เผยแพร่: ปรับปรุง:
นิค แคนดี มหาเศรษฐีชาวสหราชอาณาจักร ยืนยันยังต้องการเทกโอเวอร์ เชลซี ยักษ์ใหญ่แห่ง พรีเมียร์ ลีก โดยคาดว่าการคว่ำบาตร โรมัน อบราโมวิช เจ้าของทีม จะเร่งรัดการซื้อ-ขายสโมสร
นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ วัย 49 ปี เป็นสาวก “เดอะ บลูส์” คนหนึ่ง และเตรียมเข้าชมการแข่งขัน พรีเมียร์ ลีก พบ นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ที่สแตมฟอร์ด บริดจ์ สุดสัปดาห์นี้ (13 มี.ค.)
แคนดี ให้คำมั่นจะยึดกองเชียร์ “สิงห์บลูส์” เป็นศูนย์หน้า สำหรับการบริหารจัดการสโมสร ร่วมกับนักลงทุนชาวอเมริกัน
แคนดี ให้สัมภาษณ์ “เดลี เมล” หนังสือพิมพ์ของอังกฤษ “เรากำลังตรวจสอบรายละเอียด และเรายังสนใจยื่นข้อเสนอ เห็นได้ชัดว่า นี่เป็นเวลาหน้าสิ่งหน้าขวานของแฟนๆ เชลซี ทุกคน ตามวิสัยทัศน์ของเรา ไม่มีใครเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอล คุณเป็นเพียงแค่ผู้ดูแลสโมสรแทนแฟนๆ และชุมชน”
แคนดี กำลังเจรจากับผู้ร่วมลงทุน ด้วยความจริงว่า การขายสโมสรตอนนี้จะต้องผ่านการอนุมัติอย่างเป็นทางการจาก รัฐบาลสหราชอาณาจักร
“เดลี เมล” เข้าใจว่า อบราโมวิช ปฏิเสธข้อเสนอมูลค่าต่ำกว่า 2 พันล้านปอนด์ (87,000 ล้านบาท) จากกลุ่มทุนอเมริกันรายหนึ่ง หากพิจารณาจำนวนผู้ที่สนใจ คาดว่าราคาขายน่าจะสูงกว่ามูลค่าดังกล่าว ถึงแม้ “เสี่ยหมี” ไม่ได้รับเงินเข้ากระเป๋า หรือองค์กรการกุศลของตัวเอง
แคนดี เชื่อมั่นว่า แชมป์ยุโรป 2 สมัย สามารถทำกำไรได้ แม้ว่าประสบปัญหาขาดทุน 145 ล้านปอนด์ (6,300 ล้านบาท) เมื่อปีที่แล้ว จากการเติบโตของแบรนด์สโมสรทั่วโลก, การตอบรับของตลาดลงทุนใหม่ๆ และสร้างรายได้มากขึ้นจากการปรับปรุงสนามเหย้า
ความเชื่อเช่นนี้เหมือนกับนักลงทุนรายอื่นๆ โดยมีข้อเสนอมูลค่าสูงกว่า 2 พันล้านปอนด์ ของ ทอดด์ โบห์ลี กับ ฮันส์ยอร์ก วิสส์ วางอยู่บนโต๊ะ ขณะที่ ทอม ริคเก็ตต์ส เจ้าของ ชิคาโก คับส์ กับ วูดี จอห์นสัน เจ้าของ นิว ยอร์ก เจฺ็ตส์ แสดงความสนใจอย่างจริงจัง
เงื่อนไขของใบอนุญาตฉุกเฉิน ซึ่งออกโดยรัฐบาล ไม่อนุญาตให้ขายสโมสร ทว่า โฆษกรัฐบาล ยืนยันว่า จะพิจารณาคำร้องขอใบอนุญาตใหม่ เพื่อให้เกิดการขายกิจการ
สถานการณ์ซึ่งผู้สนับสนุนตัดความสัมพันธ์ และขาดรายได้จากการจำหน่ายตั๋ว และของที่ระลึกต่างๆ ส่งผลให้ “สิงโตน้ำเงินคราม” ต้องขายสโมสรอย่างเร่งด่วน เพื่อความอยู่รอด เนื่องจากไม่มีงบประมาณดำเนินธุรกิจต่อเกินกว่า 2-3 เดือน
อบราโมวิช ไม่เหลือทางเลือกอื่นๆ นอกเสียจากรีบตอบรับข้อเสนอ แต่ถึงการขายประสบความสำเร็จ มูลค่าของสโมสรจะถูกรัฐบาลนำไปบริหารจัดการ โดยนำไปอายัติ หรือบริจาคแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากภัยสงคราม