เผยแพร่: ปรับปรุง:
คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี somsak_doctor@hotmail.com”
รื่นเริงทัศนาจร พักผ่อน… เสียงเพลง “ทัศนาจร” ของดิอิมพอสซิเบิ้ลดังกระหึ่มห้องรับแขก “หรี่หน่อย!ไอ้เก่ง มึงจะรื่นเริงไปถึงไหนกัน! คุณชูสง่าหนวกหู แม้จะเป็นเพลงโปรด เจ้าอ้วนมันดีใจที่จะไปตีกอล์ฟและเที่ยวที่ลพบุรี ดินแดนของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชในวันหยุดนี้ ช่วงปลายปีและดูเหมือนโควิดทำท่าจะซาอีกทั้งลมหนาวอ่อยมาบางครั้ง ทำให้ชาวประชาหลายกรุ๊ปหลายก๊วนเริ่มนัดกันออกเที่ยว เพราะอั้นมานานเหมือนนกบินออกจากกรง “ไปเถอะ! ถ้าจิตใจและร่างกายมันเรียกร้อง แต่ต้องมีมาตรการระวังตัวด้วย โควิดยังไม่จบ” พี่หมอสรุปส่งท้าย
การได้ไปเที่ยว เท่ากับเป็นการปรับสมดุลให้ร่างกายให้ใกล้เคียงกับธรรมชาติ การได้ไปเที่ยวบ่อยๆ ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ทำให้สุขภาพดีขึ้นทั้งกายและใจ มีผลการวิจัยของมหาวิทยาลัย Surrey ประเทศอังกฤษ ได้ทำการศึกษาพบว่า คนที่ไม่ค่อยได้ออกไปเที่ยวหรือไม่ค่อยได้ออกเดินทางไปไหนมาไหนมีโอกาสเป็นโรคหัวใจมากกว่าคนที่ได้ออกไปเที่ยวบ่อยถึง 30% เลยทีเดียว
ประโยชน์ของการท่องเที่ยว
1.เมื่อรู้ว่าจะได้ไปเที่ยว สมองก็จะมีการคาดหวังในสถานการณ์ต่างๆและเริ่มวางแผนล่วงหน้าอย่างกระตือรือร้นด้วยหัวใจเบิกบาน หากทำได้สำเร็จตามที่ตั้งใจไว้ร่างกายผลิตฮอร์โมนโดพามีน ทุกครั้งที่เกิดสำเร็จได้ดั่งใจ
2.ด้วยเหตุนี้จึงพบว่าการไปเที่ยวบ่อยๆจะทำให้มีความสุขมากยิ่งขึ้นมีผลทำให้สุขภาพดีขึ้นได้จริง
3.มีข้อมูลจากการสำรวจเพิ่มเติมพบว่า การออกเดินทางช่วยลดความเครียดได้ดีมาก
4.คนที่ออกท่องเที่ยวไปในที่ต่างๆแบบไม่ซ้ำกันหรือได้ออกไปเปิดหูเปิดตา ผจญภัยในสถานที่ใหม่ๆมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าน้อยกว่าคนที่ชอบเก็บตัวเงียบอยู่คนเดียว
5.ผู้ที่ไม่มีโอกาสได้ไปท่องเที่ยวติดต่อกันเป็นเวลาหลายปีมากกว่า 30% มีโอกาสเป็นโรคหัวใจสูงกว่ากลุ่มผู้เดินทางท่องเที่ยวบ่อยๆ
6.ผู้ท่องเที่ยวที่ต้องเดินทางไกลเป็นประจำจะไม่ค่อยรู้สึกเหนื่อย เนื่องจากมีสิ่งตื่นเต้นรออยู่ข้างหน้าตลอดทริป โดยเฉพาะผู้ที่ชื่นชอบการเที่ยวแบบลุยๆก็ยิ่งทำให้สุขภาพแข็งแรงดีขึ้นไปอีก
7.พูดง่ายๆ สรุปว่า เมื่อขยับร่างกายมากกว่าปกติ แถมยังสนุกไปตลอดทาง ทุกช่วงเวลาทำให้สุขภาพทั้งกายและใจดีขึ้นกว่าคนที่อยู่จำเจแต่ในบ้าน
8.สถานที่ที่เหมาะกับการท่องเที่ยว เมื่อปรับสมดุลให้ร่างกายใกล้เคียงกับธรรมชาติ คือ ทะเลและป่าเขา
9.ในทางจิตวิทยาสีเขียวของธรรมชาติจะทำให้เรารู้สึกสดชื่นและปลอดภัย ขณะเดียวกันสีฟ้าของน้ำทะเลก็ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย ทำให้สุขภาพจิตดีขึ้น
10.พบว่าบริเวณชายหาด แม่น้ำลำธารหรือน้ำตก เป็นบริเวณที่ชุ่มชื่นจะมีประจุไฟฟ้าลบลอยอยู่ในอากาศซึ่งจะกระตุ้นให้สร้างสารเซโรโทนิน ทำให้รู้สึก สงบ ผ่อนคลายและสดชื่น
11.เสียงคลื่นกระทบชายหาด เสียงสายลมและสัตว์ป่าในธรรมชาติ เป็นเสียงเบาๆก็มีโทนเสียงต่ำ ฟังแล้วทำให้ใจสงบทุกครั้งที่ได้สัมผัส
12.ดังนั้น คนเราจึงกระหายที่จะออกห่างจากความวุ่นวายในเมือง เดินทางไปเที่ยวตามป่าเขาลำเนาไพร เพื่อปรับสมดุลของร่างกายทุกครั้งที่มีโอกาส