คอลัมน์ EYE ON SPORTS โดย กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน
หลายคนบอกว่า นัดชิงชนะเลิศ ของ กาตาร 2022 (FIFA WORLD CUP Qatar 2022) ฟุตบอลโลก ครั้งที่ 22 ระหว่าง อารเฆ็นตีนา กับ ฝรั่งเศส ถือเป็นเกมที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ของฟุตบอลโลกเลยทีเดียว ผมพลิกอ่านดูว่าสื่อดังๆนั้น ใครว่าอย่างไรกันบ้าง
เอ็ล ปาอิ๊ส (El País) คำนี้แปลว่า ประเทศ เป็นหนังสือพิมพ์รายวันของ สเปน ตีพิมพ์ขนาด แท้บลอยด์ (Tabloid) ตั้งแต่ปี 1976 เขายกให้เป็น นัดชิงชนะเลิศชั่วนิรันดร์ ประทับอยู่ในความทรงจำ เร้าใจที่สุดในประวัติศาสตร์ ขนานนามให้เป็น “ศึก 2 จักรวาล ระหว่าง ลิโอเน็ล เม้สซี (Lionel Messi) กับ คีเลียน อึมบั๊ปเป (Kylian Mbappé)”
ดี เว่ลท์ (Die Welt) ก็ เดอะ เวิร์ลด์ ที่แปลว่า โลก นั่นแหละ อันนี้หนังสือพิมพ์รายวันของ เจอรมานี ขนาด บรอดชี้ท (Broadsheet) ยาวใหญ่กว่า แท้บลอยด์ ตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 1946 บอกว่า อารเฆ็นตีนา คว้าชัยในนัดชิงชนะเลิศอย่างตื่นตาที่สุดในประวัติศาสตร์ ยกให้เป็นแม็ทช์แห่งศตวรรษ นับเป็นบทสรุปของฟุตบอลโลกที่ไม่เคยพบพาน ทั้งครึ่งแรก-ครึ่งหลัง ช่วงต่อเวลาพิเศษ 2 ครึ่ง และ ดวลจุดโทษ นี่มันคือ “ความบ้าคลั่ง 5 ตอนจบ”
กอรริเอเร เด็ลละ เซรา (Corriere della Sera) หนังสือพิมพ์รายวันของ อิตาลี แปลว่า หนังสือพิมพ์ฉบับเย็น ขนาด เบอร์ลีเนอร์ (Berliner) ซึ่งความใหญ่อยู่ระหว่าง แท้บลอยด์ กับ บรอดชี้ท เริ่มตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 1876 บอกว่า เป็น 139 นาทีที่บ้าเหลือหลาย อันนี้คือรวมเวลาตั้งแต่เริ่มเกมจนจบการดวลจุดโทษ 8 ลูก นี่เป็น “แม็ทช์ที่ออกได้นับพันหน้าทีเดียว” อัลบีเซเล้สเต้ ขี่ขย่มข่มครองเกมตลอด 75 นาทีแรก แต่จากนั้นชัยชนะก็หลุดลอยไปกับสายลมด้วยการพลิกกลับมาของ เล เบลอ แช้มพ์เก่าปี 2018 เข้าซัดถาโถมถล่มเข้าใส่ราวกับ เฮอริเคน โดยจ้าวพายุ อึมบั๊ปเป
เดอะ การ์เดียน (The Guardian) คำนี้หมายถึง ผู้พิทักษ์ เป็นหนังสือพิมพ์ของ อังกฤษ ที่ตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 1821 ค่อยๆลดขนาดลงเรื่อยๆตามกาลเวลาจากเดิม บรอดชี้ท มาเป็น เบอร์ลีเนอร์ จนเหลือแค่ขนาด แท้บลอยด์ ในปัจจุบัน เขาสดุดีนัดนี้ให้เป็นนัดชิงชนะเลิศที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล โดยตลอดเวลาร่วมชั่วโมงที่ ฝรั่งเศส สิ้นหวัง จน อึมบั๊ปเป นักเตะที่ไม่มีใครเอาอยู่ มาเหมา 2 ประตูในช่วงท้ายเกม มันเป็น “ความยิ่งใหญ่ที่สุดของฟุตบอลลูกกลมๆให้ประจักษ์แก่สายตา”
ข้ามมหาสมุทร แอ็ทแลนทิค ไปยังฝั่งทวีปอเมริกาเหนือ เดอะ วอชิงเติ้น โพ้สท์ (The Washington Post) หนังสือพิมพ์รายวันของ วอชิงเติ้น ดีซี (Washington, D.C.) สหรัฐ อเมริกา เริ่มตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 1877 ขนาดบรอดชี้ต ยกให้เป็น “แม็ทช์อมตะ” ไม่ว่าจะเป็นที่ไหน ในร้านกาแฟ ร้านทำผม ผับ บาร์ หรือในห้องเรียน ไม่มีใครอยากให้นัดนี้จบลงเลย
สำหรับผมอาจบอกได้ว่า มันเป็นเกมที่ ฝรั่งเศส ตายยากจริง แม้ ฟ้า-ขาว ดูเหมือนจะสยบได้ตั้งแต่ครึ่งชั่วโมงเศษ แต่สปีดความเร็วสูงของนักเตะก็ยังเป็นตัวแปรสำคัญในเกมฟุตบอล เล เบลอ พลิกฟื้นกลับมาได้อีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า สุดท้าย ต้องไปตัดสินให้รู้กันด้วย กีโยตีน (Guillotine) แห่งวงการฟุตบอล นั่นคือ การดวลจุดโทษ
ฝรั่งเศส เคยโดน กีโยตีน มาแล้วใน ฟุตบอลโลก 2006 (FIFA WORLD CUP GERMANY 2006) ที่ โอลุมเพียชตาดิออน (Olympiastadion) ใน กรุงแบรลีน (Berlin) ประเทศเจอรมานี เมื่อได้เข้าชิงชนะเลิศกับ อิตาลี โดยผลใน 90 นาที เสมอกัน 1-1 แม้ต่อเวลาพิเศษก็ยังเสมอกัน ต้องถึงกับดวลจุดโทษ แล้วก็แพ้จุดโทษไป 3-5
อย่างไรก็ตาม ผมยังรู้สึกชื่นชมการจัดการแข่งขันของ กาตาร ที่ทำได้ดีมาก นับเป็นความสำเร็จของเจ้าภาพครั้งนี้ แต่ที่รู้สึกผิดหวังก็คือ การบริหารจัดการการถ่ายทอดสดของ ไทย ที่มั่วซั่วตั้งแต่ต้นจนจบ ทั้งเรื่องการเจรจาซื้อลิขสิทธิ์ที่ผู้ซื้อเจ้าประจำไม่ดำเนินการ เหมือนกับถูกเบรคจากผู้ที่หวังเอาหน้าโกยคะแนนเสียงจากประชาชน หวังผลในการเลือกตั้ง ยังมีประเด็นเรื่องชักเข้า ชักออก กฎ เมิ้สท์ แฮ้ฟ (Must Have) เมิ้สท์ แครี่ (Must Carry) ที่มีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนได้เข้าถึงการถ่ายทอดสดกีฬาสำคัญอย่างถ้วนหน้า แถมเมื่อซื้อสิทธิ์มาแล้วดันยกลิขสิทธิ์ไปให้ผู้ร่วมลงขันเพียงแค่ 300 ล้านบาทจากราคาพันกว่าล้านอย่างน่าสงสัย รวมทั้ง ยังมีประเด็นเรื่องการปล่อยให้ต่างชาติสอยสัญญาณถ่ายทอดผิดกฎเรื่องลิขสิทธิ์ของ ฟีฟ่า ทำให้ต้องถูกเตือนบ่อยครั้งและเสี่ยงต่อจอดำในเมืองไทยอีก อย่างนี้ผู้เกี่ยวข้อง ผู้ชักใยน่าจะโดน กีโยตีน จากประชาชนบ้างนะครับ
เผยแพร่: 3 มิ.ย. 256…
This website uses cookies.