เผยแพร่: ปรับปรุง:
คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี somsak_doctor@hotmail.com”
คุณชูสง่าวางช้อนอาหารคำสุดท้าย พลางหยิบยาหลังอาหารทันทีเม็ดเล็กๆใส่ปาก ก่อนดื่มน้ำตาม3อึกใหญ่ เจ้าเก่งมองดูแล้วคิดในใจว่าเฮียคงได้ยาโรคหัวใจมา หลังจากเมื่อวานพี่หมอพาไปเช็คหัวใจเพราะบ่นว่าเหนื่อยง่ายกว่าปกติ “ยาอะไรครับเฮีย” เจ้าอ้วนเก่งถามไปงั้น “แอสไพริน” “อ้าว! เฮียปวดหัวหรือเป็นไข้” เจ้าเก่ง ลูกก๊วนฉายาจอมตีไกลออกอาการงง แต่เมื่อหันมามองหน้าพี่หมอ กลับเห็นสีหน้าของพี่หมอที่ยิ้มกริ่มเหมือนจะบอกอะไร
“ยาแอสไพริน” เป็นยาที่ใช้ในการลดไข้ แต่ปัจจุบันนำมาใช้ในการป้องกันโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายซ้ำ ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญของโรคหัวใจขาดเลือด ซึ่งมักเกิดขึ้นในผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวอื่นๆร่วมด้วย โรคหัวใจขาดเลือดนี้เกิดขึ้นเพราะเมื่อมีอายุมากขึ้น จะมีไขมันมาเกาะที่ผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแข็งตัว ยิ่งนานมันไขมันก็ยิ่งเกาะมากขึ้น ผนังหลอดเลือดก็หนาตัวขึ้นและขรุขระ หลอดเลือดจึงตีบ เลือดไหลได้ไม่สะดวก เกล็ดเลือดซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเลือดก็จะเกาะที่ผนังหลอดเลือดที่ขรุขระนั้น ถ้าเกาะกันเป็นก้อนใหญ่มากก็จะทำให้หลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลันได้ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหน้าอก และกล้ามเนื้อหัวใจอาจตายแบบเฉียบพลันได้
กลไกการออกฤทธิ์ของแอสไพรินคือสามารถยับยั้งการเกาะกันเป็นกลุ่มก้อนของเกล็ดเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุของหลอดเลือดตีบ ขนาดยาที่ใช้น้อยกว่าขนาดยาสำหรับแก้ไข้ คือเม็ดเล็กขนาด 60-75 มิลลิกรัม กินวันละ 1 ครั้ง ก็ได้ผล โดยไม่ระคายเคืองกระเพาะอาหารเท่าเม็ดใหญ่ที่เรากินแก้ปวดแก้ไข้กันทุกวันนี้
แม้ปัจจุบันจะมียาแอสไพรินแบบเคลือบฟิล์มเอนเทอริก (enteric-coated) ที่จะไปแตกตัวที่ลำไส้เล็ก ลดอาการไม่สบายท้อง แต่ราคาจะแพงกว่า และถึงอย่างไรก็ตามยาแอสไพรินอาจไปเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเลือดออกในกระเพาะอาหารได้ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใด จึงควรที่จะรับประทานหลังอาหารทันทีและดื่มน้ำตามมากๆเช่นกัน
ข้อสำคัญประการหนึ่งที่ควรปฏิบัติคือ หากไปทำฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน หรือรับการผ่าตัด ต้องบอกให้หมอทราบก่อนเสมอว่ากินยาแอสไพรินอยู่ เพื่อที่จะได้ระมัดระวังไม่ให้เกิดปัญหาเลือดไหลไม่หยุดระหว่างทำฟันหรือผ่าตัดนั้นๆ
แล้วยาอมใต้ลิ้นที่เราเห็นกันในหนังในละคร เวลาเกิดอาการเจ็บหน้าอกตัวละครจะหยิบยามาอม เจ้าตัว “ยาอมใต้ลิ้น” ใช้แก้อาการเจ็บหน้าอกได้อย่างไร?
อาการเจ็บหน้าอก เป็นอาการแสดงอย่างหนึ่งของโรคหัวใจขาดเลือด อันเนื่องมาจากหลอดเลือดที่เลี้ยงกล้ามเนื้อของหัวใจเกิดการอุดตันหรือตีบ บางคนรู้สึกเจ็บเหมือนมีอะไรมารัดหน้าอก บางคนรู้สึกเจ็บตื้อๆ จกแน่นที่ลิ้นปี่ หายใจไม่สะดวก บางคนอาจมีอาการปวดร้าวไปที่แขนซ้าย ไหล่ซ้าย คางหรือกราม และขณะเจ็บจะมีเหงื่อออกมาก ใจสั่น อาจรู้สึกคล้ายจะเป็นลม อาการเจ็บหน้าอกนี้มักเกิดขึ้นเมื่อออกกำลังกายมากกว่าปกติ กินอาหารมากเกินไป มีอารมณ์โกรธหรือตื่นเต้น หากนั่งพักอาการส่วนใหญ่จะดีขึ้น แต่ถ้าไม่ดีขึ้นก็ต้องใช้ยาอมใต้ลิ้นช่วย
ยาอมใต้ลิ้น เป็นยาที่มีฤทธิ์ขยายหลอดเลือด เลือดจึงไหลไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ ทำให้อาการเจ็บหน้าอกหายไปภายใน 1-2นาที แต่ถ้าหลังอมยาไปแล้ว 5 นาที อาการยังไม่ดีขึ้นให้อมยาเม็ดที่ 2 พร้อมทั้งเตรียมรีบไปโรงพยาบาล
ดังนั้น ผู้ที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดจึงควรพกยาอมใต้ลิ้นติดตัวเสมอ เมื่อเกิดอาการเจ็บหน้าอกจะได้หยิบยามาอมใต้ลิ้นได้ทันท่วงทีเพื่อบรรเทาอาการให้หายไปและไม่เป็นอะไรที่หนักขึ้น
“จำไว้นะไอ้เก่ง ถ้าอยู่ๆนายเอ็งเจ็บหน้าอกหรือเอามือกำหน้าอกล่ะก็ รีบล้วงหายาอมใต้ลิ้นมายัดปากเฮียแกเลยนะ แต่ถ้าเฮียเจ็บหน้าอกเพราะน้องแคดดี้สาวสวยประจำตัวไม่ค่อยเทคแคร์ อันนี้ไปฟ้องซ้อได้เลยไม่ต้องใช้ยา!” พี่หมอพูดพลางยิ้มกริ่มแกล้งเฮียชูสง่าหัวหน้าก๊วนที่ทำหน้ากังวลกับการตรวจหัวใจเมื่อวานจนเกินเหตุ