“เอเธนส์2004” กีฬาโอลิมปิก ครั้งที่ 25 กล่าวได้ว่าเป็น “ปีทอง” ของวงการกีฬาไทย นับตั้งแต่ส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันครั้งแรกเมื่อปี 2495 กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ หรือ 52 ปีที่ผ่านมา เมื่อคว้ามาได้ถึง 3 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน และ 4 เหรียญทองแดง
มหกรรมกีฬาโอลิมปิกหวนคืนสู่ถิ่นกำเนิดอีกครั้งในรอบ 108 ปี ที่ประเทศกรีซ ในชื่อเกมการแข่งขัน “เอเธนส์2004” ซึ่งนักกีฬาไทยหลังจากที่เก็บเกี่ยวประสบการณ์บนเกมใหญ่ของโลก ปีนี้ได้ประกาศศักดาให้ชาวโลกประจักษ์ จากน้ำมือของ “8 ฮีโร่” ได้มอบความสุขให้กับพี่น้องชาวไทยเป็นการส่งต่อความสำเร็จที่เติบโตขึ้นต่อเนื่อง นับตั้งแต่ พเยาว์ พูนธรัตน์ นักชกจากบางสะพานเปิดประวัติศาสตร์ให้วงการกีฬาไทย ด้วยการคว้าเหรียญทองแดง ในปี 2519 ในกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 21 ที่เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา ตามด้วยเหรียญเงินจาก ทวี อัมพรมหา หรือ “ขาวผ่อง สิทธิชูชัย” ในปี 2527
จากนั้นทัพนักกีฬาไทยมีเหรียญรางวัลกลับบ้านทุกครั้ง ผจญ มูลสัน เหรียญทองแดง มวยสากล ในโอลิมปิก ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ในปี 2531 และในปี 2535 อาคม เฉ่งไล่ ได้เหรียญทองแดง มวยสากล ในโอลิมปิก ที่บาร์เซโลน่า ประเทศสเปน
ปี 1996 “แอตแลนต้าเกมส์” ที่สหรัฐฯ ยอดนักชก สมรักษ์ คำสิงห์ สร้างประวัติศาสตร์ ไทยคนแรกได้คว้าเหรียญทองกีฬาโอลิมปิก พร้อม วิชัย ราชานนท์ ที่ได้เหรียญทองแดงมวยสากล
กระทั่งปี 2000 โอลิมปิก ที่เมืองซิดนี่ย์ ออสเตรเลีย ครั้งนี้ทัพไทยได้ 1 เหรียญทอง จาก วิจาร์ณ พลฤทธิ์ (มวยสากล), 2 เหรียญทองแดง จาก พรชัย ทองบุราณ (มวยสากล) กับ เกษราภรณ์ สุตา (ยกน้ำหนัก) จอมพลังสาวไทยคนแรกที่จุมพิตเหรียญรางวัลโอลิมปิก
ถึงปี 2004 ทัพนักกีฬาได้สร้างผลงานยิ่งใหญ่เกินความคาดฝัน เปิดตำนานหน้าใหม่ คว้าเหรียญรางวัลได้มากที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดย 8 ฮีโร่ไทยที่สร้างประวัติศาสตร์ใน “เอเธนส์2004” เป็นใครบ้าง ไปติดตามกัน
อารีย์ วิรัฐถาวร “เทพีแห่งโชค”เหรียญแรกทัพไทย
หลังพิธีเปิด “เอเธนส์2004” เช้าวันต่อมาทัพนักกีฬาไทยได้ฉลองเหรียญรางวัลทันที จากจอมพลังสาว “อารีย์ วิรัชถาวร” เปิดหัวในวันที่ 14 ส.ค.2547 ด้วย “เหรียญทองแดง” ยกน้ำหนักรุ่น 48 กก.หญิง
จอมพลังยอดนักสู้ เกิดเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2523 ที่จ.กาญจนบุรี บิดาชื่อนายชลอ วิรัฐถาวร และมารดา นางสุทิน วิรัฐถาวร อยู่บ้านเลขที่อยู่ 280/2 ถ.ปากแพรก ต.บ้านเหนือ เขตเทศบาลเมืองกาญจนบุรี จ.กาญจนบุรี ติดทีมชาติครั้งแรกในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 21 “กัวลาลัมเปอร์เกมส์” ปี 2544 แต่ครั้งนั้นยังไม่สามารถหยิบเหรียญรางวัลติดมือกลับมาได้ กระทั่งผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 27 ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ
จากความล้มเหลวและเจ็บปวดในอดีตทั้งในซีเกมส์ ที่มาเลเซีย และเอเชียนเกมส์ ที่ปูซาน เธอเปลี่ยนให้เป็นพลังผลักดันตัวเองจนก้าวสู่ความสำเร็จครั้งแรกของเธอ และสานฝันให้กับตัวเองด้วย “เหรียญทองแดง”
อุดมพร พลศักดิ์ ประวัติศาสตร์หญิงไทยคนแรกซิวทอง
วันที่ 15 ส.ค.2547 เป็นอีกวันที่อยู่ในความทรงจำของแฟนกีฬาไทย “สู้โว้ย” คำพูดนี้ยังกึกก้องแม้จะผ่านมาเนิ่นนานถึง 17 ปีแล้วก็ตาม คำพูดที่เปล่งออกมาจากพลังความฮึกเหิมของ “อร” อุดมพร พลศักดิ์ ก่อนการยกลูกเหล็กที่หนักอึ้ง สร้างประวัติศาสตร์อีกหน้าให้กับการกีฬาไทย
“อร” เกิดกิดวันที่ 6 ตุลาคม 2524 เป็นชาวจ.นครราชสีมา เส้นทางสู่ฮีโร่โอลิมปิกดั่งสวรรค์บรรจงขีดเอาไว้ให้ตั้งแต่เยาว์วัย ชีวิตจากนักกรีฑาก่อนมาถวายใจให้กับกีฬายกน้ำหนัก แบบหลบๆ ซ่อนๆ เพราะพ่อแม่ไม่ปลื้มเพราะมองว่าไม่เหมาะกับผู้หญิง แต่ด้วย “ใจมันรัก” พ่อกับแม่จึงยินยอมให้บุตรสาวเดินตามฝัน
จากนั้นจอมพลังสาวเมืองย่าโมก็พิสูจน์ความสามารถเป็นที่ประจักษ์มากด้วยดีกรี ทั้งเหรียญทองเยาวชนชิงแชมป์โลก, เหรียญทองชิงแชมป์โลก, เหรียญทองชิงแชมป์เอเชีย และจบผลงานสุดยิ่งใหญ่ด้วย “เหรียญทอง” ยกน้ำหนักรุ่น 53 กก.กีฬาโอลิมปิก 2004 กลายเป็นนักกีฬาหญิงไทยคนแรกและยกน้ำหนักคนแรกที่ทำสำเร็จ ได้เหรียญทองในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ พร้อมกับคำว่า “สู้โว้ย” กลายเป็นวลีติดปากให้ฉายาเธอว่า “น้องอรสู้โว้ย”
วันดี คำเอี่ยม จากเด็กขี้โรคสู่เหรียญเกียรติยศ
หากย้อนไปสัก 30 ปีก็พอ ถ้ามีใครบอกว่าเด็กน้อยชื่อ “วันดี คำเอี่ยม” จะคว้าเหรียญโอลิมปิก คงไม่มีใครเชื่อเป็นแน่ เพราะในวัยเด็ก “แบ๋น” วันดี คำเอี่ยม เป็นเด็กขี้โรคเจ็บออดๆแอดๆ จึงหันเข้าหากีฬาหวังช่วยเยียวยาให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงเหมือนเด็กคนอื่นๆ
แน่นอนกีฬาช่วยได้จริง ทว่าการไขว่คว้าความสำเร็จนั่นกลับย่าก เพราะรูปร่างเตี้ย ด้วยเหตุนี้จึงหันเหไปเล่นกีฬายกน้ำหนักแทน ปรากฏว่าถูกโฉลก ยิ่งนานวันยิ่งฉายแวว
“แบ๋น” เกิดเมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2521 ที่อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ เป็นบุตรของนางราตรี คำเอี่ยม กับนายเสวียน คำเอี่ยม เริ่มเล่นกีฬายกน้ำหนักขณะเรียนอยู่ชั้นมัธยมปลาย จากการชักชวนของ อ.ประสงค์ สุระพล ถือเป็นนักกีฬายกน้ำหนักดาวรุ่งฝีมือฉกาจคนหนึ่ง ประสบความสำเร็จได้เหรียญทองกีฬามหาวิทยาลัยโลก ที่อิตาลี ก่อนที่โอลิมปิกเกมส์ 2004 ที่กรุงเอเธนส์ จอมพลังเมืองดอกลำดวนคว้า “เหรียญทองแดง” ยกน้ำหนักหญิง รุ่น 58 กิโลกรัม ในวันที่ 16 ส.ค.2547
ปวีณา ทองสุก อ่อนไหวแต่ไม่อ่อนแอหญิงแกร่งเมืองช้าง
ชื่อ “ไก่” ปวีณา ทองสุก ติดอยู่ในโผ “ตัวเต็ง” ที่จะคว้าเหรียญรางวัลโอลิมปิก2004 ซึ่งบนความหวังก็มาแฝงด้วยความกังวล หวั่นใจว่าจิตที่อ่อนไหวจะฉุดรั้งจอมพลังสาวจากเมืองช้างสุรินทร์ไปไม่ถึงจุดหมาย…ซ้ำรอยเหมือนครั้งศึกชิงแชมป์โลก ที่แคนาดาเมื่อปีกลาย
“ไก่” เธอ เกิด 18 เมษายน 2522 ที่อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ เป็นลูกคนที่ 2 ของนายนิรันดร์-นางสุกรี ทองสุก ถือเป็นจอมพลังหญิงที่แข็งแกร่งของไทยและที่สุดของโลกที่ต้องจารึกไว้ เข้าแข่งขันระดับนานาชาติครั้งแรก ในเอเชียนเกมส์ 1998 ที่กรุงเทพมหานคร แม้จะไม่มีเหรียญรางวัลแต่ไม่ท้อสู้ต่อจนคว้าเหรียญรางวัลมากมาย
วันที่ 20 ส.ค.2547 วันสุดท้ายของยกน้ำหนักไทยใน “เอเธนส์ 2004” และค่ำคืนนั้น “ไก่-ปวีณา” ได้มอบความสุขพร้อมรอยยิ้มให้กับพี่น้องชาวไทย ด้วย “เหรียญทอง” ยกน้ำหนักในรุ่นไม่เกิน 75 กก. อีกทั้งยังทำสถิติโอลิมปิกในท่าคลีนแอนด์เจิร์กที่น้ำหนัก 150 กก.อีกด้วย
ความอ่อนไหวแต่ไม่อ่อนแอ ทำให้ “ไก่” เป็นนักกีฬายกน้ำหนักคนที่ 2 ของไทย ที่ได้เหรียญทองโอลิมปิก
เยาวภา บุรพลชัย “ทองแดง” ประวัติศาสตร์เทควันโด
จอมเตะสาวหน้าหวาน “วิว” เยาวภา บุรพลชัย คือ นักกีฬาเทควันโดไทยคนแรกที่ประสบความสำเร็จในกีฬาโอลิมปิก กล่าวได้ว่าคือ ผู้เปิดประวัติศาสตร์และปลุกกระแสวงการกีฬาเทควันโดของไทยให้ตื่นตัว
“วิว” เกิดเมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2527 เป็นบุตรีของ ร้อยตรีธำรง และ นางสมศรี บุรพลชัย เริ่มเล่นเทควันโดครั้งแรกตั้งแต่อายุ 15 ปี ติดทีมชาติครั้งแรกในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ที่กรุงเทพฯ ปี 2541 มีผลงานมากมายในระดับนานาชาติทั้งจากเวทีเอเชียนเกมส์และชิงแชมป์โลก เป็นหนึ่งในขุนพลความหวังของ เทควันโด ที่มั่นใจว่า “เอเธนส์2004” มีเหรียญรางวัลแน่นอน ซึ่ง จอมเตะสาวหน้าหวาน ทำผลงานได้ยอดเยี่ยมคว้า “เหรียญทองแดง” มาครอง ในรุ่นฟลายเวท (ไม่เกิน 49 กิโลกรัม) เมื่อวันที่ 26 ส.ค.2547 ทำให้ “วิว” เยาวภา เป็นนักกีฬาเทควันโดคนแรกของไทยที่ได้เหรียญโอลิมปิกเกมส์
สุริยา ปราสาทหินพิมาย โลกรู้จักมวยรุ่นยักษ์ไทยก็มีฝีมือ
กำปั้นจากเมืองย่าโมถูกมองว่าเป็นเพียง “ม้านอกสายตา” ย่ากจะพาตัวเองไปถึงเหรียญรางวัลได้ ทว่า “สุริยา ปราสาทหินพิมาย” ได้ลบคำสบประมาทนั้น
มีศักดิ์เป็นหลานแท้ๆ ของ “สุข ปราสาทหินพิมาย” หรือ “ยักษ์ผีโขมด” ปรมจารย์มวยไทยแห่งบ้านรังกาใหญ่ เกิดเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2522 ภูมิลำเนาเป็นชาวจังหวัดนครราชสีมา ติดทีมชาติไทยไปแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 14 ที่เมืองบูซาน ประเทศเกาหลีใต้ ในปี 2545 และสร้างชื่อด้วยการคว้าเหรียญเงินก่อนคว้าโควต้าเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 28 ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ และในวันที่ 27 ส.ค.2547 สานฝันสำเร็จด้วย “เหรียญทองแดง” ในรุ่นมิดเดิลเวท 75 กก. ประกาศให้โลกรู้ว่า กำปั้นรุ่นยักษ์ของไทยนั้นก็มีฝีมือไม่เป็นสองรองใครเช่นกัน
มนัส บุญจำนงค์ กำปั้นเมืองโอ่ง “โคตรมวย” ตัวจริง
“เหนือคำบรรยาย” ต้องบอกว่าอย่างนั้น หากแฟนกีฬาไทยที่ได้ชมการชกของ “มนัส บุญจำนงค์” ยอดนักชกจากราชบุรี ในรอบชิงชนะเลิศ เมื่อวันที่ 28 ส.ค.2547
ลูกศิษย์ของ “ฮวน ฟอนตาเนียล” ยอดโค้ชชาวคิวบา เกิดเกิด 23 มิถุนายน 2523 เป็นชาว ต.พงสวาย อ.เมือง จ.ราชบุรี และบิดา/มารดา ชื่อนายมโน และนางมาลี บุญจำนงค์ และนับเป็นนักชกที่มากฝีมือประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในอาชีพชกมวย เป็นนักชกที่ชั้นเชิงลีลาแพรวพราว สายตาดี ครบเครื่อง ในการแข่งขันชิงตั๋วสู่โอลิมปิก 2004 “มนัส” โชว์ฟอร์มได้สุดสะพรึงถล่มคู่ต่อสู่แบบขาดลอยคนแล้วคนเล่าจนคว้าเหรียญทองพร้อมกับโควต้าสู่กรุงเอเธนส์ และกลายเป็นนักชกที่ถูกจับตามอง
รอบชิงชนะเลิศ นักชกจากราชบุรี โชว์ความเป็นยอดมวยด้วยการสอนเชิง จอห์นสัน เซเดโน่ ยูเดล นักชกคิวบา ด้วยผลชนะถึง 17-11 ผงาด “เหรียญทอง” ในรุ่นไลท์เวลเตอร์เวท และเป็นนักชกไทยคนที่ 3 ที่คว้าเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์
วรพจน์ เพชรขุ้ม หัวใจใหญ่กว่าตับนักสู้เมืองสุราษฎร์
ถูกมองเป็นเพียง “ม้านอกสายตา” เช่นกัน แม้ว่าในรอบคัดเลือกสู่โอลิมปิกจะทำผลงานได้โดดเด่นประทับใจ เอาชนะคู่ต่อกรได้แบบขาดกระจุย อีกทั้งด้วยความที่ต้องปล่อยน้ำหนักจากรุ่น 51 กก.ขึ้นมาตะบันในรุ่นน้ำหนัก 54 กก.ยิ่งทำให้เสียเปรียบทั้งรูปร่างและช่วงชก
เกิดเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2524 เป็นชาวจังหวัดสุราษฎร์ธานี “วรพจน์” เป็นนักมวยสากลสมัครเล่นของไทยที่เริ่มต้นสู่เส้นทางสายนี้ตั้งแต่อายุ 13 ขวบ เป็นนักชกที่ขยัน อดทน เต็มเปี่ยมด้วยหัวใจนักสู้ แม้ผลงานรอบคัดเลือกจะเด่นกระนั้นศึกโอลิมปิก2004 ก็ยังถูกมองผ่าน แต่ “ม้านอกสาย” ได้พิสูจน์พลังกำปั้นฟันฝ่าเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศ ในวันที่ 27 ส.ค.2547 ก่อนพ่ายให้กับ ริกอนดีอุค ออร์ติช กิลเลอร์โม่ ยอดกำปั้นชาวคิวบา 13-22 คะแนน แม้จะได้เพียง “เหรียญเงิน” แต่ผลงานครั้งนี้ “ม้านอกสายตา” อย่าง วรพจน์ เพชรขุ้ม ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า “หัวใจนั้นใหญ่กว่าตับ”
Add friend ที่ @Siamsport