เกาหลีใต้ ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีวัฒนธรรมด้านกีฬาเหนียวแน่น และคนเกาหลีก็ชื่นชอบที่จะเล่นกีฬาเป็นอย่างมาก ซึ่งหนึ่งในกีฬาที่ได้รับความนิยมไปทั่วดินแดนคือ “วอลเลย์บอล”
เกาหลีใต้ ที่เป็นชาติหัวแถวในการเล่นกีฬานี้มาอย่างยาวนาน ผลงานระดับชาติของพวกเขาโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ โดยเฉพาะในระดับเอเชียที่กวาดเหรียญรางวัลเป็นว่าเล่น
อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา วงการวอลเลย์บอลเกาหลีใต้ ถูกสื่อทั้งในและต่างประเทศโจมตีว่า พวกเขากำลังเข้าสู่ขาลงและไม่ยิ่งใหญ่เหมือนในอดีต โดยเฉพาะล่าสุดกับการแข่งขันรายการ เนชั่นส์ ลีก ที่พวกเขาแพ้รวดทั้ง 8 นัดตลอด 2 สัปดาห์ที่ลงแข่ง
เกิดอะไรขึ้นกับวงการวอลเลย์บอลเกาหลีใต้? ติดตามไปพร้อมกับ Main Stand
ความมืดดำในวงการวอลเลย์เกาหลี
ในปี 2021 ที่ผ่านมา วอลเลย์บอลเกาหลีใต้ ขึ้นสู่จุดสูงสุดอย่างไม่น่าเชื่อ หลังจากมีการทำแบบสำรวจจากชาวเกาหลีใต้ทั่วประเทศจากคำถามที่ว่า “กีฬาอะไรคือกีฬาที่ชื่นชอบมากที่สุด?” และ วอลเลย์บอล เอาชนะ เบสบอล และ บาสเกตบอล ไปแบบไม่มีใครคาดคิด
เหตุผลสำคัญมาจากความสำเร็จของทีมวอลเลย์บอลหญิงเกาหลีใต้ที่คว้าตำแหน่งอันดับ 4 มาจากการแข่งขันโอลิมปิก เกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น แบบเหนือความคาดหมาย เนื่องจากทีมชุดนี้เปิดโอกาสให้ผู้เล่นหน้าใหม่ๆเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีม
แต่ท่ามกลางความนิยม เกาหลีใต้ก็มีช่วงเวลาอันไม่น่าจดจำกับวงการวอลเลย์บอลเช่นกัน โดยเฉพาะปัญหาการบูลลี่ของนักกีฬาทีมชาติอย่าง อี ดา-ยอง และ อี แจ-ยอง ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2021 ซึ่งส่งผลกระทบมากกับภาพลักษณ์ที่ดีของวงการวอลเลย์บอลเกาหลีใต้
ท่ามกลางเสียงชื่นชมของชาวเกาหลีกับความสำเร็จของทีมชาติ วงการวอลเลย์บอลเกาหลีใต้กลับไม่ได้เติบโตขึ้นเลย จากปัญหาภายในวงการ ทั้ง จอง จีซ็อค นักวอลเลย์บอลชายชื่อดังที่ถูกจับกุมเพราะทำร้ายแฟนสาว รวมถึงปัญหาการทะเลาะกันภายในทีม ฮวาซอง ไอบีเค อัลตอส ระหว่างเฮดโค้ช ซอ นัมวอน กับกัปตันทีม โช ซองฮวา จนทั้งสองฝ่ายถูกต้นสังกัดยกเลิกสัญญา
วอลเลย์บอลเกาหลีใต้ประสบความสำเร็จมากก็จริง แต่ภาพลักษณ์หลังความสำเร็จของกีฬาดูเหมือนถูกปกคลุมด้วยความมืดดำบางอย่าง โดยเฉพาะภาพลักษณ์ของนักวอลเลย์บอลที่ดูเหมือนเป็นพวกสร้างข่าวฉาวได้ตลอดเวลาไม่ว่าจะมีชื่อเสียงหรือไม่ก็ตาม
ปัญหาทั้งหมดเกิดขึ้นอย่างมีสาเหตุ นั่นคือปัญหาการสร้างนักกีฬาที่โหดร้ายในสังคมเกาหลีใต้ที่ยังคงล้าหลังกับการใช้ระบบรุ่นพี่-รุ่นน้องที่เข้มข้น มีการแบ่งชนชั้นระหว่างนักกีฬาที่เปิดให้โอกาสให้ผู้อาวุโสสามารถลงโทษคนที่อายุน้อยกว่าได้ รวมถึงโค้ชกีฬาหลายคนก็ยังเลือกพัฒนานักกีฬาผ่านการใช้ไม้แข็งด้วยการทำร้ายร่างกาย
กล่าวง่ายๆคือ สังคมกีฬาวอลเลย์บอล (และอีกหลายกีฬาในเกาหลีใต้) แนวคิดอำนาจนิยมยังคงมีบทบาทสำคัญ ซึ่งนำไปสู่การเกิดสังคมบูลลี่อย่างมากภายในวงการกีฬา และการใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผลดูก็เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นเช่นกัน
ในปี 2021 ที่ผ่านมา มีเคสการบูลลี่เกิดขึ้นภายในวงการกีฬาที่ได้รับการจดบันทึกมากถึง 150,000 ครั้งในทุกระดับ ด้วยปริมาณการเกิดปัญหาที่เยอะขนาดนี้ ทำให้ฉากหลังของวงการกีฬาในเกาหลีใต้กลายเป็นสังคมที่ Toxic สำหรับคนภายใน และหลายคนก็เลือกเดินออกมา
ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา เกาหลีใต้ต้องเสียบุคลากรจำนวนมากหรือในทางหนึ่งคือ ทรัพยากรที่จะพัฒนาคุณภาพกีฬาของประเทศ เนื่องจากหลายคนเลือกหันหลังเดินออกไป เพราะไม่อยากอยู่ในสังคมที่ทำร้ายร่างกายและจิตใจเช่นนี้
“มีนักกีฬาระดับนักเรียนจำนวนมากในเกาหลีใต้ถูกทำร้ายร่างกายในการฝึกซ้อมโดยโค้ชและรุ่นพี่ และเมื่อพวกเขาโตขึ้น พวกเขาก็จะทำแบบนี้ต่อไปกับเด็กรุ่นหลัง” พัค จูฮัน หัวหน้าของหน่วยงาน Blue Tree Foundation องค์กรต่อต้านการบูลลี่ในสังคมกีฬาของประเทศเกาหลีใต้ กล่าว
“ทุกวันนี้ นักกีฬาในเกาหลีใต้กลัวกันมากว่าพวกเขาจะโดนกล่าวหาว่าเคยโดนบูลลี่คนอื่นมาก่อน ทั้งที่พวกเขาก็โดนบูลลี่มาก่อนเหมือนกัน” จูฮัน ย้ำถึงปัญหาที่ฝังลึกในเกาหลีใต้
สุดท้าย ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ วงการกีฬาเกาหลีใต้ต้องเสียนักกีฬาอนาคตไกลไปเป็นจำนวนมาก ทำให้โอกาสที่จะได้ผู้เล่นระดับอาชีพฝีมือดีก็น้อยลงเช่นกัน
ผลลัพธ์ที่ตามมา
การสูญเสียนักกีฬาอนาคตไกลจำนวนมากส่งผลกระทบชัดเจนในปัจจุบันกับทีมชาติวอลเลย์บอลหญิงเกาหลีใต้จากผลงานแพ้รวดทั้ง 8 นัดตลอด 2 สัปดาห์ในการแข่งขันวอลเลย์บอล เนชั่นส์ ลีก 2022 ซึ่งถือว่าเกินความคาดหมายอย่างมาก
เกาหลีใต้เองรู้ดีว่าต้องเจอกับสถานการณ์ที่ยากลำบากในการสร้างความสำเร็จให้วอลเลย์บอลหญิง หลังจาก 3 ผู้เล่นตัวหลักสายเก๋า ทั้ง คิม ยอนคยอง, คิม ซูจี, ยาง ฮโยจิน ต่างประกาศรีไทร์จากการเล่นทีมชาติ ความหวังทั้งหมดจึงต้องไปอยู่กับผู้เล่นหน้าใหม่ที่ไม่ได้ผ่านประสบการณ์ในเกมระดับชาติมาเท่าไหร่นัก
ทั้งนี้ ทางเกาหลีใต้เองมีความคาดหวังอย่างมากในเด็กชุดใหม่นี้ เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทีมชาติเกาหลีใต้ทำผลงานได้ดีอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้เป้าหมายของการสร้างทีมครั้งใหม่อยู่ที่การเข้าสู่รอบรองชนะเลิศการแข่งขันวอลเลย์บอลหญิงในโอลิมปิก เกมส์ 2024 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
แต่ผลงานที่ย่ำแย่ในเนชั่นส์ คัพ กลายเป็นสิ่งที่ตบหน้าวงการวอลเลย์บอลเกาหลีใต้ให้มาอยู่กับความเป็นจริงอีกครั้ง เพราะผลงานครั้งนี้ย่ำแย่จนถึงขนาดที่ Naver เว็บไซต์ชื่อดังของเกาหลีใต้ วิจารณ์ว่าการมีผลงานที่แย่กว่าทีมชาติไทย (ชนะ 4 แพ้ 4) ซึ่งถูกมองว่าเป็นทีมที่ดีไม่เท่าเกาหลีใต้ ในสายตาของสื่อเกาหลีจึงถือเป็นเรื่องที่รับไม่ได้กับการพ่ายรวดจนหาชัยชนะไม่เจอครั้งนี้
มีเสียงเรียกร้องอย่างมากจากแฟนวอลเลย์บอลในเกาหลีใต้ให้มีการดึงเอา คิม ยอนคยอง สุดยอดนักวอลเลย์บอลกลับกู้วิกฤตทีมชาติอีกครั้ง แต่แน่นอนว่านั่นคือการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุและไม่ได้ตอบโจทย์กับทีมชาติในระยะยาว แทนที่จะไปรื้อระบบการสร้างนักกีฬาเยาวชนและลงมือแก้ไขปัญหาการบูลลี่อย่างจริงจัง
“ผมพูดตามตรงนะ นี่คือวิกฤตของวงการวอลเลย์บอลเกาหลีใต้ที่กำลังเกิดขึ้น เราอยู่ในช่วงจุดเปลี่ยนที่สำคัญ” บุคคลไม่ประสงค์ออกนามในวงการวอลเลย์บอลเกาหลีใต้ กล่าว
อนาคตจะเป็นอย่างไร?
เกาหลีใต้ไม่ได้มีแผนการในการเตรียมพร้อมรับมือกับความตกต่ำที่เกิดขึ้นเลย และทางแก้ในตอนนี้ก็มีแค่อย่างเดียวเท่านั้นคือ การทาบทามดึงผู้เล่นตัวเก๋าที่เลิกเล่นไปแล้วกลับมาอีกครั้ง
แฟนวอลเลย์บอลเกาหลีใต้ตอบสนองกับกระแสที่เกิดขึ้นเป็นสองส่วน ฝั่งหนึ่งต้องการให้ผู้เล่นที่เลิกเล่นไปหลังจบโอลิมปิกกลับมาช่วยทีมเป็นการชั่วคราว แต่อีกฝ่ายก็ไม่พอใจที่จะต้องดึงผู้เล่นหน้าเก่ากลับมา เพราะคิดว่าทีมควรเดินหน้าต่อและหาทางแก้ไขปัญหาเพื่อให้ทีมกลับมาอีกครั้ง
ขณะที่ เซซาร์ เอร์นานเดซ กอนซาเลซ เฮดโค้ชของทีมได้ออกมาปลุกใจทั้งผู้เล่นและแฟนๆ ขอให้อดทนกับช่วงเวลาที่ผลงานทีมย่ำแย่แบบนี้ เพราะมองว่าความพ่ายแพ้เป็นหนึ่งในการพัฒนาที่สำคัญที่จะช่วยทำให้เด็กๆชุดนี้แข็งแกร่งต่อไป
แน่นอนว่ายังมีสื่อในเกาหลีใต้ที่ตั้งข้อสังเกตว่า ผลงานที่ย่ำแย่ในช่วงนี้ของเกาหลีใต้อาจเป็นการถอยหลังเพื่อเดินหน้า เพราะการเปลี่ยนยุคสมัยของผู้เล่นในกีฬาวอลเลย์บอลสามารถนำมาซึ่งผลงานที่ย่ำแย่ได้เป็นเรื่องปกติ และเมื่อทีมเข้ารูปเข้ารอยก็พร้อมจะเดินหน้าต่อไปได้
อย่างไรก็ตาม ก็มีสื่อที่ชี้ถึงปัญหาภายในของวงการวอลเลย์บอล โดยเฉพาะสังคมอำนาจนิยมที่ทำให้นักวอลเลย์บอลหลายคนเติบโตเป็นนักกีฬาที่มีทัศนคติที่ไม่ดีนัก และมีนิสัยชอบข่มขู่รุ่นน้องจนทำให้ทีมปราศจากทีมเวิร์ก
สำหรับใครที่เชื่อว่าวงการวอลเลย์บอลเกาหลีใต้มีปัญหาอยู่ภายในก็จะไม่มองผลงานอันตกต่ำของทีมวอลเลย์บอลหญิงในปัจจุบันเป็นเรื่องผิดปกติ แต่จะมองว่าเป็นความจริงอันดำมืดที่ซ่อนตัวอยู่นานและถึงเวลาเผยโฉมให้ทุกคนได้เห็นเสียที
อี ซอคฮี นักข่าววอลเลย์บอลของเกาหลีใต้ เขียนในคอลัมน์ของเขาว่า เกาหลีใต้ตอนนี้อยู่คนละระดับกับ ญี่ปุ่น จีน และ ไทย อย่างไม่มีข้อโต้แย้ง
ทั้งหมดก็เป็นเพราะคุณภาพของผู้เล่นรุ่นใหม่ของเกาหลีใต้ตกต่ำกว่าผู้เล่นรุ่นก่อนมานานแล้ว โดยเฉพาะเรื่องปัญหาทีมเวิร์ก นอกจากนี้ อี ซอคฮี ยังเชื่อว่าทีมเกาหลีใต้ชุดนี้จะไม่มีทางประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย นั่นคือการเข้าสู่รอบรองชนะเลิศในการแข่งขันโอลิมปิกในอีก 2 ปีข้างหน้า ถึงขั้นที่เรียกเป้าหมายนี้ว่าเป็น “ฝันจอมปลอม” เลยทีเดียว เพราะในสายตาของนักข่าวรายนี้ เขาเชื่อว่าเกาหลีใต้จะไม่ได้ผ่านเข้าไปแข่งในโอลิมปิกรอบสุดท้ายด้วยซ้ำ
อี ซอคฮี ยังโจมตีว่าวงการวอลเลย์บอลเกาหลีใต้ล้าหลังกว่าที่หลายคนคิด มีวัฒนธรรมเก่าๆมากมายที่ส่งผลต่อการพัฒนาฝีมือของผู้เล่น และเรียกได้ว่าจะไม่สามารถสร้างผู้เล่นระดับโลกขึ้นมาได้อีกต่อไป
ตอนนี้จึงกลายเป็นการมองสองมุมต่อวงการวอลเลย์บอลเกาหลีใต้ ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะมองปัญหาฟอร์มตกของทีมวอลเลย์บอลหญิงเกาหลีใต้ว่าเป็นแค่อุบัติเหตุจากการเปลี่ยนยุค หรือจะมองว่าเกิดจากปัญหาหลายอย่างที่ถูกซุกอยู่ใต้พรมมาเป็นเวลาเนิ่นนาน
(หมายเหตุ : บทความนี้เขียนขึ้นก่อนการแข่งขันวอลเลย์บอลหญิงเนชั่นส์ ลีก รอบ 3 สัปดาห์แรกจะจบลง ซึ่งผลในท้ายที่สุดปรากฏว่า ทีมชาติเกาหลีใต้ แพ้รวดทั้ง 12 นัด จมบ๊วยของรายการประจำปีนี้)