คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี somsak_doctor@hotmail.com”
“อ้าว! เฮียเป็นอะไรครับ ขาเจ็บหรอ?” พี่หมอและเจ้าเก่งเอ่ยทักเกือบพร้อมกันเมื่อเห็นคุณชูสง่าเดินโขยกเขยกเข้ามาในห้อง “ปวดน่อง…เมื่อคืนเป็นตะคริวขยับตัวบิดขี้เกียจนิดเดียว ตะคริวขึ้นน่องเลย…ยังปวดระบบอยู่เลย” เฮียชูตอบลูกก๊วนแล้วบ่นต่อ “สังเกตว่าช่วงนี้ไม่ค่อยได้เดินออกรอบจะเป็นตะคริวบ่อย” “ใช่ครับ…ผมก็เป็นบ่อย” เจ้าเก่งร่วมแจมด้วย “บางทีเป็นนานเลยกว่าจะหาย…พี่หมอช่วยแนะนำหน่อยครับ”
นอนหลับอยู่ดีๆต้องสะดุ้งตื่นเพราะเป็นตะคริว มาหาสาเหตุพร้อมวิธีแก้กัน
ตะคริว คือการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ ทำให้เป็นก้อนแข็งและปวด ซึ่งจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลันโยที่ไม่สามารถบังคับได้ ซึ่งจะเกิดขึ้นเพียงแค่ช่วงหนึ่งเท่านั้น ทิ้งเวลาไว้ซักพักอาการก็จะดีขึ้น การเป็นตะคริวนี้อาจเกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อส่วนใดของร่างกายก็ได้ ในบางรายอาจมีอาการตะคริวที่ขาในขณะนอนหลับตอนกลางคืนจนต้องสะดุ้งตื่น ซึ่งมักเกิดกับกล้ามเนื้อขา และพบบ่อยในคนวัยกลางคนและผู้สูงอายุ
สาเหตุของการเกิดตะคริว เชื่อว่าเกิดจากการที่เอ็นและกล้ามเนื้อขาดความยืดหยุ่น ไม่ได้ยืดตัวบ่อยๆ จึงทำให้มีการหดรั้งหรือเกร็งได้ง่าย เมื่อมีการใช้กล้ามเนื้อส่วนนั้นมากเกินไป นอกจากนี้ยังเชื่อว่าอาจเกิดจากเซลล์ประสาทที่ควบคุมการหดและคลายตัวของกล้ามเนื้อทำงานผิดปกติไป หรืออาจเกิดจากการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อไม่ดี หรือมีปัญหาสุขภาพในด้านต่างๆ เช่น เส้นประสาทเสื่อมจากเบาหวาน โรคพาร์กินสัน โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต ไทรอยด์ หรือภาวะขาดน้ำ เป็นต้น
ปัจจัยเสริมอาจเกิดตะคริวจากการดื่มน้ำน้อยเกินไป ทำให้เซลล์กล้ามเนื้อขาดน้ำ ภาวะเกลือแร่ในร่างกายไม่สมดุล โดยเฉพาะโซเดียมและโพแทสเซียมจากท้องเดิน อาเจียน หรือเสียเหงื่อมาก ซึ่งมักจะเป็นอยู่นาน ภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ กล้ามเนื้ออ่อนล้าจากการใช้งานนานและหนัก กล้ามเนื้อขาดความยืดหยุ่น หรือจากการยืนนั่งนอนในท่าที่ไม่สะดวกนานๆ และในหญิงตั้งครรภ์ที่ระดับแคลเซียมต่ำ
เทคนิคแก้ปัญหาการเกิดตะคริวระหว่างนอนหลับ ควรนอนในท่าที่ผ่อนคลายอย่าให้กล้ามเนื้อตึง และควรห่มผ้าให้ร่างกายอบอุ่น หากเป็นตะคริวที่ขาขึ้นมาให้ยืดกล้ามเนื้อขาโดยยืดขาให้ตรง กระดกปลายเท้าขึ้นค้างไว้ 5 วินาที ทำแบบนี้ 5-10 ครั้ง แล้วนวดกล้ามเนื้อขาเป็นวงกลมจนกว่าจะหาย อาจยืนขึ้นเพื่อยืดขาให้ตรงและค้างไว้สักครู่
ข้อแนะนำสำหรับผู้เป็นตะคริวตอนกลางคืนบ่อยๆ
1.ควรดื่มนมก่อนนอน เพื่อเพิ่มแคลเซียมให้กับร่างกาย
2.พยายามยืดเหยียดกล้ามเนื้อบ่อยๆ อย่านั่งหรือยืนในท่าเดิมนานๆ
3.ฝึกยืดกล้ามเนื้อที่มักเกิดตะคริวบ่อยๆ
4.พยายามกระดกข้อเท้าขึ้นลงบ่อยๆ ป้องกันกล้ามเนื้อหดตัว และทำให้เลือดไหลเวียนดี
5.ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ 8-10 แก้วต่อวัน เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะขาดน้ำ
6.พยายามลดการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน
7.ควรเลือกรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียมและแมกนีเซียม เช่น โยเกิร์ต ชีส กล้วย ถั่วลันเตา ข้าวโพด งา ฟักทอง และอาหารที่มีโพแทสเซียม เช่น โกโก้ ลูกพรุน เมล็ดทานตะวัน กล้วย ปลาแซลมอน ผักโขม
8.ถ้าเป็นบ่อยจนรบกวนการนอน และมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยต่อไป
เผยแพร่: 3 มิ.ย. 256…
This website uses cookies.