มีวันหยุดยาวหลายวัน ผมทำต้นฉบับไว้ล่วงหน้า จึงไม่ขอนำ ข่าวมาวิเคราะห์ แต่ขอนำนิทานอีสปที่ยังไม่ได้ถูกแปลเป็นภาษาไทย มาเผยแพร่ 4 เรื่อง 4 วันดังนี้
“กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว” ป่าใหญ่แห่งหนึ่งมีฝนตกหนักยาวนานถึงหลายวัน จนป่าแห่งนั้นเกิดอุทกภัยอย่างกว้างขวาง สัตว์ป่าต่างหนีการจมน้ำตายกันจ้าละหวั่น
มีหนูสองตัวและกระต่ายหนึ่งตัว “รอดตาย” เพราะได้อาศัยบนซุงใหญ่ โดยซุงลอยมาตามกระแสน้ำหลายวัน แล้วพลัดเข้าไปในแม่น้ำสายหนึ่ง
เมื่อฝนหยุดตก “สามชีวิตที่รอดตาย” ก็พบว่า ซุงลอยต่อไปไม่ได้ เพราะท้องซุงติดอยู่กับแนวหินขนาดใหญ่กลางแม่น้ำ
“ขณะที่สามชีวิตเตรียมตัดสินใจ จะว่ายน้ำไปสู่ชายฝั่งตะวันออกที่มีระยะทางอยู่ใกล้ซุงที่สุด”
จู่ๆ ก็มีจระเข้ขนาดใหญ่ตัวหนึ่งลอยคอมาใกล้ซุงแล้วเอ่ยกับพวกมันอย่างมีเมตตาว่า
“ท่านหนูและท่านกระต่ายเอ๋ย จงอย่าได้ว่ายน้ำไปขึ้นตลิ่งฝั่งตะวันออกอย่างเด็ดขาด เพราะฝนห่าใหญ่กำลังจะมาตกที่ป่าฝั่งนี้ในไม่ช้า แล้วจะเกิดน้ำท่วมขนาดใหญ่ตามมา ถ้าท่านทั้งสามอยากมีชีวิตรอด จงว่ายน้ำไปขึ้นที่ตลิ่งฝั่งตะวันตกซึ่งจะปลอดภัยจากฝนตกใหญ่และน้ำท่วม”
สัตว์ทั้งสามที่อยู่บนซุงก็ร้องบอกกับจระเข้ว่า “ตลิ่งฝั่งตะวันตกนั้นอยู่ห่างไกล พวกเราคงว่ายน้ำฝ่าความเชี่ยวของกระแสน้ำไปไม่ถึงตลิ่ง”
จระเข้ใจดีจึงรีบบอกว่า “พวกท่านจงขึ้นมาอยู่บนหลังของเราเถอะ แล้วเราจะว่ายน้ำพาท่านทั้งสามไปส่งถึงตลิ่งฝั่งตะวันตก”
“สัตว์ทั้งสามจึงตัดสินใจกระโดดจากซุงขึ้นไปอยู่หลังจระเข้ทันที”
ก่อนที่จระเข้จะว่ายน้ำพาสามชีวิตบนหลังของมันไปยังตลิ่งฝั่งตะวันตก หนูสองตัวก็ได้สังเกตเห็นว่า บนตลิ่งฝั่งตะวันออกนั้น มีฝูงแพะ แกะ และวัวควายจำนวนมากกำลังกินหญ้าอย่างมีความสุข “ทำให้หนูทั้งสองฉุกคิด” ถ้อยคำของจระเข้น่าจะเป็น “คำโกหก” และ “บัดนี้ชีวิตของพวกมันกำลังตกอยู่ในอันตราย”
ดังนั้น หนูทั้งสองตัวจึงตัดสินใจกระโดดจากหลังจระเข้ว่ายน้ำไปสู่ตลิ่งฝั่งตะวันออกของแม่น้ำ
เมื่อหนูทั้งสองขึ้นสู่ฝั่งได้สำเร็จ มันได้เหลียวมองมาที่หลังจระเข้กลางแม่น้ำ ปรากฏว่ากระต่ายตัวที่อยู่หลังจระเข้นั้น “ได้หายไปแล้ว” แต่ที่ปากจระเข้มีกระต่ายตัวดังกล่าว กลายเป็นอาหารของมัน
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า “การไม่หลงเชื่อใครง่ายๆ นั้น คือเกราะป้องกันภัยให้แก่ชีวิตตัวเอง”
กมลศักดิ์ ตั้งธรรมนิยม