ก้าวสู่การเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เสื้อฟุตบอลทีมชาติไทยอย่างต่อเนื่องยาวนานนับจากปี 2560-2572 เซ็นสัญญากับสมาคมบาสเกตบอลแห่งประเทศไทย ต่อเนื่องอีก 5 ปี เจาะตลาดหลายประเทศในอาเซียน ไม่ว่า มาเลเซีย สิงคโปร์ พม่า ลาว อินโดนีเซีย และไปไกลถึงญี่ปุ่น ด้วยวิสัยทัศน์การขยายแบรนด์ ไปสู่ Regional ขณะที่มูลค่าของแบรนด์ Warrix ปัจจุบันอยู่ในระดับไม่น้อยกว่าพันล้านบาท
ด้วยวิสัยทัศน์ และปรัชญาในการทำธุรกิจที่น่าสนใจ เน้นการเติบโตอย่างยั่งยืน นับแต่เริ่มต้นเปิดบริษัท ในปี 2556 กระทั่งปัจจุบัน เป็นระยะเวลาไม่ถึง 10 ปีนอกจากรายได้มหาศาลแล้ว ยังได้รับความไว้วางใจ จากฟุตบอลทีมชาติไทยและสมาคมบาสเกตบอลแห่งประเทศไทย ให้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เสื้อฟุตบอลและบาสเกตบอลทีมชาติในระยะเวลานานหลายปี
‘ผู้จัดการออนไลน์’ สัมภาษณ์พิเศษ วิศัลย์ วนะศักดิ์ศรีสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Warrix ถึงเส้นทางความเป็นมา กระทั่งก้าวสู่ความสำเร็จดังที่กล่าวไว้ข้างต้น อีกทั้งทิศทางหรือเป้าหมายในอนาคตของแบรนด์ รวมทั้งการผลักดันคลินิกกายภาพที่ให้ความสำคัญต่อสุขภาพ ที่เปิดมาตลอดนับแต่กลางปีที่แล้ว และไม่เคยปิดแม้ในสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 เนื่องด้วยการทำกายภาพเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นสำหรับทุกผู้คน โดยเฉพาะผู้ที่ผ่านการผ่าตัด นักกีฬาที่บาดเจ็บ หรือแม้แต่พนักงานที่เป็นออฟฟิศซินโดรม หลายสิ่งที่นักธุรกิจผู้นี้ริเริ่ม และสร้างขึ้นจึงน่าสนใจยิ่งว่าภายในระยะเวลาไม่ถึง 10 ปี เขาก้าวมาสู่จุดนี้ได้อย่างไร และก้าวขึ้นมาด้วยปรัชญาการทำธุรกิจเช่นไร>>> จุดเริ่มต้นของ ‘วอริกซ์’
หากถามถึงความเป็นมาของแบรนด์ ‘วอริกซ์’ ว่าเริ่มต้นขึ้นได้อย่างไร
วิศัลย์ตอบว่า “เกิดขึ้นจากตัวผม เดิมทีผมทำยูนิฟอร์มโรงเรียนนานาชาติ ยูนิฟอร์มบริษัท แล้วก็เสื้อพรีเมี่ยม จากนั้น ได้มีโอกาสช่วยเหลือเพื่อนคนหนึ่งที่เขาทำธุรกิจด้านเสื้อกีฬานะครับ ตอนแรกพยายามไปลงทุนร่วมกัน แต่แนวทางไปด้วยกันไม่ได้ ก็เลยแยกกัน เราก็มาทำแบรนด์เสื้อกีฬาของเราเอง
วิศัลย์เล่าว่า แบรนด์วอริกซ์ ค่อยๆ เริ่มต้นขึ้นในตอนนั้น ซึ่งเดิมทีก็ไม่ได้คิดว่าจะเติบโตอะไรมากนัก เพียงคิดว่าเป็นโอกาสทางธุรกิจที่เป็นเทรนด์หนึ่งที่เติบโต เนื่องจากถ้าเป็นสิ่งทอแบบรับจ้างผลิตเช่นคนรุ่นก่อนทำ เช่น รับจ้างทำเสื้อให้ไนกี้ หรืออาดิดาส
“แต่ผมมองว่า ถ้าแบบนั้น แบรนด์รายใหม่เกิดยาก เพราะค่าแรงก็แพงขึ้นทุกวัน ปัจจัยการแข่งขันก็สู้ประเทศที่ค่าแรงถูกกว่าไม่ได้ ก่อนมาทำวอริกซ์ ผมก็ทำยูนิฟอร์มของเราเองด้วย แล้วก็มี Innovation ของเรา แต่พอมาจับตลาดเสื้อกีฬา ผมมองว่ามันเป็นโกลบอลเทรนด์ที่เติบโตสำหรับสปอร์ตแวร์ เป็นเรื่องของการทำแบรนด์ ที่ไม่ได้ทำแบบโรงงาน แต่เป็นโกลบอลเทรนด์”
วิศัลย์กล่าวว่า สปอร์ตแวร์ที่เติบโตได้ดี Segment ใหญ่ๆ จะอยู่ที่กีฬาฟุตบอล “ผมจึงเริ่มทำสปอร์ตแวร์ของวอริกซ์เริ่มกิจการปี 56 ด้วยแบรนด์กีฬาฟุตบอล ในช่วงแรกก็เข้าสู่ฟุตบอลไทยลีก ทำลักษณะ License อีกอย่างที่เป็นจุดเริ่มต้นของวอริกซ์ ที่เป็นความชำนาญของผมคือ ผมชอบศึกษาหาความรู้เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ก็นำ เรื่อง License business มาใช้ เรียกว่าเป็น Game Changer ก็ได้ เรื่องลิขสิทธิ์เสื้อสโมสรฟุตบอล ผมก็ลองใช้เทคนิคใหม่ คือ Marketing License เหมือนที่ยุโรปใช้ก็ประสบความสำเร็จดี ตั้งแต่ทำสองทีมแรก คือ เชียงใหม่กับโคราช แล้วก็ค่อยๆ ขยายไปสิบกว่าจังหวัด ถึง 20 จังหวัด
“ทำอยู่สามปี ยอดขายก็เติบโตจาก 60 กว่าล้านบาทในปีแรก เป็น 130 กว่าล้านบาท และ 180 กว่าล้านบาทในปีที่สาม เมื่อถึงปีที่สาม เราทำในระดับสโมสรต่างจังหวัดเยอะๆ ใช้กลยุทธ์ป่าล้อมเมือง สโมสรในจังหวัดใหญ่ๆ อย่างเชียงใหม่ โคราช สุพรรณบุรี อุบลราชธานี อุดรธานี จังหวัดหลักๆ จังหวัดใหญ่ๆ ทำการตลาด กระจายไปสู่ลูกค้าในจังหวัดใหญ่ๆ เหล่านั้น” วิศัลย์ระบุถึงจังหวะก้าวย่างของแบรนด์>>> ก้าวสู่การเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เสื้อฟุตบอลทีมชาติไทย จากปี 2560-2572
เมื่อทำธุรกิจแบรนด์วอริกซ์เข้าสู่ปีที่สาม ก็เปรียบเสมือน ‘ฟ้าเปิด’ ให้มีการประมูลทำเสื้อสำหรับทีมชาติไทย แบบแฟร์เพลย์เป็นครั้งแรก
“เราก็ไม่คิดว่าเราจะมีโอกาสแบบนี้ เป็นน้องใหม่ในวงการ มูลค่าบริษํท 180 ล้านบาท ขณะที่พี่ๆ ที่เขาถือลิขสิทธิ์อยู่ อย่างแกรนด์สปอร์ต มูลค่าสองพันกว่าล้านบาท มากกว่าเราเป็นสิบเท่า ผมก็พบว่า ตอนนั้น เน้นทำแผนการตลาดว่าจะเข้าประมูลด้วยตัวเลขเท่าไหร่ อย่างไร ซึ่งก็ปรากฏว่า เราประมูลได้ ในปีที่สามที่เราเริ่มกิจการ จำได้ว่าวันที่ประมูลได้ตรงกับวันที่ 9 กันยายน ปี 2559
การเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เสื้อฟุตบอลทีมชาติไทย เริ่มทำเสื้อให้ทีมชาติไทยเริ่มต้น ปี 2560 นับเป็นจุดเริ่มต้นของวอริกซ์ ที่ทำเสื้อให้ทีมชาติไทยไป 4 ปีนับจากนั้น ตามสัญญาฉบับแรก ยอดขายแบรนด์วอริกซ์เพิ่มเป็น 500 กว่าล้านบาท ก็นับเป็นสามเท่าจากก่อนหน้านี้ แล้วก็เพิ่มเป็น 700 ล้านบาทโดยประมาณ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทั่งมาเจอสถานการณ์โควิด-19 ในปีที่แล้ว ซึ่งปัจจุบันเป็นปี 2564 ก็นับว่าทำเสื้อให้ทีมชาติไทยมา 4 ปีแล้ว
วิศัลย์กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ที่ต่อเนื่องกันมา 2 ปี ยอดขายของวอริกซ์ก็ยังทรงๆ อยู่ที่ 700 ล้านบาท
“แล้วเราก็เพิ่งประมูลสัญญาทีมชาติไทยต่อได้อีก 8 ปี ชนะการประมูลและมีการประกาศออกมาเมื่อ 29 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยเริ่มต่อสัญญาอย่างเป็นทางการตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2564 ต่อเนื่องไปอีก 8 ปี” วิศัลย์ระบุ นั่นหมายความว่า วอริกซ์ทำสัญญาทำเสื้อให้ทีมชาติไทยต่อเนื่องไปถึงปี 2572 นั่นเอง>>> การตลาดออนไลน์-สินค้าเกรดดี-โชว์ Performance ชนะใจลูกค้า
เมื่อถามว่า นอกจากภาพถ่ายชุดของวอริกซ์ที่ดูสวยงามแล้ว เสื้อผ้านักกีฬาของวอริกซ์มีความพิเศษตรงไหนอีกบ้าง จึงชนะใจทีมชาติไทยและสโมสรต่างๆ
วิศัลย์ตอบว่า “ผมคิดว่า สิ่งที่วอริกซ์นำเสนอให้สโมสร คงไม่ใช่แค่เสื้อหรือแบบ หรืออะไรเหล่านั้น แต่สิ่งที่วอริกซ์เสนอให้คือเรื่องของการตลาด หมายความว่าแบรนด์ดีขึ้นทั้งคู่ ทั้งการสร้างฐานแฟนบอล การทำออนไลน์มาเก็ตติ้ง ขณะที่ทีมอื่นๆ การทำออนไลน์มาเก็ตติ้งอาจจะไม่ได้ดีนัก ซึ่งเราก็ยังไม่ได้ดีที่สุด แต่เราก็ทำได้ดีกว่าทุกแบรนด์ในประเทศ โดยเฉพาะเรื่องการตลาดออนไลน์ เราให้ความสำคัญและลงทุนอย่างต่อเนื่อง เข้าถึงลูกค้ารุ่นใหม่ เราได้เสนอให้ทีมฟุตบอลเป็นเสมือนคุณภาพสินค้า ซึ่งสิ่งนี้อาจจะเป็นจุดเด่นอีกประการหนึ่ง คือคุณภาพสินค้าและแผนการตลาด ซึ่งทำให้สโมสร หรือสมาคมกีฬาที่เราร่วมงานด้วย ได้ประโยชน์ และได้คุณภาพสินค้า ผมเชื่อว่า เหล่านี้เป็นจุดหลักเลย ที่นักกีฬาเขาใช้แล้วเขารู้สึกว่าเป็นของที่ดี หมายความว่า สินค้าที่เราใช้ เป็นเกรดดีที่สุดที่เมืองไทยผลิต”
วิศัลย์กล่าวอย่างเชื่อมั่น ก่อนระบุเพิ่มเติมว่า จริงๆ แล้ว สินค้าในประเทศไทยที่เป็นเกรดดีๆ ของแบรนด์ไนกี้ หรืออาดิดาส ก็ผลิตจากไทยส่วนหนึ่ง วอริกซ์ก็ใช้ของชนิดเดียวกับท็อปเกรดเหล่านั้น
“เมื่อนักกีฬาเขาใช้เสื้อผ้าแบรนด์เรา มันก็ทำให้ Performance ของเขาถูกใช้ออกมาอย่างเต็มที่ยิ่งขึ้น และนอกจากฟุตบอลแล้ว วอริกซ์ก็ได้เซ็นสัญญากับสมาคมบาสเกตบอลแห่งประเทศไทย ต่อเนื่องอีก 5 ปี แล้วก็มีสมาคมฟุตบอลทีมชาติพม่า อีกทั้งยังมีกีฬาอย่างเช่น ฟุตบอลที่เราไปเป็นสปอนเซอร์ในมาเลเซีย ลาว สิงคโปร์ แล้วก็ทีมฟุตซอลในญี่ปุ่น เราก็เริ่มทำการตลาดออนไลน์ออกไปแล้ว”
วิศัลย์ระบุ
>>> เจาะตลาดอาเซียน
เมื่อถามว่า ลำดับในการทำสัญญากับประเทศในอาเซียน เริ่มต้นที่ไหนเป็นลำดับแรก
วิศัลย์กล่าวว่า “ในอาเซียน ประเทศที่เราออกไปทำการตลาดประเทศแรกคือ มาเลเซีย เริ่มไปทำการตลาดและมีตัวแทนจำหน่ายเข้าสู่มาเลเซีย จากนั้นก็ตามด้วยลาว พม่า สิงคโปร์ ตามลำดับ แล้วก็มีอินโดนีเซีย และญี่ปุ่น ในมาเลเซีย เราเริ่มปี 2559 และเป็นปีที่เริ่มทำสัญญากับลาวด้วย ส่วนสิงคโปร์ และประเทศอื่นๆ ตามมาในปี 2560-2561 พม่าประมาณปลายปี 2561 ส่วนญี่ปุ่นเราก็เข้าไปเป็นสปอนเซอร์ ปี 2561 เหมือนกันครับ”
หากสงสัยว่า ทีมชาติไทย นอกจากแข่งลีกในประเทศแล้ว ต้องใช้เสื้อผ้าของวอริกซ์ หรือไม่
วิศัลย์ตอบว่า “ทัวร์นาเมนต์ของสมาคมฟุตบอลทั้งหมดใช้เสื้อผ้าของวอริกซ์ ยกเว้นโอลิมปิก ถ้าโอลิมปิกก็จะเป็นสัญญาของแกรนด์ สปอร์ต รวมถึงซีเกมส์ เอเชี่ยนเกมส์ แต่นอกเหนือไปจากนี้แล้วจะเป็นเสื้อผ้าเราหมด”
วิศัลย์กล่าวว่า ตั้งแต่ทำเสื้อผ้าให้ทีมชาติไทย วอริกซ์ก็ทำเสื้อให้ทีมในต่างจังหวัด น้อยลง ปัจจุบันเหลืออยู่ไม่เกินสิบสโมสร อาทิ บีจี ปทุม, สุพรรณบุรี, หนองบัว พิชญ, ชัยนาท, สงขลา, ระยอง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีฟุตซอลของสุราษฎร์ธานีด้วย
ถามว่า ในอนาคต วอริกซ์คิดจะทำเสื้อผ้าให้กีฬาประเภทอื่นไหม
วิศัลย์ตอบว่า สมาคมบาสเกตบอลแห่งประเทศไทยทำสัญญากับวอริกซ์ตั้งแต่เมื่อต้นปี ดังนั้น สมาคมบาสฯ ก็เริ่มใช้เสื้อวอริกซ์แล้วแล้ว ทัวร์นาเมนต์บาสเกตบอลที่ไม่ใช่โอลิมปิก ก็จะใช้ของวอริกซ์ทั้งหมด
ส่วนเสื้อผ้ากีฬาชนิดอื่นที่วอริกซ์เริ่มทำแล้ว แต่ยังไม่ได้ไปเป็นสปอนเซอร์ให้ทีมใด ก็มีเสื้อกอล์ฟ ที่เริ่มทำแล้ว เริ่ม Launch มาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เสียงตอบรับดีมาก
วิศัลย์กล่าวว่า นอกจากนี้ วอริกซ์ยังมีเสื้อผ้าสำหรับการออกกำลังกายของผู้หญิง มีแนวสปอร์ตบรา อันเดอร์แวร์ ก็เริ่มทำแล้ว อีกทั้งเริ่มมีเสื้อผ้าแนว Casual และมีแนวโปโล
“จริงๆ เสื้อโปโล เราทำมานานแล้ว แต่เราจะเริ่มทำให้เป็นแคชวลมากขึ้น เพราะเรารีแบรนด์ เนื่องจากสถานการณ์วิกฤติโควิด วอริกซ์ก็ปรับ Position เป็น ‘เฮลท์ แอคทีฟ ไลฟ์สไตล์’ แล้วก็มีการเริ่มปรับตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว พร้อมกับการรีแบรนด์ด้วย
>>> ‘เฮลท์ แอคทีฟ ไลฟ์สไตล์’ เปิดคลินิกกายภาพ ไม่หวั่นโควิด
นอกจากนี้ วอริกซ์ มีการเริ่มทดสอบคลินิกกายภาพมาตั้งแต่กลางปีที่แล้ว
“ตั้งแต่ช่วงสถานการณ์โควิดครบหนึ่งปี แล้วเราก็อัพเกรดจากคลินิกกายภาพเป็นสหคลินิค เริ่มมีเรื่องวิทยาศาสตร์การกีฬาเข้ามา เป็นอีกธุรกิจของวอริกซ์ที่เน้นไปยังกลุ่มลูกค้านักกีฬามือาชีพ มือสมัครเล่น และกลุ่มออฟฟิศซินโดรม รวมถึงผู้สูงอายุ ในคลินิกของวอริกซ์ก็จะมีทั้งให้ความรู้ด้านกายภาพ ออกกำลังกาย และมีทั้งด้านโภชนาการ ที่จะมีทั้งวิตามิน อาหารเสริม โภชนาการ รวมถึงมีเสื้อนอนเพื่อสุขภาพด้วย เหล่านี้ก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง หลังจากเราขยายจากสปอร์ตแวร์ เป็น ‘เฮลท์ แอคทีฟ ไลฟ์สไตล์’ ก็จะมีโมเดลที่เพิ่มขึ้น”
ถามว่า คลินิกกายภาพเกิดขึ้นเมื่อไหร่
วิศัลย์ตอบว่า “เกิดช่วงโควิดเลยครับ คือเกิดช่วงโควิดเมื่อเดือนมีนาคม-เมษายน ปีที่แล้ว ผมก็ตัดสินใจนำเอาคลินิคกายภาพที่เดิมทีตั้งใจไว้ว่าจะเปิดในอีกสามปีข้างหน้า มาเปิดเมื่อปีที่แล้วเลยครับ ตอนนี้ก็ครบหนึ่งปีแล้ว ผลตอบรับที่ได้จากคลินิกกายภาพของเราดีมากๆ เพราะไม่มีคลินิกกายภาพไหนทำแนววิทยาศาสตร์การกีฬา มีเราเป็นเจ้าเดียว ที่ทำวิทยาศาสตร์การกีฬา
“ผมใช้ชั้นสองของสำนักงานใหญ่เราที่เคยเป็นออฟฟิศเป็นที่ประชุม แปลงสภาพเป็นคลินิกกายภาพ คลินิกนี้อยู่ที่สเตเดี้ยมวัน ตรงข้ามสนามศุภชลาศัย ใกล้ๆ มาบุญครอง ข้างล่างเป็นช้อปขายเสื้อผ้าวอริกซ์ ซึ่งชั้นสองมีส่วนหนึ่งที่เป็นช้อปด้วยแล้วก็เป็นคลินิกกายภาพและสหคลินิกด้วย”
วิศัลย์กล่าวว่า “ผู้ที่สนใจมาใช้บริการคลินิกกายภาพ สามารถติดต่อ อินบ็อกซ์ผ่านเฟซบุ๊ค Warrix ได้ ซึ่งในช่วงนี้เราก็เปิดเพราะเราได้ใบอนุญาตเป็นสถานพยาบาล สาเหตุที่เราไม่ปิด เพราะมีคนที่ต้องได้รับการรักษาต่อเนื่อง เช่น ที่เขาได้รับการผ่าตัดเข่ามา หรือนักกีฬามีปัญหาเกี่ยวกับเอ็น เขาต้องทำกายภาพ หรือ คนไข้ที่เคยประสบเหตุเส้นเลือดฝอยในสมองแตก ซึ่ง 30 วันหลังผ่าตัดเขาก็ต้องทำกายภาพ นี่เป็นลักษณะของคนไข้ที่เขามีความจำเป็น เขาก็ต้องมาทำกายภาพ ดังนั้น ที่คลินิกของเรานี่เปิดอย่างต่อเนื่อง เราเป็นสถานพยาบาล เปิดทุกวันครับ”
>>> Game Changer ‘น้องใหม่’ ที่ไม่ธรรมดา
เมื่อถามถึง วิสัยทัศน์ในการทำงาน นับแต่ก่อตั้งแบรนด์วอริกซ์ขึ้นในปี 2556 กระทั่งฟันฝ่าวิกฤติโควิดมาได้ สิ่งที่วิศัลย์ยึดเหนี่ยวไว้ในการทำธุรกิจนับว่าน่าสนใจไม่น้อย
วิศัลย์กล่าวว่า “ในการเล่นเกมธุรกิจ ผมมองว่าธุรกิจก็เป็นเหมือนเกมกีฬาเกมหนึ่ง ถ้าเราเดินตาม เราต้องเป็นผู้แพ้แน่นอน ผมจะทำวอริกซ์ให้เป็น Game Changer ตลอดเวลา เราอาจจะไม่ใช่เบอร์หนึ่งของอุตสาหกรรมมาตั้งแต่ต้น เราเป็นหน้าใหม่ แต่เราก็คือเกมเชนเจอร์ ของอุตสาหกรรมจนถึงทุกวันนี้
ดังนั้น ผมว่าวิสัยทัศน์ของเราคือ เราต้องเอาโลกอนาคตมากองไว้ตรงหน้าได้ก่อนคนอื่น เช่น การทำออนไลน์ ทำแบรนดิ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำออนไลน์ มันไม่ได้ทำให้บริษัทเสียเปรียบบริษัทที่ใหญ่กว่า หรือเสียเปรียบบริษัทที่มีกำลังทุนเหนือกว่า มันก็ทำให้เราโตขึ้นมาได้จากศูนย์ ผลประกอบการแบรนด์ของผมกับแบรนด์เบอร์หนึ่งเบอร์สองของประเทศไทยก็ใกล้เคียงกันแล้วนะครับ ไม่ได้ต่างกันเยอะ” วิศัลย์บอกเล่าอย่างเห็นภาพ
เมื่อถามว่า มีเป้าหมายที่อยากจะพัฒนาวอริกซ์ไปในทิศทางไหนอีกบ้าง
วิศัลย์ตอบว่า “สิ่งที่วอริกซ์อยากทำและทำอยู่คือ การขยายแบรนด์ ไปสู่ Regional แบรนด์ ให้ได้ชัดเจนขึ้น ปัจจุบันเราก็เปิดวอริกซ์ที่สิงคโปร์เรียบร้อยแล้ว แล้วก็จะเริ่มแอคทีฟเรื่องออนไลน์มาเก็ตติ้ง และการสร้างแบรนด์ในสิงคโปร์ มาเลเซีย ควบคู่กัน เริ่มในไตรมาส 4 นี้ บริษัทเราที่มาเลเซีย ก็จดทะเบียนอยู่ คาดว่าจะเสร็จภายในสิ้นปี ก็จะขยายแบรนด์ ไปสู่ Regional และใช้ออนไลน์เป็นเครื่องมือหลักในการทำการตลาด ซึ่งก็เปลี่ยนรูปแบบการทำการตลาดจากเดิม ที่ต้องพึ่ง Agent พึ่ง Distributor แต่ปัจจุบันนี้ โลกเราไร้พรมแดนแล้ว และเราสามารถใช้ออนไลน์เป็นเครื่องมือการขยายตลาดได้ เราสามารถใช้ Segment ขยาย Segment โปรดักส์ กับเซอร์วิสที่มีแค่เสื้อผ้า ไปเป็นวิทยาศาสตร์การกีฬา อย่างเช่น กายภาพ อุปกรณ์เครื่องนอนเพื่อสุขภาพ แล้วก็จะมีเรื่องโภชนาการ อาหารเสริม วิตามิน ที่เข้ามาเกี่ยวกับนักกีฬา กับผู้สูงอายุ เหล่านี้ก็คือ ไลน์โปรดักส์ ที่วอริกซ์จะเดินต่อไป” วิศัลย์กล่าวถึงทิศทางของแบรนด์ในอนาคต
>>> เพราะ Warrix คือ ‘นักสู้’ และ ‘ตัวตน’
คำถามสุดท้าย ที่สงสัยนับแต่แรกเห็นคือ ชื่อ Warrix แปลว่าอะไรและทำไมจึงใช้ชื่อวอริกซ์
วิศัลย์ตอบว่า “วอริกซ์ (Warrix) คำๆ นี้ หากเปิดดิกชันนารีภาษาอังกฤษไม่มีนะครับ เพราะจริงๆ แล้วมาจากชื่อผมเอง วิศัลย์ (Wisan) เป็นชื่อผมแล้วก็เชื่อมโยงกับประวัติชีวิตผม เพราะผมสู้ชีวิตมาตั้งแต่เด็ก เนื่องจากที่บ้าน ธุรกิจประสบปัญหาตั้งแต่ตอนที่ผมเรียนอยู่ ม.2 อายุ 11ปี แล้วผมก็ต่อสู้ชีวิต หาเลี้ยงตัวเองมาจนจบปริญญาตรีและปริญญาโทที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วก็ทำงาน ต่อสู้ด้วยตัวเอง ทำธุรกิจด้วยมือตัวเอง ไม่มีทรัพย์สมบัติที่บรรพบุรุษให้มา แล้ววันนี้ ผมก็สร้างธุรกิจขึ้นมาเป็นหลักใกล้ๆ พันล้านบาท ซึ่งถ้ารวมหลายบริษัทก็เกินพันล้านบาทไปแล้ว
“Warrix จึงเป็นเรื่องของการเอาชื่อผมมาแปลงเป็นคำว่า วอริกซ์ โดยตัว W ตัวแรกคือ Warrior (วอริเออร์) หมายถึงนักรบ โดยนิสัยผมก็เป็นนักสู้ สู้ชีวิต สู้เรื่องงาน แล้วก็ตัดทอนเอาชื่อผมมาใช้ด้วย กลายเป็นคำ Warrix (วอริกซ์) ครับ” วิศัลย์ระบุ
นอกจากบอกเล่าถึงที่มาความหมายของชื่อ “Warrix” ที่แผงไว้ด้วยความหมายดีๆ อย่าง Warrior ผสานหลอมรวมกับชื่อวิศัลย์แล้ว นักธุรกิจหนุ่มมากด้วยวิสัยทัศน์ผู้นี้ ยังทิ้งท้ายถึงปรัชญาในการทำธุรกิจที่น่าสนใจยิ่ง อีกทั้งแนะถึงหลักในการเผชิญหน้ากับภาวะวิกฤติโควิด-19 ที่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้คนในสังคมในทุกๆ ภาคส่วน
>>> ปรัชญาในการทำธุรกิจ จริยธรรมนำหน้า เติบโตอย่างยั่งยืน
วิศัลย์กล่าวว่า “เรื่องปรัชญาในการทำธุรกิจ ผมมีปรัชญาอยู่ประโยคหนึ่งนะครับ ที่ผมยึดมาตลอดตั้งแต่ก่อนทำวอริกซ์ คือ ‘คนที่หิวเงิน จะไม่มีวันอิ่มเงิน’ เหมือนขัดแย้งกับโลกธุรกิจนะครับ แต่คำนี้ มันทำให้ผมทำธุรกิจอย่างยั่งยืนเพราะปรัชญานี้ ทำให้เราไม่ได้เอาความโลภนำหน้า หรือนำเรื่องของตัวเงินมาเป็นเบอร์หนึ่ง แต่เราจะเอาเรื่องอื่นมาเป็นเบอร์หนึ่ง เช่น เราทำงานกับคู่ค้า เราจะเอาเรื่องจริยธรรมเป็นเบอร์หนึ่ง มองเรื่องของความเกื้อหนุนกัน ไม่ได้เอาเรื่องความหิวเงินความโลภมานำ ถ้ามองไปถึงลูกค้าเราก็มีความซื่อสัตย์กับการทำสินค้า หรือส่งมอบบริการต่อลูกค้า
“เราไม่ได้เอาความโลภนำ ดังนั้น มันก็ไม่มีคำโกหก ไม่มีการยัดไส้ ไม่มีเล่ห์เหลี่ยมเพื่อให้ได้กำไรสูงสุด แต่แน่นอนว่า การทำธุรกิจต้องมีกำไร แต่เราจะมองเรื่องของจริยธรรมนำหน้าเรื่องของการทำกำไร นี่เป็นปรัชญาในการทำธุรกิจของผม เรื่องของคนที่หิวเงินจะไม่มีวันอิ่มเงิน ส่งผลไปสู่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในบริษัทด้วย ส่งผลไปถึงทุกอย่าง” วิศัลย์ระบุถึงหลักการทำธุรกิจที่ยึดมั่น ก่อนจะกล่าวทิ้งท้ายเกี่ยวกับวิกฤติโควิดว่า
“ในภาวะโควิด ผมคิดว่าภาวะผู้นำเป็นสิ่งสำคัญ ผู้นำในองค์กรไม่ว่าภาครัฐหรือเอกชน ผมว่าเป็นสิ่งสำคัญ ที่ต้อง Maintain แล้วก็ต้องมองไปข้างหน้า ไม่ท้อกับปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะปัญหานี้เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ใช่ว่าเราโดนคนเดียว แต่สิ่งที่กระทบ ก็กระทบเหมือนกันหมด แต่เราต้องมีสติ และก้าวไปข้างหน้า และนำพาคนที่อยู่ภายใต้องค์กรเรา ไม่ว่าสถาบันครอบครัว หรือธุรกิจที่เป็นเอกชนหรือหน่วยงานภาครัฐก็ต้องมองไปไกลๆ อย่ามองแค่ระยะสั้น ผมก็อยากฝากไว้ตรงนี้ว่าสิ่งที่สำคัญ อย่าปล่อยให้หายไป ไม่มีใครสร้างได้นอกจากตัวเราเอง สิ่งนั้นคือ ‘ขวัญและกำลังใจ’ของตัวเราเองครับ”
นักธุรกิจพันล้านรายนี้ระบุพร้อมส่งแรงใจให้ผู้คนในทุกภาคส่วนของสังคมสามารถฟันฝ่าวิกฤติโควิด-19 ไปด้วยกัน
Text by รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
Photo by Warrix