KBU โพลล์ชี้คนไทยคาดหวังรัฐบาล ยกระดับการพัฒนากีฬาเป็นวาระแห่งชาติ
สืบเนื่องจากปี 2565 ถือได้ว่าเป็นอีกปีที่วงการกีฬาไทยจะต้องมีการเตรียมการยกระดับการพัฒนา ตลอดจนจัดส่งทัพนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ ภายใต้ปรากฎการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในหลากหลายรายการ เพื่อเป็นการสะท้อนมุมมอง และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนที่มีต่อวงการกีฬาไทยในมิติของความหวัง และโอกาสสำหรับการพัฒนา และสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ KBU SPORT POLL โดยศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต จึงสำรวจคิดเห็นเรื่อง “ความหวังและโอกาสของวงการกีฬาไทยในปี 2565”
สำหรับการสำรวจดังกล่าวดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ระหว่างวันที่ 17-19 มกราคม 2565 โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,166 คน โดยแบ่งเป็น เพศชาย 604 คน คิดเป็นร้อยละ 51.80 เพศหญิง 562 คน คิดเป็นร้อยละ 48.20 ซึ่งผลการวิเคราะห์ในภาพรวมพบว่า ความคาดหวังที่มีต่อการพัฒนา และยกระดับการกีฬาของประเทศ ส่วนใหญ่ร้อยละ 31.09 ต้องการให้รัฐบาลยกระดับการขับเคลื่อนการพัฒนากีฬาเป็นวาระแห่งชาติ รองลงมาร้อยละ 27.13 รัฐบาลสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่อง ร้อยละ 23.05 ประชาชนทุกภาคส่วนตื่นตัว และให้ความสำคัญกับการเล่นกีฬา และออกกำลังกายมากขึ้น ร้อยละ 13.64 องค์กรกีฬาขับเคลื่อนแผนพัฒนาสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ร้อยละ 3.58 สมาคมกีฬาแห่งประเทศไทยกำหนดแผนพัฒนาอย่างเป็นระบบ และอื่นๆ ร้อยละ 1.51
ความคาดหวังที่มีต่อนักกีฬาไทยสำหรับการเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาในระดับนานาชาติ ส่วนใหญ่ร้อยละ 28.52 นักกีฬาสามารถครองความเป็นเจ้าเหรียญทองในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ที่ประเทศเวียดนาม รองลงมาร้อยละ 25.98 นักกีฬาสามารถคว้าเหรียญทองติด 1 ใน 5 ในการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 19 ที่ประเทศจีน ร้อยละ17.07 องค์กรที่เกี่ยวข้องมีการวางแผน และสนับสนุนการฝึกซ้อมอย่างเป็นระบบ ร้อยละ 15.79 นักกีฬาชนิดต่างๆ สามารถสร้างชื่อเสียง และนำความสุขสู่สังคมไทยอย่างต่อเนื่อง ร้อยละ 8.66 ทัพ “ช้างศึก” ทีมฟุตบอลทีมชาติไทยประสบความสำเร็จในการแข่งขันระดับนานาชาติ และอื่นๆ ร้อยละ 3.98
ชนิดกีฬาที่เป็นความหวัง และมีโอกาสในการสร้างชื่อเสียงสำหรับการเข้าร่วมการแข่งขันในระดับนานาชาติ อันดับ 1 แบดมินตัน ร้อยละ 89.04 อันดับ 2 เทควันโด ร้อยละ 86.26 อันดับ 3 วอลเลย์บอล ร้อยละ 81.00 อันดับ 4 มวยสากล ร้อยละ 78.06 อันดับ 5 ยกน้ำหนัก ร้อยละ 74.00 อันดับ 6 ฟุตบอล/ฟุตซอล ร้อยละ72.08 อันดับ 7 กอล์ฟ ร้อยละ 69.22 อันดับ 8 เซปักตะกร้อ ร้อยละ 66.00 อันดับ 9 จักรยาน ร้อยละ 62.48 อันดับ 10 เทนนิส ร้อยละ 54.00 และอื่นๆ ร้อยละ18.10
ผศ.ดร.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการสำรวจดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ถึงแม้สังคม และประเทศยังจะต้องเผชิญกับปรากฎการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็ตาม แต่กลุ่มตัวอย่างก็ยังให้ความสำคัญสำหรับการมีส่วนร่วม เพื่อการพัฒนา และยกระดับกีฬาของประเทศให้มีความเจริญรุดหน้าเทียบเคียงกับนานาประเทศที่ประสบความสำเร็จ ที่น่าสนจะเห็นได้ว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จะฝากความหวัง และโอกาสในการพัฒนา และนำมาซึ่งความสำเร็จไว้ที่รัฐบาลตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการขับเคลื่อนนโยบาย และแผนพัฒนาให้บรรลุเป้าหมาย รวมทั้งผลักดันการขับเคลื่อนกีฬาให้เป็นวาระแห่งชาติ
ในขณะเดียวกันเมื่อกล่าวถึงความหวัง หรือโอกาสของความสำเร็จ และนำชื่อเสียงมาสู่ประเทศของทัพนักกีฬาไทยจากการเข้าร่วมการแข่งขันมหกรรมกีฬาระดับนานาชาติในปี 2565 นั้นจะเห็นได้ว่า กลุ่มตัวอย่างต่างคาดหวังที่จะให้นักกีฬาคว้าเหรียญรางวัล และนำความสุขมาสู่สังคมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะความเป็นเลิศ ในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 31 และเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่19 และเหนือสิ่งอื่นใดหากพิจารณาถึงชนิดกีฬาแห่งความหวังพบว่า ล้วนแล้วแต่เป็นชนิดกีฬาที่นักกีฬาไทยประสบความสำเร็จ และสร้างผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมในเชิงประจักษ์อย่างต่อเนื่องมาก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ตาม จากผลการสำรวจในครั้งนี้คงจะเป็นหนึ่งในมิติที่ผู้เกี่ยวข้องกับวงการกีฬาไทยจะได้นำไปเป็นกรณีศึกษา หรือฐานข้อมูลสำหรับการขับเคลื่อน และยกระดับให้วงการกีฬาไทยประสบความสำเร็จ และก้าวไกลสู่มาตรสากลสืบไป และประเด็นเฉพาะหน้าที่สำคัญคือ การประสานในการเร่งดำเนินการปลดล็อกการแบนของวาด้าในมิติที่เกี่ยวข้อง และก่อให้เกิดความเสียหายกับวงการกีฬาไทย