Thailand Sport Magazine Sponsored

Bare-knuckle Boxing : กีฬาซัดกันด้วยหมัดเปล่าที่พิสูจน์ว่า “พวกเขาไม่ได้ป่าเถื่อน” – Sanook

Thailand Sport Magazine Sponsored
Thailand Sport Magazine Sponsored

ไม่มีอะไรจะเร้าใจไปกว่าการต่อสู้และประจันหน้ากันของสองยอดฝีมือบนสังเวียน คำว่าหมัดต่อหมัด คือสิ่งที่ปลุกเร้าให้ลูกผู้ชาย (รวมถึงลูกผู้หญิง) หลายคนลุกขึ้นเพื่อชิงความเป็นหนึ่ง 

อย่างไรก็ตาม บางคนกลับไม่ต้องการเดินตามวิถีนั้น การชกแบบมวยสากล หรือ MMA ก็ยังไม่หนักและยังไม่สะท้อนความเป็นมนุษย์นักสู้ได้มากพอ

ชายคนหนึ่งจึงพยายามพิสูจน์ว่าคนจริงต้องซัดกันด้วยหมัดเปล่า และสิ่งที่เขาพยายามยิ่งกว่านั้นคือการบอกโลกให้รู้ว่า “หมัดเปล่า” ปลอดภัยกว่า และไม่ได้ป่าเถื่อนอย่างที่ใครคิด 

เรื่องราวเป็นอย่างไร ? ติดตามได้กับ Main Stand

มือเปล่ามา 300 ปี 

การต่อสู้คือกีฬาชนิดแรกที่อยู่กับมนุษย์ชาติและทุกคนสามารถเข้าใจกติกากันเป็นอย่างดี ใครแข็งแกร่งขว่า, ใครอดทนได้มากกว่า, ใครหนักหน่วงกว่า และคนที่ยืนอยู่เป็นคนสุดท้าย คนคนนั้นเป็นผู้ชนะ 

การตัดสินที่ง่ายดายและวิธีการที่ใครก็เข้าใจ คนสองคนขึ้นต่อสู้กันและหาผู้ชนะ ง่าย ๆ แบบนั้น สิ่งเหล่านี้ทำให้โลกแห่งการต่อสู้ถูกพัฒนาและดัดแปลงเป็นวิธีต่าง ๆ มากมาย จากที่คนยุคเก่าเคยซัดกันด้วยหมัดเปล่า ไม่มีเวลากำหนด และใส่กันจนล้มไปข้างหนึ่ง ความดิบเถื่อนที่สู้กันถึงตายก็เปลี่ยนไปตามความศิวิไลซ์ของโลก สุดท้ายตอนนี้เราก็ได้เห็นกีฬาอย่าง มวยไทย, มวยสากล, เทควันโด, มวยปล้ำ รวมถึง ศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสาน (MMA) หรือที่หลายคนเรียกว่า มวยกรง จนกลายเป็นกีฬาที่ได้รับการยอมรับจากคนดูและยังถูกต้องตามกฎหมายอีกด้วย

สิ่งที่ทำให้กีฬาเหล่านี้เป็นที่ยอมรับได้ อาจจะเป็นเพราะความปลอดภัยที่มากขึ้นกว่าการต่อสู้กันของมนุษย์ในยุคเก่า ๆ ทุกกีฬาต่างมีกติกาและอุปกรณ์ที่ช่วยเซฟตี้ ทำให้มันไม่ป่าเถื่อนเกินกว่าคำว่ามนุษย์เกินไป

อย่างไรก็ตาม หลายคนไม่ได้ชอบความปลอดภัยเพราะเชื่อว่ามันไม่ท้าทาย คนกลุ่มนี้เชื่อว่าการต่อสู้จะสมบูรณ์แบบก็ต่อเมื่อได้ยินเสียงของกระดูกชนกัน กลิ่นคาวเลือด และสังเวียนที่แดงฉานจากแผลแตกของนักสู้บนเวที พวกเขาจึงได้รวมตัวกันและสร้างกีฬาต่อสู้ที่มีชื่อว่า “Bare-knuckle boxing” ที่สร้างความนิยมจนถึงขั้นว่ามีผู้แข่งขันเก่ง ๆ มากมายและมีการชิงแชมป์ระดับโลกอีกด้วย

สูงสุดคืนสู่สามัญ 

การชกแบบหมัดเปล่าลุ่น ๆ ไม่มีเซฟตี้ เคยเป็นที่นิยมในประเทศอังกฤษในช่วงศตวรรษที่ 16 และในเวลานั้นไม่ได้มีปัญหาเรื่องความป่าเถื่อนใด ๆ ทั้งสิ้น ตอนนั้นไม่ได้มีการเรียกว่าการชกหมัดเปล่า แต่มันถูกเรียกว่า Boxing หรือการชกมวยธรรมดา ๆ นั่นแหละ

การแข่งขันที่ฝ่ายแพ้เจ็บเจียนตายถือเป็นเรื่องปกติ และกลายเป็นความบันเทิงที่สามารถดึงดูดคนให้เข้ามาสนใจ มีการพบบันทึกจากปี 1681 จากโบสถ์นิกายโปรเตสแตนต์ว่า เคยมีการชกระหว่างทหารเอกของดยุกแห่งอัลเบมาร์ลปะทะกับตัวแทนจากฝั่งประชาชนคือพ่อค้าขายเนื้อ ก่อนที่ในศตวรรษที่ 17 การชกมวยถือว่าเป็นตัวแทนของความเป็นลูกผู้ชาย นักมวยจะถูกยกย่องให้เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องศาสตร์การป้องกันตัวชั้นสูง


Photo : guildhalllibrarynewsletter.wordpress.com

กติกาการชกในยุคแรก ๆ นั้นไม่มีอะไรเป็นลายลักษณ์อักษร ไม่มีการแบ่งรุ่นน้ำหนัก ไม่มีการจำกัดยก สามารถใช้ทุกส่วนของร่างกายได้หมด และสิ่งนั้นก็ถูกส่งต่อมาเรื่อย ๆ มีการเพิ่มกติกาและเพิ่มการดูแลเรื่องความปลอดภัย จนกลายเป็นการชกมวยแบบในปัจจุบัน 

ทว่าอย่างที่บอกไป เมื่อเวลาผ่านไปกลับมีกลุ่มคนที่ต้องการนำการต่อสู้กันดั้งเดิมกลับมา การชกที่ไม่ต้องมีอะไรมากั้น เพียงแต่ว่าสิ่งนี้ไม่เคยถูกกฎหมาย การชกแบบไม่มีอุปกรณ์ป้องกันและไร้นวม ถือเป็นการต่อสู้ที่ป่าเถื่อนเกินไป จนต้องแอบจัดตั้งสมาคมและจัดการแข่งขันกันในรูปแบบ “งานใต้ดิน”

จนกระทั่งการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในบาร์แห่งหนึ่งที่สหรัฐอเมริกา ในช่วงราว 10 กว่าปีก่อนเท่านั้น มีชายคนหนึ่งที่เชื่อว่าจะสามารถผลักดันการชกแบบ แบร์นักเคิล หรือการต่อสู้แบบหมัดเปล่าให้ถูกกฎหมายได้ ชื่อของเขาคือ เดวิด เฟลด์แมน 


Photo : espn.com/boxing

เฟลด์แมน เป็นเจ้าของบาร์แห่งหนึ่งที่หลงใหลในการชกมวยมาก ในอดีตเขาเคยขึ้นชกในเวทีระดับมาตรฐานมาก่อน เขาได้พบกับนักมวยชาวแคนาดาชื่อว่า บ็อบบี้ กันน์ ที่บอกว่าจริง ๆ แล้วการชกด้วยหมัดเปล่าคือวิถีที่เหมาะกับมนุษย์มากที่สุด โดยนักชกคนนั้นพยายามจะบอกว่า ครอบครัวของเขามีธรรมเนียมของชาวไอริช มันคือวิถีแบบ “เซลติก” การชกกันด้วยมือเปล่าถือเป็นการหยุดข้อโต้เถียงเวลามีกิจกรรมในครอบครัวใหญ่ได้ดีที่สุด โดยตัวของ กันน์ บอกกับ เฟลด์แมน และจุดประกายการผลักดันว่าการชกด้วยหมัดเปล่าเซฟร่างกายมนุษย์ได้มากกว่าการชกแบบใส่นวมแน่นอน 

เฟลด์แมน เองก็ชอบใจในความดิบนี้ เขาลองพยายามหาทางปลุกกระแสมวยหมัดเปล่าให้เกิดขึ้น โดยเริ่มจุดไฟในปี 2006 โดยเริ่มจากการจัดเวทีต่อสู้แบบผสมผสานก่อน แต่ก็ไม่ได้เป็นที่นิยมหรือโด่งดังอะไรนัก

จนกระทั่งในปี 2014 เฟลด์แมน นั่งเปิดทวิตเตอร์และพบว่ามีการลงคลิปของเหล่านักสู้มือเปล่า ที่อัพโหลดโชว์ไฟต์ต่าง ๆ ในอินเทอร์เน็ต จนทำให้ตัวของ เฟลด์แมน กลับมาตื่นเต้นกับการต่อสู้แบบนี้อีกครั้ง พร้อมกับตั้งใจจะพิสูจน์เรื่องความปลอดภัยของมัน เพื่อจัดให้มีการจัดแข่งขันการชกหมัดเปล่าแบบถูกกฎหมายได้ในอนาคต 


Photo : theathletic

“ผมเห็นและผมบอกคนอื่น ๆ ทันทีว่า ผมมีไอเดียจะที่ทำให้มันเป็นการแข่งขันชิงแชมป์โลกที่ถูกกฎหมาย แต่หลายคนบอกว่าให้ลืมไปได้เลย เพราะเรื่องนี้เคยมีคนคิดจะผลักดันให้เกิดขึ้นมาก่อนแล้วแต่ก็โดนปฏิเสธไปทั้งหมด สิ่งที่เป็นปัญหามาตลอดคือพวกเขามองว่ามันอันตรายกับนักชกนั่นแหละ” เฟลด์แมน กล่าว

แม้จะถูกห้ามปราม แต่อย่างน้อย ๆ เฟลด์แมน ก็ได้รู้ว่าปัญหาที่ทำให้การชกหมัดเปล่าไม่ผ่านคณะกรรมการคือจุดไหน และเขาจะต้องพยายามแก้ไขมันให้ได้ เพื่อให้มันถูกกฎหมายตามที่หวังไว้หากต้องการให้เป็นกีฬาสากล

เป็นจริงได้ด้วยการพิสูจน์ 

เฟลด์แมน ต้องพยายามพิสูจน์หลายอย่าง เขาพยายามขอความช่วยเหลือจาก ดานา ไวท์ ประธาน UFC สมาคม MMA เบอร์ 1 ของโลก และเจ้าพ่อแห่งวงการ เพื่อให้ช่วยสนับสนุน แต่ ไวท์ ตอบกลับแบบไม่สนใจ และเชื่อว่าฝันของเขาจะไม่เป็นจริงแน่นอน เฟลด์แมน ได้แต่บอกว่า “ไม่เป็นไร งั้นคุณกับผม เราเตรียมไปเจอกันบนดินอีกทีก็ได้” 

“เราแค่ไปเคาะประตูบ้านแล้วโดนประตูบานนั้นกระแทกหน้า” เฟลด์แมน กล่าว พร้อมเสริมว่า “ผมเข้าไปข้างในโดยรู้ว่ากำลังจะถูกปฏิเสธ แต่ก็ไม่ทันได้คิดว่าจะถูกปฏิเสธอย่างต่อเนื่องขนาดนี้”


Photo : jewishexponent

เฟลด์แมน เดินหน้าขอคำปรึกษาจากทุกทาง และพบว่าสิ่งที่เขาขาดคือ กติกาที่ครอบคลุมเรื่องสุขภาพและร่างกายของนักชก เขาจะต้องทำให้ทุกคนปลอดภัย พูดง่าย ๆ คือเจ็บตัวได้ตามธรรมชาติของกีฬาต่อสู้ แต่ข้อแม้คือต้องห้ามเสี่ยงตายจนมากเกินไป เพราะนั่นคือสิ่งที่ทำให้ผู้คนกลัวการชกแบบหมัดเปล่า ดังนั้นเขาจึงร่างกฎขึ้นมา 10 ข้อ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับทั้งนักชก และคนดูก็จะสามารถชมได้โดยไม่หวาดเสียวและหดหู่จนเกินไป 

เช่น ชก 5 ยก ยกละ 2 นาที เมื่อมีเลือดออกจนส่งผลต่อทัศนวิสัยในการต่อสู้ของนักชก อนุญาตให้หยุดห้ามเลือดได้ 30 วินาที นักสู้สามารถใช้เทปพันที่ข้อมือ หัวแม่มือ และฝ่ามือได้ ด้วยผ้าก๊อซหนาไม่เกิน 2.5 มม. อนุญาตให้ใช้การชกอย่างเดียวเท่านั้น ต้องใช้ “กำปั้น” ที่กำเอาไว้สนิท ตบหรือตีไม่ได้เด็ดขาด เช่นเดียวกันกับการใช้อาวุธอื่น ๆ อย่างหมัด เข่า ศอก เป็นต้น

“ผมไม่เคยบอกว่า BKB ปลอดภัยกว่าการชกมวยหรือ MMA แม้ใครหลายคนจะมองข้ามสิ่งนี้ แต่ที่ผมพูดมาตลอดคือ การชก BKB ไม่ได้อันตรายมากไปกว่าการต่อสู้ไหน ๆ ทั้งนั้น” เฟลด์แมน กล่าว 

นอกจากออกกฎเรื่องความปลอดภัยแล้ว เฟลด์แมน ยังอ้างอิงงานวิจัยโดย ดร.ดอน มุซซี่ ประธานสมาคมแพทย์ริงไซด์ ที่ค้นพบว่าการชกหมัดเปล่าอาจจะทำให้ร่างกายมีแผลง่ายขึ้น และมีรอยฟกช้ำมากกว่าการชกมวยปกติ ทว่าหมัดเปลือย ๆ นั้นปลอดภัยสำหรับสมองของนักสู้มากกว่าการชกมวยแบบใส่นวม หรือแม้กระทั่งนวมแบบ MMA ด้วยซ้ำ

“อาการบาดเจ็บที่สมองมีความสำคัญและเป็นภัยคุกคามต่อนักกีฬาเหล่านี้มากกว่า และนั่นคือสิ่งที่เราควรให้ความสำคัญ บาดแผลไม่ใช่เรื่องใหญ่เท่ากับการเจ็บสะสมภายใน ถ้ามีแผลแตก ผมก็แค่เย็บปิดแผล มันจะใช้เวลาแค่ 45 วัน จากนั้นทุกอย่างก็จะกลับมาปกติมากกว่า 90%” ดอน มุซซี่ ที่ภายหลังได้มาทำงานกับ สมาคมต่อสู้หมัดเปล่า กล่าว

ด้วยกฎที่ครอบคลุม และการพิสูจน์ด้วยข้อมูลทางการแพทย์ที่ว่า แม้จะดูรุนแรงแต่ปลอดภัยกับนักชกมากกว่า ทำให้ที่สุดแล้วในปี 2018 สมาคมมวยหมัดเปล่า หรือ Bare Knuckle Fighting Championship (BKFC) ก็ถูกก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ ตอนนี้พวกเขาขึ้นมาบนดินตามคำท้าทายที่ เฟลด์แมน ได้ให้ไว้กับ ดาน่า ไวท์ แห่ง UFC แล้ว 

ตอนนี้ BFKC เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ พวกเขามีสปอนเซอร์เข้ามากมายตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา และเฟลด์แมนบอกอีกว่า ตอนนี้เขามีนายทุนใหญ่ที่ไม่สามารถเผยชื่อได้อยู่เบื้องหลัง มีการสร้างสำนักงานใหญ่ขึ้นที่เมืองฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลเวเนีย รวมถึงสามารถดึงนักสู้ชื่อดัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอดีตนักสู้ MMA มาร่วมศึกได้หลายราย ไม่ว่าจะเป็น อาร์เตม โลบอฟ ลูกน้องคนสนิทของ คอเนอร์ แม็คเกรเกอร์ คนดังแห่งวงการศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสาน, เฮคเตอร์ ลอมบาร์ด อดีตแชมป์โลกรุ่นมิดเดิลเวตของ Bellator รวมถึง เพจ วานซานต์ นักสู้สาวสุดฮอต

ทว่าในขณะที่หลายสิ่งกำลังเข้าที่เข้าทาง BKFC ก็มีปัญหาสด ๆ ร้อน ๆ เมื่อ จัสติน ธอร์นตัน นักชกวัย 38 ปีบาดเจ็บสาหัสหลังแพ้น็อกให้ ดิลลอน เช็คเลอร์ ในการขึ้นสังเวียนที่รัฐมิสซิสซิปปี เมื่อเดือนสิงหาคม โดยในจังหวะดังกล่าว เขาโดนหมัดขวากระแทกเข้าเต็มหน้า ก่อนลงไปนอนหมดสติโดยเอาหน้าลงพื้น ก่อนที่กรรมการจะสั่งยุติการแข่งขันด้วยเวลาเพียง 19 วินาทีในยกที่ 1 เท่านั้น และเขาก็ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที

หลังจากไปถึงโรงพยาบาล ธอร์นตัน มีอาการอัมพาตบางส่วน และต้องสวมเครื่องช่วยหายใจเป็นเวลาหลายสัปดาห์ อีกทั้งมีภาวะติดเชื้อในปอด ต้องใช้ยารักษาอาการบาดเจ็บบริเวณไขสันหลัง สุดท้ายเขาก็เสียชีวิตในช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา 

งานวิจัยของ ดร. ดอน กำลังถูกรื้อขึ้นมาศึกษาอีกครั้ง และเป็นหน้าที่ของ BKFC ที่จะต้องพิสูจน์ว่า ทั้งหมดที่พวกเขาเคยทำยังคงมีความปลอดภัยที่น่าเชื่อถือ

นี่อาจจะเป็นอุบัติเหตุ อีกทั้งที่ผ่านมา วงการต่อสู้อื่น ๆ ก็มีเหตุที่นักกีฬาเสียชีวิตเช่นกัน แต่การต่อสู้ก็ต้องดำเนินต่อไป เพราะตลาดของวงการนี้ยังคงเข้มข้น ทั้งมวยสากล, MMA และ BKB กำลังต่อสู้แย่งความนิยมกันอย่างดุเดือด 

นั่นคือเหตุผลที่ว่า BKFC จะยอมแพ้แล้วปล่อยให้ภาพลักษณ์ที่พวกเขาพยายามแก้ไขมากว่า 10 ปีถูกทำลายลงไม่ได้ 

Thailand Sport Magazine Sponsored
ผู้สื่อข่าว กีฬา

ข่าวกีฬา นักกีฬา กีฬา ในร่ม indoor outdoor ต้องทำ sport ให้เป็น กีฬา หลักของประเทศ ดูข้อมูล กอล์ฟ บาสเก็ตบอล ฟุตบอล ว่ายน้ำ วอลเล่ย์บอล มวย แข่งรถ แบดมินตัน และ อีสปอร์ต Dedicated to all sport news from Thailand, with news updates, stories and event reports on many different types of sporting activities that the Thailand currently holds, across all of the asia.

This website uses cookies.