหลอดเลือดตีบหรือแตก (Stroke) สูงกว่าคนทั่วไป ทั้งยังเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อม (Dementia) มากกว่าด้วย
แม้จะยังไม่สามารถอธิบายได้ว่า การทรงตัวมีความเกี่ยวข้องกับอายุขัยอย่างไร แต่ทีมผู้วิจัยบอกว่า การทรงตัวเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงสมรรถภาพความแข็งแรงของร่างกายในวัยกลางคนและวัยชรา ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากความสามารถในการทรงตัวของคนปกติจะคงที่จนถึงอายุ 60 ปี ก่อนจะเริ่มเสื่อมถอยลงอย่างรวดเร็ว
แม้ผลการศึกษานี้ จะมีข้อจำกัด เนื่องจากทดลองกับคนเชื้อชาติปกติเดียวกันเท่านั้น แต่ทีมผู้วิจัยระบุว่า น่าจะมีความแม่นยำมากพอ จนสามารถใช้เป็นวิธีทดสอบมาตรฐาน ในการตรวจสุขภาพประจำปีของคนชราได้ ทั้งยังเป็นวิธีการที่ง่าย ทราบผลได้รวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่ายอีกด้วย