จากกรณีที่สภากีฬาโรงเรียนแห่งอาเซียนเปิดประชุมวิสามัญครั้งที่ 2 ที่อินโดนีเซีย โดยมี ดร. นิวัตน์ ลิ้มสุขนิรันดร์ อธิบดีกรมพลศึกษา เข้าร่วมประชุม โดยที่ประชุมมีการปรับเปลี่ยนระเบียบการแข่งขันอาเซียนสกูลเกมส์ ซึ่งหนึ่งในนั้นได้มีการปรับปรุงชนิดกีฬาบังคับ โดยเปลี่ยนจากกีฬาเซปักตะกร้อ เป็นกีฬาบาสเกตบอล โดยให้มีผลบังคับใช้ในการแข่งขันอาเซียนสกูลเกมส์ ครั้งที่ 14 ณ ประเทศบรูไนดารุสซาลาม เป็นต้นไป
ในเรื่องนี้ จักรี พ่วงเจริญ ผู้ฝึกสอนเซปักตะกร้อเยาวชนทีมชาติไทย ที่เป็นโค้ชประจำทีมนักเรียนไทย เปิดเผยว่า เป็นเรื่องที่ช็อกวงการตะกร้อนักเรียนเป็นอย่างมาก เพราะระบบของวงการเซปักตะกร้อของไทยนั้น หากนักกีฬาคนไหนจะติดทีมชาติไทยต้องผ่านการแข่งขันนักเรียนอาเซียน “อาเซียนสกูลเกมส์” ซึ่งรายการนี้เหมือนเป็นใบเบิกทางของนักกีฬาตะกร้อในการเล่นอาชีพ หรือ การรับราชการ แล้วพอสภากีฬาโรงเรียนแห่งอาเซียนมีมติถอดตะกร้อออกจากกีฬาบังคับ ก็มีผลทันทีเมื่อเจ้าภาพครั้งที่ 14 อย่างบรูไน ไม่บรรจุกีฬาตะกร้อลงไปในการชิงชัย ตนยอมรับว่าอาเซียนสกูลเกมส์มีความสำคัญต่อการพัฒนานักตะกร้อไทยระดับเยาวชนเป็นอย่างมาก เสมือนเป็นเวทีแรกของนักกีฬาดาวรุ่งที่จะได้โชว์ฟอร์มของตัวเองและยังเป็นเกียรติที่ได้ลงแข่งในนามทีมชาติไทยที่ส่งแข่งขันโดย กรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
จักรี ยังเผยต่อว่า ที่ไทยถือว่าเป็นการแข่งขันที่สำคัญมากในระดับเยาวชน แต่สำหรับชาติอื่นในอาเซียนตนไม่รู้ว่าเขาจริงจังกับกีฬาตะกร้อมากน้อยแค่ไหน เท่าที่รู้ก็มี มาเลเซีย อินโดนีเซีย และ เวียดนาม ที่มีการเล่นกีฬาชนิดนี้ แต่ตนไม่ทราบว่าชาติต่างๆที่เล่นตะกร้อมีอะไรเป็นสิ่งจูงใจให้นักกีฬาหันมาเล่น แต่สำหรับไทยนั้นมีหน้าที่การงานที่มั่นคง อาชีพรับราชการทั้งทหาร ตำรวจ รองรับนักกีฬาตะกร้อ ทำให้เด็กไทยมีแรงจูงใจในการเล่นกีฬาชนิดนี้ ซึ่งสาเหตุที่สภากีฬาโรงเรียนแห่งอาเซียนถอดตะกร้อออกก็คาดว่าน่าจะมาจากเรตติ้งของกีฬาตะกร้อในอาเซียนดรอปลงไปดูได้จากซีเกมส์ครั้งล่าสุดที่กัมพูชา รวมทั้งเยาวชนประเทศอื่นๆอาจจะไม่ได้สนใจกีฬาชนิดนี้แล้ว
“กระแสของกีฬาตะกร้อลดลงไปจากเมื่อก่อน ก็อาจจะเป็นเพราะไม่มีชาติไหนอยากจะแข่งกับไทย เพราะแข่งไปยังไงก็ไม่ชนะไทย ฉะนั้นจะเป็นไปได้ไหม หากไทยยอมส่งโค้ชเก่งๆไปสอนวิธีการเล่นตะกร้อให้แก่ชาติคู่แข่งเพื่อให้เขาสามารถสู้กับไทยได้อย่างสูสี หรือ จะปรับกติกาให้มันดูสากลมากขึ้นเปลี่ยนจากเสิร์ฟในคอร์ด มาเป็นเสิร์ฟท้ายคอร์ด หรือปรับกติกาให้ชาติอื่นๆ สามารถสู้กับไทยได้”
เผยแพร่: 3 มิ.ย. 256…
This website uses cookies.