ในที่สุดสงครามที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น หรือคิดว่าจะเกิดขึ้นใน พ.ศ.นี้ก็เกิดขึ้นจนได้ เมื่อรัสเซียกรีฑาทัพยึดยูเครนจนเกิดการสู้รบที่นำไปสู่การบาดเจ็บล้มตายกันเป็นจำนวนมากขึ้น
ผู้คนซึ่งเดิมเคยอยู่กันเป็นปกติสุขเป็นเรือนล้าน ต้อตะเกียกตะกาย ทุลักทุเลหอบลูกจูงหลานหลบหนีภัยอันตรายออกจากประเทศบ้านเกิดเมืองนอน
สงครามจะอย่างไรก็เป็นความผิดหวัง ความเศร้าสร้อยของมนุษยชาติโดยแท้จริง
ศึกยึดประเทศระหว่างรัสเซียกับยูเครนสร้างความกังวลไปทั่วโลก ที่กังวลมากที่สุดเห็นจะเป็นในภาคพื้นยุโรปและชาติตะวันตก ที่รวมตัวกันตอบโต้ด้วยการประกาศการแซงก์ชั่นต่อรัสเซีย
ซึ่งทำให้โลกต้องเป็นกังวล ถัดมา คือกังวลในผลกระทบต่อเนื่องที่สงครามครั้งนี้จะก่อให้เกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจ การเงิน ที่เพิ่งจะฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19, ระบบห่วงโซ่อุปทานกำลังติดๆ ขัดๆ, ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงถีบตัวสูงลิบตามภาวการณ์ ฯลฯ
แต่ที่ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงเตือนให้ระวังเป็นพิเศษก็คือ ระวังสงครามไซเบอร์ ที่เชื่อว่าจะเกิดขึ้นตามมาหลังจากนานาชาติประกาศแซงก์ชั่น
รัสเซีย
เหตุผลง่ายๆ ก็คือ สงครามไซเบอร์เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของกองทัพรัสเซียอยู่ก่อนแล้ว และมีการเตรียมการ เตรียมสรรพกำลังด้านนี้ไว้พร้อมมาตลอด
อดัม เมเยอร์ส รองประธานด้านการข่าวของบริษัท คราวด์สไตรค์ บริษัทธุรกิจด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ ชี้ให้เห็นว่า ไม่ช้าไม่นานก่อนหน้าที่รัสเซียจะส่งกำลังเข้าสู่ยูเครน ก็เริ่มต้นด้วยปฏิบัติการทางไซเบอร์
ราวปลายเดือนมกราคมต่อเนื่องมาจนถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กลุ่มแฮกเกอร์ที่มีความเชื่อมโยงอยู่กับสำนักงานข่าวกรองทางทหาร (จีอาร์ยู) ของรัสเซีย เริ่มปฏิบัติการโจมตีทางไซเบอร์ต่อเว็บไซต์รัฐบาลยูเครน ต่อด้วยการโจมตีเว็บไซต์ของธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ
วิธีการที่ใช้เป็นวิธีการง่ายๆ แต่ได้ผลมากที่สุดวิธีการหนึ่ง นั่นคือ การใช้ “ดีดีโอเอส” (distributed denial of service-DDoS) ส่งคำสั่งร้องขอให้เว็บไซต์ที่เป็นเป้าหมายตอบสนองนับล้านๆ คำสั่งในชั่วเวลาสั้นมากๆ ให้เกินกำลังประมวลผลของเซิร์ฟเวอร์ จนต้องปิดตัวไปในที่สุด
แต่นั่นเป็นเพียงแค่เริ่มต้น ไม่กี่วันให้หลัง ไมโครซอฟท์ อิงค์. แถลงว่า พบเครือข่ายคอมพิวเตอร์จำนวนมากของรัฐบาลยูเครนของกองทัพและหน่วยงานของรัฐ ติด “มัลแวร์” หรือซอฟต์แวร์ประสงค์ร้าย ที่มีเป้าหมายเพื่อทำลายล้างคอมพิวเตอร์ในเครือข่าย แต่อยู่ในสภาพที่ถูกแปลงโฉมให้ดูเหมือนเป็น “แรนซัมแวร์” หรือซอฟต์แวร์เรียกค่าไถ่ ที่ระบาดหนักมากในช่วงปี 2021 ที่ผ่านมา
เป้าหมายจริงๆ ของมัลแวร์เหล่านี้ก็คือการทำลายข้อมูลและระบบ เพื่อสร้างความปั่นป่วนขึ้นกับเครือข่ายจนไม่อาจใช้งานได้อีก
ไม่ได้ต้องการค่าไถ่ใดๆ ทั้งสิ้น
นั่นคือตัวอย่างของสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับโลกตะวันตกในอนาคตอันสั้น หลังการแซงก์ชั่นรัสเซีย
ยุทธการไซเบอร์ หรือไซเบอร์ วอร์แฟร์ ยังคงเป็น “พื้นที่สีเทา” ในสงครามบนโลกยุคใหม่ในเวลานี้
ที่ยังคงเป็นเช่นนั้นเนื่องจากการพิสูจน์ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือโจมตี ยังจำเป็นต้องใช้เวลา และไม่จำเป็นเสมอไปว่า จุดที่โจมตีจะเป็นพื้นที่หรือประเทศซึ่งต้องการโจมตีประเทศอื่นจริงๆ
ตัวอย่างเช่น ในกรณีของยูเครนข้างต้น จุดที่ส่งสัญญาณโจมตีต่อเว็บไซต์ในยูเครนเป็นหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งในสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อสาวต่อไปอย่างถี่ถ้วนจึงพบการเชื่อมโยงของสัญญาณไปสู่สถานที่ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับกลุ่มแฮกเกอร์และจีอาร์ยู
หลักฐานเพียงแค่นั้นจะใช้เอาผิดกับประเทศต้นทางได้หรือไม่ ยังถกเถียงกันอยู่จนถึงขณะนี้
สงครามไซเบอร์ยังจำกัดขอบเขตได้ยาก และส่งผลกระทบกว้างขวางในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่รัสเซียต้องการโจมตีตอบโต้การ
แซงก์ชั่นของนานาชาติเช่นนี้
หน่วยข่าวกรองของอเมริกันและอังกฤษต้องออกมาเตือนให้สังคมทั่วไปได้รับทราบและระวังตัวก็เพราะเหตุนี้
เมื่อปี 2017 รัสเซียเคยโจมตียูเครนด้วยมัลแวร์ชื่อ “น็อทเพทย่า” (NotPetya) ทำให้เครือข่ายคอมพิวเตอร์แทบทั่วประเทศเป็นอัมพาต แต่ส่งผลสะเทือนไปทั่ว ระบบคอมพิวเตอร์ของบริษัทข้ามชาติใหญ่ๆ อย่าง เฟดเอ็กซ์, เมิร์ค, แคดบิวรี ฯลฯ ถูกปิดตายตามไปด้วย
ล่าสุด มัลแวร์ที่ใช้โจมตีรู้จักกันในชื่อ “วิสเพอร์เกต” (WhisperGate) และเป็นที่ชัดเจนว่าไม่ต้องการค่าไถ่ แต่ต้องการทำลายล้างข้อมูลในเครือข่ายที่ตกเป็นเป้าทั้งหมด
มัลแวร์เหล่านี้ลุกลามได้มากและเร็ว สร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นได้สูงมาก
เริ่มตั้งการ์ดระมัดระวังตัวกันเสียตั้งแต่ตอนนี้เป็นดีที่สุดครับ