AIS ย้ำภารกิจคนไทยไร้ E-Waste ในวันขยะอิเล็กทรอนิกส์สากล ตั้งเป้าสู่การเป็น Hub ด้านองค์ความรู้และจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างยั่งยืน
วันที่ 14 ตุลาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า องค์กรมากกว่า 100 องค์กรจาก 44 ประเทศทั่วโลก ได้ร่วมกันกำหนดให้วันที่14 ตุลาคม 2563 เป็นวันขยะอิเล็กทรอนิกส์สากล (International E-waste Day: IEWD) และกำหนดให้วันนี้ของทุก ๆ ปี เป็นวันที่รณรงค์การสร้างความตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ต่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์
จากข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN) ในปี 2564 แต่ละคนบนโลกผลิตขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยเฉลี่ย 7.6 กิโลกรัม ซึ่งหมายความว่าเกิดขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมหาศาล กว่า 57.4 ล้านตันทั่วโลก แต่มีขยะอิเล็กทรอนิกส์เพียง 17.4% ที่มีส่วนผสมของสารอันตรายและวัสดุล้ำค่าถูกรวบรวมเพื่อนำไปรีไซเคิลอย่างเหมาะสม
ด้วยเหตุนี้ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ผู้นำด้าน Digital Life Service Provider ที่มีคลื่นความถี่ในการให้บริการมากที่สุดในไทยรวม 1420 MHz และมีจำนวนผู้ใช้งานมากที่สุดกว่า 43.2 ล้านเลขหมาย (ณ มิถุนายน 2564) พร้อมขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยเทคโนโลยี 5G ใน 77 จังหวัด จึงตระหนักถึงความสำคัญของการรณรงค์ สร้างการรับรู้ รวมถึงสร้างองค์ความรู้ และการมีส่วนร่วมในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์
ที่ผ่านมา AIS ได้ดำเนินการด้านการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านภารกิจ คนไทยไร้ E-Wast ที่สร้างความตระหนักรู้ผ่านการสื่อสาร กิจกรรม และโครงการต่าง ๆ ทำให้สามารถเก็บ e-waste เข้าสู่กระบวนการจัดการที่ถูกต้องได้แล้วกว่า 223,807 ชิ้น ซึ่งสามารถดูดซับปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 2,238,070 กิโลกรัมคาร์บอนสมมูลย์ เทียบเท่ากับต้นไม้ขนาดใหญ่ 248,674 ต้น (น้ำหนัก 10,749.17 Kg. / 10.7 Tons)
ล่าสุด AIS ได้ นางสาวพาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ หรือเทนนิส นักเทควันโดคนแรกของประเทศไทยที่ได้รับเหรียญทองจากการแข่งกีฬาเทควันโดในโอลิมปิกฤดูร้อนครั้งล่าสุด มาร่วมรณรงค์ให้เห็นถึงความสำคัญของการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์
พาณิภัคเล่าว่า เหรียญทองโอลิมปิกนับว่าเป็นความภูมิใจสูงสุดที่เกิดจากความพยายาม และที่สำคัญคือทุกเหรียญเกิดจากความตั้งใจของชาวญี่ปุ่นในการรวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์มาสร้างเป็นเหรียญรางวัลให้กับนักกีฬา
“ซึ่งถือว่าเราได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ และยังเป็นตัวอย่างในการรีไซเคิลให้ขยะกลับมามีคุณค่าอีกครั้ง วันนี้ยังมีขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมากที่ยังจัดการไม่ถูกวิธี เราต้องเริ่มจากการวางแผนการใช้งานอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้คุ้มค่าที่สุด และหากจำเป็นต้องทิ้ง ก็ควรทิ้งให้ถูกวิธีกับ AIS ที่มีจุดรับทิ้งมากมาย พวกเราทุกคนช่วยกันได้ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อมและโลกของเรา”
นางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ AIS กล่าวว่า เนื่องในวัน International E-Waste Day ประจำปีนี้ AIS ขอย้ำเตือนสังคมให้เห็นถึงปัญหาของขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีการเติบโตสูงสุดในบรรดาขยะทั้งหมด ซึ่งจะต้องจัดการทิ้งให้ถูกวิธีและมีความรับผิดชอบ
ถึงวันนี้ภารกิจคนไทยไร้ E-Waste ยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยรับอาสารวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล และกำจัดตามมาตรฐานสากล ปัจจุบันได้จัดทำถังรับทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ วางในจุดต่า งๆ ทั่วประเทศ รวมแล้วกว่า 2,400 จุด และได้ทำงานร่วมกับพันธมิตรในภาคส่วนต่าง ๆ เช่น ไปรษณีย์ไทย ที่สามารถฝากทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์กับไปรษณีย์ได้ รวมถึงองค์กรเครือข่ายคนไทยไร้ E-Waste ในการเป็นจุดรับทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์จากคนไทยทั่วประเทศ
“เป้าหมายการทำงานของ AIS ต่อเรื่องขยะอิเล็กทรอนิกส์จึงไม่ใช่เพียงแค่กิจกรรมเพื่อสังคม แต่เราต้องกาขยายออกไปสู่การ สร้างการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน โดยวันนี้เราพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางด้านองค์ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธี ซึ่งจะไม่ใช่แค่การได้มาซึ่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ลดลงเท่านั้น แต่ยังช่วยสร้างประโยชน์ที่เกิดจากการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้กลับมามีคุณค่าอีกครั้ง”
“นอกเหนือจากการทำงานเพื่อส่งมอบประสบการณ์ใหม่ด้วยดิจิทัลเทคโนโลยีในทุกรูปแบบแล้ว เรายังมีอีกหนึ่งพันธกิจในการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่าง ๆ ร่วมดูแลรับผิดชอบต่อสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมให้สามารถเติบโตไปพร้อมกันอย่างยั่งยืนได้
เราเชื่อว่าการจะขับเคลื่อนเพื่อจัดการกับขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้คนไทยไร้ E-Waste ได้นั้น ต้องเกิดจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน มีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง และลงมือทำอย่างจริงจัง ก็จะทำเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ในที่สุด ทั้งนี้ หากองค์กรใดสนใจเข้าร่วมเป็นเครือข่าย คนไทยไร้ E-Waste สามารถติดต่อได้ที่อีเมล์ [email protected] เพื่อร่วมกันดูแลสิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน”