Thailand Sport Magazine Sponsored

In Focus: เจาะลึกการประท้วงในอิหร่าน หลังรัฐบาลเริ่มเชือดไก่ให้ลิงดู

Thailand Sport Magazine Sponsored
Thailand Sport Magazine Sponsored

ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ประชาชนชาวอิหร่านได้ลุกฮือขึ้นออกมาประท้วงเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับการเสียชีวิตของน.ส.มาห์ซา อามินี วัย 22 ปี จากจุดนั้นเอง เหตุการณ์ได้ลุกลามบานปลายไปทั่วประเทศจนนำไปสู่การประท้วงเรียกร้องเสรีภาพสตรีและล้มล้างการปกครองครั้งประวัติศาสตร์ของอิหร่าน จนทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วมากกว่า 300 คน และปัจจุบันสถานการณ์เริ่มทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีกเมื่อรัฐบาลเริ่มใช้ไม้แข็งตอบโต้ผู้ชุมนุมด้วยการแขวนคอนักโทษที่มีคดีเชื่อมโยงกับการชุมนุมถึง 2 รายในเวลาไม่ถึง 1 สัปดาห์

วันนี้ In Focus ขอพาท่านผู้อ่านไปเจาะลึกที่มาที่ไปของเหตุการณ์ประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดของอิหร่านนับตั้งแต่การปฏิวัติอิสลามในปี 2522

*จุดเริ่มต้นการประท้วงครั้งประวัติศาสตร์

เหตุการณ์ประท้วงที่เกิดขึ้นในเมืองต่าง ๆ ทั่วอิหร่าน เริ่มต้นขึ้นหลังจากการเสียชีวิตของน.ส.มาห์ซา อามินี วัย 22 ปี ในวันที่ 16 ก.ย. 2565 หลังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจศีลธรรม (morality police) ของอิหร่านจับกุมตัวในกรุงเตหะราน จากการกระทำความผิดตามกฎข้อบังคับของอิหร่านที่กำหนดว่า ผู้หญิงจะต้องคลุมฮิญาบปิดบังใบหน้าและไม่ใส่เสื้อผ้ารัดรูปในที่สาธารณะ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่า น.ส.อามินีเสียชีวิต เนื่องจากล้มป่วยในระหว่างถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวร่วมกับผู้หญิงคนอื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม บิดาของน.ส.อามินีย้ำว่า บุตรสาวของเขาไม่มีปัญหาสุขภาพ และกล่าวด้วยว่า น.ส.อามินีมีรอยฟกช้ำที่ขาทั้งสองข้าง และเรียกร้องให้ตำรวจแสดงความรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของบุตรสาว

มีรายงานว่า น.ส.อามินีถูกตำรวจใช้ไม้กระบองฟาดเข้าที่ศีรษะ แต่ทางตำรวจได้ออกมาโต้แย้งว่าเธอเสียชีวิตจากอาการหัวใจวาย พร้อมเปิดเผยภาพจากกล้องวงจรปิดที่แสดงให้เห็นว่าเธอทรุดล้มลงในศูนย์ปรับทัศนคติ ซึ่งเป็นสถานที่ที่เธอถูกตำรวจศีลธรรมให้คำแนะนำเกี่ยวกับการแต่งกายของเธอ

แต่ทว่า คลิปวิดีโอดังกล่าวประกอบกับภาพของน.ส.อามินีที่อยู่ในอาการโคม่า ยิ่งสุมไฟแค้นให้กับชาวอิหร่านมากยิ่งขึ้น

*ไฟลามทุ่ง การประท้วงลามทั่วประเทศ

ความไม่พอใจก่อตัวขึ้นจนกลายเป็นการประท้วง ซึ่งการประท้วงครั้งแรกเกิดขึ้นภายหลังงานศพของน.ส.อามินีที่เมืองซาเกซ (Saqez) ทางตะวันตกของอิหร่าน ซึ่งเป็นบ้านเกิดของผู้เสียชีวิต โดยผู้หญิงหลายคนเริ่มถอดฮิญาบและนำมาโบกสะบัดไปมาเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการประท้วงเรียกร้องความยุติธรรมให้กับการเสียชีวิตของน.ส.อามินี และได้ปะทะกับเจ้าหน้าที่

ต่อมาไม่นาน การประท้วงครั้งนี้ได้รับเสียงสนับสนุนเป็นวงกว้าง ทำให้ชาวอิหร่านทั้งหญิงและชายในหลายสิบเมือง นักเรียน-นักศึกษา ตลอดจนผู้ที่มีชื่อเสียงหลายคนเริ่มลุกฮือขึ้นมาประท้วงด้วยเช่นเดียวกัน โดยผู้ประท้วงได้ออกมาสนับสนุนเสรีภาพของสตรี ตลอดจนเรียกร้องให้อยาตอลเลาะห์ คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน ลาออกจากตำแหน่ง

วิดีโอบนโซเชียลมีเดียยังเปิดเผยภาพ ผู้หญิงหลายคนถอดฮิญาบและโบกสะบัดไปมาพร้อมกับตะโกนขับไล่ผู้นำเผด็จการ รวมถึงวิดีโออื่น ๆ ที่แสดงให้เห็นรถจักรยานยนต์คันหนึ่งถูกเผาอยู่บนท้องถนนใกล้กับอาคารศาลยุติธรรมในกรุงเตหะราน

นอกจากนี้ ในการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งล่าสุด นักเตะทีมชาติอิหร่านได้พร้อมใจกันยืนสงบนิ่ง ไม่ร้องเพลงชาติก่อนการแข่งขัน เพื่อแสดงการสนับสนุนต่อการประท้วงที่เกิดขึ้นภายในประเทศ ขณะที่นักกีฬารักบี้หญิง นักกีฬาฟันดาบ และนักกีฬาเทควันโดก็พร้อมใจกันลาออกจากทีมเพื่อร่วมประท้วงในครั้งนี้ด้วยเช่นเดียวกัน

*รัฐบาลอิหร่านไม่ยอมอ่อนข้อ เลือกใช้กำลังคุมสถานการณ์

รัฐบาลอิหร่านได้ใช้กำลังเข้าควบคุมสถานการณ์การชุมนุมอย่างรุนแรง โดยใช้ทั้งแก๊สน้ำตา กระสุนยาง ไม้กระบอง และกระสุนจริงในการสลายการชุมนุม จากวิดีโอของสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น ผู้ประท้วงคนหนึ่งระบุว่า กองกำลังรักษาความปลอดภัยที่เมืองแซนันดาจ (Sanandaj) ได้ยิงผู้คนที่บีบแตรประท้วงโดยไม่เลือกหน้าว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ และหากผู้บาดเจ็บไปโรงพยาบาลก็จะถูกตำรวจนอกเครื่องแบบเข้าจับกุม

ขณะเดียวกัน มีรายงานว่า อิหร่านได้สั่งปิดการทำงานของระบบอินเทอร์เน็ตทั่วประเทศในระหว่างทำการปราบปรามการชุมนุมที่นำไปสู่การนองเลือด พร้อมทั้งกล่าวหาอิสราเอลและสหรัฐว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการปลุกระดมประชาชนให้ลุกฮือประท้วงในครั้งนี้

นอกจากนี้ ทางการอิหร่านยังได้เรียกตัวเอกอัครราชทูตอังกฤษเข้าพบกรณีการรายงานข่าวที่เป็นปรปักษ์กับรัฐบาล โดยกล่าวหาว่าสำนักข่าวภาษาเปอร์เซียในกรุงลอนดอน “ประพฤติตัวเป็นศัตรู” รวมถึงเรียกตัวเอกอัครราชทูตของนอร์เวย์มาเพื่ออธิบายท่าทีแทรกแซงของนายมาซุด การักคานี ประธานรัฐสภานอร์เวย์ ซึ่งแสดงการสนับสนุนฝ่ายผู้ประท้วง

ล่าสุด ทางการอิหร่านได้ประหารชีวิตชาวอิหร่านที่มีความเกี่ยวข้องกับการชุมนุมด้วยวิธีแขวนคอไปแล้ว 2 คนในเวลาไม่ถึงสัปดาห์ โดยให้เหตุผลว่า ทั้งสองได้ทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ อย่างไรก็ตาม กลุ่มนักสิทธิมนุษยชนระบุว่า หนึ่งในนั้นถูกทรมานให้รับสารภาพ นอกจากนี้ ทางสหพันธ์นักฟุตบอลอาชีพนานาชาติ (FIFPRO) ได้ออกมาระบุผ่านทางทวิตเตอร์เมื่อวันอังคาร (13 ธ.ค.) ว่า อาเมียร์ นัสร์-อัซดานี (Amir Nasr-Azadani) นักฟุตบอลอิหร่านวัย 26 ปี ต้องโทษประหารชีวิต เนื่องจากได้ออกมาเรียกร้องด้านสิทธิและเสรีภาพให้กับสตรีอิหร่าน

*ท่าทีนานาชาติ ร่วมกันคว่ำบาตรตอบโต้อิหร่าน

สหภาพยุโรป (EU) ได้ประกาศคว่ำบาตรผู้นำระดับสูงของอิหร่านเมื่อวันจันทร์ (12 ธ.ค.) โดยการอายัดทรัพย์สินและสั่งห้ามมิให้เดินทางไปยังประเทศใน EU ซึ่งนายโจเซฟ บอร์เรล หัวหน้าเจ้าหน้าที่ทูตของ EU ยืนยันว่า “จะดำเนินการทุกอย่างเท่าที่ทำได้เพื่อสนับสนุนสตรีและผู้ประท้วงอย่างสันติ”

ขณะเดียวกัน สหรัฐและแคนาดาก็ได้จับมือกันเพื่อดำเนินการคว่ำบาตรเหล่าผู้นำระดับสูงของอิหร่านจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนของกลุ่มผู้ประท้วง โดยร่วมกันอายัดทรัพย์สินและจำกัดการมีส่วนร่วมในการทำธุรกรรมของบรรดาผู้นำเหล่านี้

ทั้งนี้ รัฐบาลสหรัฐได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับรายงานการจับกุมประชาชนจำนวนมาก การไต่สวนที่ไม่เป็นธรรม และการลงโทษประหารชีวิตผู้ประท้วงในอิหร่าน พร้อมระบุว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่กระทำโดยรัฐบาลจะต้องได้รับผลที่ตามมา

นายเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาวระบุในแถลงการณ์ว่า “สหรัฐยืนหยัดเคียงข้างคู่ค้าและพันธมิตรของเราทั่วโลก และจะยังคงดำเนินการกับผู้ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนผ่านมาตรการคว่ำบาตรและด้วยวิธีการอื่น ๆ” พร้อมเสริมว่า สหรัฐเห็นพ้องกับการดำเนินมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านรอบใหม่โดย EU และอังกฤษ

อย่างไรก็ตาม การประท้วงซึ่งเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายสิบปีของบรรดาผู้นำสูงสุดอิหร่านนั้น ยังไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดลงง่าย ๆ หากรัฐบาลยังคงตอบโต้ด้วยความรุนแรงเช่นนี้ต่อไป การชุมนุมอาจยิ่งทวีความร้อนระอุขึ้นไปอีก เราคงทำได้เพียงติดตามดูกันต่อไปว่า สถานการณ์เลวร้ายในครั้งนี้จะนำการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบใดมาสู่อิหร่าน


Thailand Sport Magazine Sponsored
ผู้สื่อข่าว กีฬา

ข่าวกีฬา นักกีฬา กีฬา ในร่ม indoor outdoor ต้องทำ sport ให้เป็น กีฬา หลักของประเทศ ดูข้อมูล กอล์ฟ บาสเก็ตบอล ฟุตบอล ว่ายน้ำ วอลเล่ย์บอล มวย แข่งรถ แบดมินตัน และ อีสปอร์ต Dedicated to all sport news from Thailand, with news updates, stories and event reports on many different types of sporting activities that the Thailand currently holds, across all of the asia.

This website uses cookies.