คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี somsak_doctor@hotmail.com”
วันนี้คุณชูสง่าไม่สง่าสมชื่อเสียแล้ว เพราะขณะเดินลงเนินดีๆเกิดเข่าอ่อนทรุดลงไปกองกับพื้นอย่างไม่เป็นท่าจบเกมเอาดื้อๆ น้องมายด์(แคดดี้คนสวยของเฮีย)รายงานว่า กล้ามเนื้อขาของนายลีบเล็กลงไปเยอะหลังพักไปช่วงโควิด พี่หมอจึงวางแผนฟื้นฟูโดยประกาศว่า ต่อไปหามใช้รถในการออกรอบให้เดินบริหารขาเพื่อกันกล้ามเนื้อลีบ
สาเหตุทำให้ผู้สูงอายุกล้ามเนื้อลีบ
ภาวะกล้ามเนื้อลีบ(Sarcopenia )ของผู้สูงอายุวัย 50 ปีขึ้นไป โดยพบประมาณ 10% มีสาเหตุ4ประการคือ
1.มีการใช้กล้ามเนื้อน้อยลง หมายถึงมีกิจกรรมในชีวิตน้อย วันๆนั่งอยู่บนโซฟาหรือเก้าอี้ประจำตำแหน่ง จนโซฟายุบเป็นหลุม กิจกรรมที่ทำกันอย่างมากปัจจุบันก็คือการดูจอขึ้นจอ ยิ่งคนที่มีผู้ดูแลประจำยิ่งอาการหนัก เพราะอยากได้อะไรก็มีคนไปหยิบให้ ตั้งแต่ตื่นจนเข้านอนแทบไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย งานวิจัยพบว่าแค่ผู้สูงอายุไม่ได้ออกไปเดินออกกำลังกายเพียงสองสัปดาห์ก็เกิดกล้ามเนื้อลีบขึ้นแล้ว
2.กินอาหารไม่เพียงพอ การกินอาหารที่ให้แคลอรีน้อยเกินไปจะเป็นด้วยเหตุฟันไม่ดีเคี้ยวไม่สะดวก หรือกินอะไรไม่ลงก็แล้วแต่ เมื่อแคลอรี่ไม่พอร่างกายก็จะสลายเอากล้ามเนื้อออกมาเผาผลาญเป็นพลังงานแทน
3.ความเครียดไม่ว่าจะเครียดทางกายหรือเครียดทางใจ เพราะฮอร์โมนเครียดหรือคอร์ติซอลนี้แหละที่เป็นตัวสลายเอากล้ามเนื้อออกมาทำเป็นพลังงานดีนัก ความเครียดต่อร่างกายของผู้สูงวัยที่พบบ่อยก็คือการป่วยเป็นโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น หัวใจล้มเหลว โรคไตเรื้อรัง เป็นต้น
4.ภาวะการอักเสบในร่างกาย เพราะร่างกายของผู้สูงอายุระบบต่างๆจะอ่อนแอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบภูมิคุ้มกันโรคจะอ่อนกำลังลงไปมากทำให้ติดเชื้อง่าย บางครั้งก็เป็นการติดเชื้อซ้ำซ้อนยืดเยื้อเรื้อรัง เช่น ถุงลมหายใจโป่งพองแล้วติดเชื้อในปอดเรื้อรัง หลอดลมอักเสบเรื้อรัง เหงือกอักเสบเรื้อรัง หรือแม้แต่วัณโรคซึ่งเรื้อรัง บางครั้งการอักเสบไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ แต่เกิดจากภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือการอักเสบของหลอดเลือดในโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เป็นต้น
ถามว่ากล้ามเนื้อลีบทำให้ตายได้ไหม? ตอบว่าตายได้แน่นอน ตามสถิติบอกว่าผู้สูงอายุที่กล้ามเนื้อลีบจะตายเร็วกว่าผู้สูงอายุที่กล้ามเนื้อไม่ลีบ ในกรณีที่ไม่ตายก็จะเลี้ยงไม่โต คือทำให้พิการ นอนติดเตียง ชีวิตไม่มีคุณภาพ ดังนั้นต้องแก้ไขรักษา
ถามว่ากล้ามเนื้อลีบต้องรักษาหรือแก้ไขอย่างไร? ตอบว่าต้องทำหลายอย่าง คือ
1.ออกกำลังกาย งานวิจัยพบว่าไม่ว่าจะออกกำลังกายแบบใด ล้วนมีผลทำให้มวลกล้ามเนื้อเพิ่มมากขึ้นและแข็งแรงขึ้นได้ทั้งสิ้น แต่ อจ.หมอสันต์ เน้นให้ออกกำลังแบบฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ หรือเล่นกล้ามให้มาก เพราะจะเกิดการเผาผลาญพลังงานในกล้ามเนื้อมาก เกิดกล้ามเนื้อบาดเจ็บเกิดกล้ามเนื้อตาย แล้วตามมาด้วยการสร้างกล้ามเนื้อใหม่ ซึ่งมีผลให้กล้ามเนื้อสร้างใหม่และมวลกล้ามเนื้อมากขึ้นและแข็งแรงขึ้น แต่ถ้าไม่ถนัดเล่นกล้ามก็แค่ขยันออกเดินก็ได้นะ งานวิจัยของญี่ปุ่นให้คนสูงอายุจำนวน 227 คน ออกเดินวันละชั่วโมงทุกวันนาน6เดือน ก็พบว่าให้มวลและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้นได้เหมือนกัน
“ดังนั้นการออกรอบวันนี้…” พี่หมอดูนาฬิกา แล้วพักการบรรยายเอาดื้อๆ และกล่าวต่อ “…เราจะไม่ใช้รถกอล์ฟ แต่จะเดิน!…กันกล้ามเนื้อลีบ!” “แล้วพี่หมอบรรยายจบแล้วหรือ เรื่องกล้ามเนื้อลีบนี่น่ะ?” “ยังเลยเก่ง ยังขาดเรื่องอาหารกับการจัดการกับความเครียด เอาไว้มีเวลาพี่จะพูดให้ฟังต่อนะ…ถึงเวลาออกรอบพอดี!..ปะ!”
เผยแพร่: 3 มิ.ย. 256…
This website uses cookies.