เผยแพร่: ปรับปรุง:
คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี somsak_doctor@hotmail.com”
วันนี้ ก๊วนเฮียชูพัก งดออกรอบ เนื่องจากหัวหน้าก๊วนคุณชูสง่าป่วย ข้อมือซ้ายอักเสบปวดบวมพัน Elastic bandage ไว้ “เมื่อวานเฮียสะดุดล้ม เอามือซ้ายยันพื้น ตอนแรกก็ไม่เจ็บเท่าไหร่…เมื่อเช้านี้ปวดบวมมากขึ้น” เจ้าเก่งรีบเข้ามาดูข้อมือนายด้วยความเป็นห่วง “ผมมียาแก้อักเสบเหลืออยู่ เฮียจะเอา แอมปิ หรืออาม๊อคซี ดีครับ” พี่หมอได้ยินความหวังดีของเจ้าเด็กอ้วนแล้วถึงกับสะดุ้ง! “มึงจะวางยาเฮียเหรอ? ไอ้เก่ง”
– ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการกินยาฆ่าเชื้อ
คนส่วนใหญ่ มักเข้าใจว่า ยาฆ่าเชื้อกับยาแก้อักเสบ คือยาตัวเดียวกัน เช่น เมื่อเป็นหวัดเจ็บคอ ก็มักจะไปหาซื้อยาแก้อักเสบมารับประทานเอง เพราะเข้าใจว่าไข้หวัดเกิดจากการติดเชื้อ ซึ่งในความจริงแล้ว ไข้หวัดอาจเป็นได้ทั้งจาก เชื้อไวรัสและแบคทีเรีย ยาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะ (antibiotic) เป็นยาที่ใช้ฆ่าเชื้อ หรือยับยั้งการเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย โดยที่ไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัส ส่วนยาแก้อักเสบ (anti-inflammatory drugs) มีฤทธิ์แก้ปวด ลดไข้ ดังนั้น ยาฆ่าเชื้อและยาแก้อักเสบ จึงเป็นยาคนละชนิดกัน
1.ความเชื่อผิดๆ ที่เข้าใจว่า ยิ่งกินยาฆ่าเชื้อแรงๆ จะยิ่งช่วยให้หายเร็ว ไม่จริง ยกตัวอย่าง การติดเชื้อของหวัดธรรมดา มักเกิดจากเชื้อไวรัส ดังนั้น การกินยาฆ่าเชื้อ หรือไม่กิน ก็หายในเวลาเท่ากัน เพราะไวรัสนั้นสามารถหายเองได้
2. ยาฆ่าเชื้อที่เหลือ เก็บไว้รับประทานทีหลังได้ เป็นความเชื่อที่ผิด เพราะต้องเข้าใจก่อนว่า การติดเชื้อแต่ละครั้ง ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดจากเชื้อแบคทีเรียเสมอไป และหากติดเชื้อที่อวัยวะแตกต่างกัน เช่น เคยกินยาฆ่าเชื้อที่คอ จะเอายาที่กินเหลือ มาใช้เพื่อฆ่าเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ และไม่ควรใช้ยาร่วมกับผู้อื่น
3. ยาฆ่าเชื้อแบบแคปซูล แกะออกมาละลายน้ำ จะดีกว่า ก็เป็นความเชื่อที่ผิดอีก เพราะตัวยาที่ถูกนำมาบรรจุในรูปแบบของแคปซูล จะถูกชั่งตวงวัดมาเรียบร้อยแล้ว การแกะออกมาละลายน้ำ อาจทำให้ยาหลงเหลือค้างอยู่ในแคปซูล ทำให้ได้ยาไม่ครบ นอกจากนี้ ยาที่ถูกออกแบบมาให้บรรจุในแคปซูล ก็เพื่อให้ตัวยาสามารถไหลผ่านกรดในกระเพาะ ผ่านน้ำย่อยในลำไส้ส่วนต้น เพื่อให้ยาไปสลายตัวและดูดซึมตรงลำไส้เลย การแกะแคปซูลออกก่อน จะทำให้ตัวยาถูกน้ำย่อยรบกวนหรือสลายไปได้ นอกจากจะไม่ทำให้การรักษาไว้ขึ้น อาจทำให้เกิดผลแย่กว่าการกลืนแคปซูลตามปกติได้
– อันตรายจากการกินยาฆ่าเชื้อผิดวิธี
1.อาจเกิดแพ้ยา จากอาการไม่มาก เช่น ผื่นลมพิษคัน จนไปถึงขั้นแพ้รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
2.เกิดโรคแทรกซ้อน โดยที่ยาปฏิชีวนะจะฆ่าทั้งเชื้อแบคทีเรียที่ดี มีประโยชน์ในลำไส้ และเชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรค โดยไม่สามารถเลือกได้
3.เชื้อดื้อยา การซื้อยากินเองอย่างพร่ำเพื่อ หรือกินยาไม่ครบโด้ส อาจทำให้เชื้อแบคทีเรียกลายพันธุ์เป็นเชื้อดื้อยาได้
คำแนะนำในการใช้ยาฆ่าเชื้อ คือ
– กินยาให้ถูกโรค เช่น ถ้าเป็นไข้ ก็ควรกินยาที่มีสรรพคุณในการลดไข้
– กินอาหารให้ถูกต้อง ตามคำแนะนำของแพทย์ และตามฉลากยา
– กินยาให้ครบถูกขนาดตามแพทย์สั่ง