Thailand Sport Magazine Sponsored

ไขข้อข้องใจ : ทำไมทีมชาติไทยจึงไม่ใช้วิธีโอนสัญชาตินักกีฬา ? | Main Stand – TrueID – Sport

Thailand Sport Magazine Sponsored
Thailand Sport Magazine Sponsored

เส้นทางของทัพนักเตะทีมชาติไทย ในศึกฟุตบอลโลก 2022 รอบคัดเลือก จะจบลงไปแล้วด้วยความผิดหวัง

แน่นอนว่าแฟนบอลทั้งพันธุ์แท้ และพันธุ์ทาง ร่วมกันเคาะแป้นพิมพ์วิเคราะห์แนวทางการแก้ปัญหา และพัฒนา ไม่ว่าจะเป็น ตัวโค้ช ผู้เล่น แนวทางการทีม 

ไม่เว้นแม้แต่ “การโอนสัญชาติ” ที่หลายคนเริ่มให้ความสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะมีหลายประเทศรวมถึงละแวกเพื่อนบ้าน ที่นำวิธีนี้มาใช้ เพื่อเป็นทางลัดในการประสบความสำเร็จ 

อย่างไรก็ตาม ก่อนจะถกเถียงกันต่อว่าวิธีนี้ดีหรือไม่ดี ตลอดจนเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมอย่างไรนั้น สิ่งที่ทุกคนต้องพึงรู้ไว้เป็นอันดับแรกก็คือ การจะโอนสัญชาติในราชอาณาจักรไทยได้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด… 

กลยุทธ์แข้งโอนสัญชาติ ประตูลัดสู่ความสำเร็จ

การใช้นักเตะโอนสัญชาติไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในวงการฟุตบอล และสามารถพบเห็นได้ในหลาย ๆ ชาติ โดยในฟุตบอลโลก 2018 มีถึง 22 ชาติ ที่มีนักเตะที่ไม่ได้เกิดในประเทศตัวเองอยู่ในทีม ซึ่งการโอนสัญชาตินั้นแบ่งเป็นหลายประเภท อาทิ ตัวนักเตะมีเชื้อสายของประทศนั้น ๆ อยู่แล้วจากรุ่น พ่อ แม่ ปู่ ย่า ฯลฯ แต่ไปเติบโตที่ประเทศอื่น ตลอดจนการอพยพย้ายถิ่นฐานหรือย้ายมาค้าแข้งในประเทศนั้น ๆ เป็นเวลานาน 


Photo : colgadosporelfutbol.com

ขณะที่ในเอเชียญี่ปุ่นในยุค 90’s ดูจะเป็นประเทศแรก ๆ ที่ชัดเจนที่สุดที่เริ่มมีสตาร์โอนสัญชาติอยู่ในทีม ไม่ว่าจะเป็น วากเนอร์ โลเปส, รุย รามอส หรือ อเล็กซ์ ซึ่งล้วนเป็นผู้เล่นเชื้อสายบราซิลโดยกำเนิด ที่ย้ายถิ่นฐานมาปักหลักในแดนอาทิตย์อุทัยตั้งแต่อายุไม่ถึง 20 ปี และลงเล่นฟุตบอลในญี่ปุ่นตั้งแต่ระดับกึ่งอาชีพอยู่เป็น 10 ปี ก่อนจะได้สัญชาติ

ทว่าในปัจจุบันการโอนสัญชาติในเอเชียได้ยกระดับจากกรณีข้างต้นจนกลายเป็น “กลยุทธ์” ที่หลายประเทศเลือกใช้อย่างจริงจัง โดยหวังที่จะเป็นประตูลัดสู่ความสำเร็จ แม้นักเตะคนนั้นจะไม่ได้มีเชื้อสายหรือมีความผูกพันกับชาตินั้น ๆ ตั้งแต่เด็กเลยก็ตาม เนื่องจากนักเตะเหล่านั้นส่วนใหญ่มีสรีระร่างกายรวมถึงฝีเท้าที่ดีกว่าผู้เล่นท้องถิ่น

จีนคือชาติที่ประกาศตัวชัดเจนว่าเลือกใช้วิธีนี้เพื่อความหวังที่จะไปฟุตบอลโลก 2022 หลังจากที่ไม่ประสบความสำเร็จมาเกือบ 2 ทศวรรษ จากการได้ไปเล่นฟุตบอลโลกหนสุดท้ายตั้งแต่ปี 2002 โดยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างจริงจังและเริ่มวางกลยุทธ์มาตั้งแต่ปี 2015 ตั้งแต่การเสนอแก้ไขกฎหมายคนเข้าเมืองเพื่อสนับสนุนการแปลงสัญชาติของนักกีฬา พร้อมได้สมาคมฟุตบอลจีน (CFA) ช่วยผลักดันด้วยการเลือก 3 สโมสรใหญ่ในลีกอย่าง ปักกิ่งกัวะอัน, กว่างโจว เอเวอร์แกรนด์ และซานตง ลู่เหนิง รองรับแข้งเหล่านั้นเพื่อนำร่องโครงการแปลงสัญชาติ 

ก่อนจะได้ผลผลิตอย่างเอเคลสัน, อลัน คาร์วัลโญ และแฟร์นันดินโญ 3 นักเตะบราซิเลียนซึ่งได้รับสัญชาติจีนผ่านถิ่นที่อยู่ แม้จะไม่มีเชื้อสายจีนเลยแม้แต่นิดเดียวก็ตาม โดยทั้งหมดใช้เวลาเพียง 4-6 ปีเท่านั้นในการเปลี่ยนสัญชาตินับตั้งแต่ย้ายมาค้าแข้งในไชนีส ซูเปอร์ลีก ไม่ต่างกับ กาตาร์, ฮ่องกง, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ตลอดจนทีมในอาเซียน อย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือติมอร์ เลสเต ที่เลือกใช้กลุยุทธ์นี้ควบคู่กับการสร้างนักเตะท้องถิ่นไปพร้อมกัน  

แต่ปัจจัยดังกล่าวทั้งหมดนั้น แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยในช่วงระยะเวลาอันสั้นแบบนี้

กฎหมายไทยที่ไม่อำนวย ดูเหมือนง่ายแต่ยากกว่าที่คิด

การจะเปลี่ยนสัญชาติได้นั้น ปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือต้องได้รับความยินยอมจากประเทศนั้น ๆ ทุกสิ่งทุกอย่างมีกฎหมายและหลักเกณฑ์กำหนดไว้ชัดเจน จึงไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นง่าย ๆ เลยตราบใดที่เรื่องนี้ยังไม่ใช่ “วาระแห่งชาติ” ที่รัฐบาลออกโรงสนับสนุนอย่างจริงจัง

ปัจจุบันด้วยกฏหมายของประเทศไทยในการโอนสัญชาติ ตาม พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 10 มีขั้นตอนและการจำแนกบุคคลแต่ละประเภทระบุไว้อย่างละเอียดว่าผู้ใดสามารถขอสัญชาติไทยได้บ้าง เช่น โดยการเกิด, สืบสายโลหิต, หลักดินแดน (เกิดในประเทศไทย) หรือภายหลังการเกิด,  โดยการสมรส, การแปลงสัญชาตินั้นยิ่งใครไม่ได้มีเชื้อสาย ไม่มีต้นตระกูล หรือไม่ได้เกิดในเมืองไทย โอกาสที่จะได้สัญชาติไทยยิ่งน้อยลงไปเรื่อย ๆ 

กรณีขอแปลงสัญชาติเป็นไทย สำหรับคนต่างด้าวทั่วไปที่ไม่ได้มีสายโลหิตหรือหลักดินแดนในประเทศไทย ในมาตรา 10 ระบุหลักเกณฑ์คร่าว ๆ เบื้องต้น ดังนี้ 

– ต้องเป็นผู้บรรลุนิติภาวะ
– มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว
– มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทยต่อเนื่อง ไม่น้อยกว่า 5 ปี
– มีหนังสือรับรองการประกอบอาชีพจากสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว
– กรณีไม่มีความเกี่ยวพันกับประเทศไทย ต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 80,000 บาท/เดือน
– มีหลักฐานการเสียภาษีมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี
– มีความรู้ภาษาไทย สามารถพูดภาษาไทยและฟังภาษาไทยเข้าใจ
– มีความประพฤติดี โดยต้องผ่านการตรวจสอบประวัติอาชญากรรม พฤติการณ์ทางการเมือง ยาเสพติด และพฤติการณ์เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
 
ซึ่งรายละเอียดข้างต้นเป็นเพียงหลักเกณฑ์เบื้องต้นในการยื่นขอสัญชาติเท่านั้น เมื่อยื่นแล้วยังต้องเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาจากหลายหน่วยงาน ไล่ตั้งแต่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, คณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองคำขอแปลงสัญชาติ, เสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณา โดยมี กระทรวงมหาดไทย, กองบัญชาการตำรวจสันติบาล, เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เป็นผู้พิจารณาตามลำดับ

สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ “การอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้แปลงสัญชาติเป็นไทยนั้นอยู่ที่ดุลพินิจของรัฐมนตรี” หากมีการเห็นสมควรขั้นต่อไปต้องส่งเรื่องไปที่ สำนักงานราชเลขาธิการนำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต แล้วจึงส่งเรื่องให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษาอย่างเป็นทางการ

จะเห็นได้ว่าหลักเกณฑ์การยื่นขอสัญชาติไทยนั้นดูเหมือนจะไม่ยาก แต่สิ่งที่ยากที่สุดก็คือจะได้รับการอนุมัติหรือไม่ เพราะอย่าลืมว่าการให้สิทธิคนชาติอื่นมาใช้สัญชาติไทยได้นั้น ย่อมหมายถึงการเปิดโอกาสให้คนเหล่านั้นได้เข้ามาเบียดเบียนหรือแบ่งผลประโยชน์จากคนไทยในประเทศ ไม่ว่าจะเป็น การจ้างงาน การได้ประกอบอาชีพที่สงวนไว้สำหรับคนไทย รวมถึงงบประมาณและสวัสดิการต่าง ๆ ที่ต้องเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย 

แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีใครเคยได้…

กรณีศึกษานักกีฬาไทย ที่สะท้อนถึงวงการฟุตบอลในอนาคต

ในวงการกีฬาไทยปัญหาการขอสัญชาติไทยมีให้เห็นมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีทั้งที่สมหวังและผิดหวัง เช่น อาซึคิ อิวาตานิ นักกีฬาคาราเต้หญิงประเภทท่ารำบุคคล ที่แม้จะลืมตาดูโลกและใช้ชีวิตที่ประเทศไทยมาตั้งแต่กำเนิด แต่ด้วยการที่เธอมีคุณพ่อและคุณแม่เป็นชาวญี่ปุ่น จึงทำให้ไม่ได้รับสัญชาติไทยและหมดโอกาสในการเป็นตัวแทนทีมชาติไทยไปแข่งขันในทัวร์นาเมนต์ระดับนานาชาติ โดยเธอเดินเรื่องขอสัญชาติไทยมาแล้วมากกว่า 3 ปี แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะอายุที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ จึงต้องให้บิดาหรือมารดาเป็นผู้ขอสัญชาติแทนแล้วพ่วงเธอไปด้วย

ขณะที่ “โค้ชเซี่ย” เซี่ย จื่อ หัว ผู้ฝึกสอนแบดมินตันชาวจีนของสโมสรบ้านทองหยอด ผู้สร้าง “น้องเมย์” รัชนก อินทนนท์ ให้กลายเป็นนักหวดลูกขนไก่หญิงมือ 1 ของโลก ถือเป็น 1 ในกรณีศึกษาที่สามารถขอสัญชาติไทยได้สำเร็จ โดย “โค้ชเซี่ย” เข้าหลักเกณฑ์ยื่นเรื่องขอสัญชาติไทยครบทุกข้อ โดยอาศัยอยู่เมืองไทยในฐานะผู้ฝึกสอนมากว่า 20 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2534 ก่อนจะยื่นเรื่องขอมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรไทย เมื่อปี พ.ศ. 2556 โดยได้ถิ่นฐานที่อยู่ในปี พ.ศ. 2558 จากนั้นก็ขอสัญชาติไทยเมื่อปี พ.ศ. 2559 และมีประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้ได้รับการอนุญาตให้แปลงสัญชาติ เมื่อ พ.ศ. 2560 เบ็ดเสร็จใช้เวลาดำเนินการราว 4 ปี ไม่นับรวมช่วงเวลาที่เข้ามาอาศัยในประเทศไทยก่อนหน้านั้น

ซึ่งนอกจากหลักเกณฑ์จะครบข้อกำหนดแล้ว ส่วนหนึ่งที่ส่งให้การพิจารณาขอสัญชาติของ “โค้ชเซี่ย” เป็นไปอย่างลุล่วง ก็คือการได้ช่วยสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทย จากการเป็นผู้ฝึกสอนและปลุกปั้นน้องเมย์จนประสบความสำเร็จในระดับโลก คล้ายคลึงกับกรณีของ “โค้ชเช” ชเว ยอง ซอก เฮดโค้ชเทควันโดไทย ที่มีความต้องการจะขอสัญชาติไทยเช่นกัน โดยมีผลงานพาทีมชาติไทยกระชากเหรียญทองมาทุกรายการในเวทีโลกตั้งแต่ปี 2002 พ่วงการพิจารณา

ต่างกันที่ก่อนหน้านี้ “โค้ชเช” มีความต้องการจะโอนสัญชาติจริง แต่ยังไม่ยังไม่ประสบความสำเร็จและคาราคาซังมากว่า 10 ปี เนื่องจากก่อนหน้านี้เจ้าตัวมีจำนวนปีที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยไม่เพียงพอ อีกทั้งยังไม่พร้อมที่จะสละสัญชาติเกาหลีใต้ เนื่องจากต้องเดินทางไปกลับระหว่างประเทศเพื่อดูแลคุณย่าที่ป่วย ซึ่งตอนนี้เจ้าตัวหมดภาระในส่วนนี้แล้ว และได้ตัดสินใจสละสัญชาติบ้านเกิด พร้อมขอสัญชาติไทยเพื่อใช้ชีวิตในเมืองไทยในช่วงที่เหลือ ซึ่งก็ยังต้องจับตาดูว่าจะสมหวังเมื่อไหร่

สิ่งเหล่านี้สะท้อนมาถึงกรณีของนักฟุตบอลได้เช่นกัน หากมีความต้องการที่จะโอนสัญชาติมาเล่นให้ทีมชาติไทยจริง  ก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อมเป็นเวลาอย่างต่ำถึง 5 ปี เพื่อการลงหลักปักฐานในเมืองไทย โดยจะไม่สามารถย้ายไปเล่นยังต่างแดนได้เลยในช่วงเวลาดังกล่าว ตามหลักเกณฑ์ที่ว่าเรื่อง “ความต่อเนื่อง” ซึ่งกรณีนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับ ริคาร์โด กูลาร์ต สตาร์บราซิลชื่อดัง ที่โอนสัญชาติไปเล่นให้ทีมชาติจีน แต่ถูกฟีฟ่าระงับไม่ให้ลงเล่นเนื่องจากตรวจพบว่าในช่วงปี 2018-19 เจ้าตัวได้ย้ายไปเล่นให้พัลไมรัสในบ้านเกิดด้วยสัญญายืมตัว เป็นเวลา 183 วัน อันขัดต่อกฎการแปลงสัญชาติของฟีฟ่าที่ต้องอาศัยอยู่ในประเทศนั้น ๆ ต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปี

นอกจากนี้ยังไม่นับรวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่นักฟุตบอลเองอาจจะต้องเสียโอกาสบางอย่างไป หากตัดสินใจสละสัญชาติเดิมแล้วเลือกสัญชาติไทย ซึ่งสุดท้ายแล้วจึงต้องย้อนกลับไปถามที่ตัวนักเตะเองว่า จะมีสักกี่รายที่กล้าพอจะยอมรับความเสี่ยงในจุดนี้

คุ้มจริงหรือที่จะเลือกสัญชาติไทย?

มุมมองแฟนบอลอาจคิดได้ว่า อยากเห็นนักเตะคนนั้นคนนี้โอนสัญชาติมาเล่นให้กับทีมชาติไทย แต่ในความเป็นจริงแล้วปัจจัยสำคัญที่สุดก็คือ นักเตะเหล่านั้นสนใจที่จะเลือกโอนสัญชาติมาเล่นให้เราจริงหรือ 


Photo : www.foxsportsasia.com | Football Association Singapore

ตามหลักเกณฑ์การขอสัญชาติไทย ผู้ยื่นคำขอต้องแสดงเอกสารที่ยื่นต่อสถานทูตหรือสถานกงสุลของประเทศที่ตนถือสัญชาติ อันเป็นการแสดงเจตนาของผู้ประสงค์จะขอแปลงสัญชาติเป็นไทย ที่จะสละสัญชาติเดิมเมื่อได้รับอนุญาตให้แปลงสัญชาติเป็นไทยแล้ว

นั่นหมายถึง การที่เจ้าตัวพร้อมแล้วที่จะสละโอกาสรวมถึงสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่จะได้จากการเป็นพลเมืองของประเทศตัวเองไป แล้วเปลี่ยนมารับสวัสดิการของประเทศไทยอย่างเต็มตัว

ประชาชนคนไทยเองหลายคนยังมองว่าสวัสดิการหรือการคุ้มครองต่าง ๆ ที่ได้รับจากภาครัฐ ยังไม่ดีพอ ยิ่งเมื่อเทียบกับชาติชั้นนำอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น สวัสดิการด้านต่าง ๆ อาทิ การศึกษา พยาบาล สาธารณสุข การดูแลเด็ก ผู้ป่วย คนชรา บริการสาธารณะ ตลอดจนเงินจากสวัสดิการต่าง ๆ ที่ไม่เพียงพอกับการดำรงชีวิต ยังไม่รวมถึงอิทธิพลจากการถือพาสปอร์ต และการขอวีซ่ายามเดินทางไปประเทศอื่น ๆ

เหนือสิ่งอื่นใด การลงเล่นให้ทีมชาติไทยนั้นไม่ได้มีเงินค่าจ้างค่าตอบแทนแต่อย่างใด มีแต่เพียงความภาคภูมิใจที่ได้ประดับธงไตรรงค์บนหน้าอกลงรับใช้ชาติเท่านั้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต่างจากจีนและชาติอื่น ๆ ที่นำเรื่องนี้มาเป็น “วาระแห่งชาติ” และมีผลประโยชน์อย่างงามตอบแทนให้กับนักฟุตบอลที่โอนสัญชาติมาเล่นให้


Photo : facebook.com/changsuek/

“มีรางวัลที่ชัดเจนสำหรับผู้เล่น ได้เงินมากขึ้น และมีโอกาสได้เล่นในทัวร์นาเมนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกกับจีน ซึ่งพวกเขาจะไม่สามารถทำได้หากยังคงอยู่กับประเทศเดิม ผู้เล่นที่เลือกเปลี่ยนสัญชาติจึงมีความคิดที่ชัดเจนว่าผลตอบแทนเหล่านั้นมีค่ามากกว่าผลเสียของการเปลี่ยนมาใช้พาสปอร์ตจีน” มาร์ค ดรีเวอร์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ China Sports Insider เผยผ่านสื่อ The Star

แล้วประเทศไทย มีอะไรที่ดึงดูดนักเตะเหล่านั้น? เมื่อเป็นเช่นนี้ก่อนจะถกกันต่อว่าการโอนสัญชาตินั้นดีจริงหรือไม่ คำถามที่น่าสนใจมากกว่าคือ จะมีนักฟุตบอลสักกี่รายที่จะกล้าเสี่ยงทิ้งสัญชาติของตัวเองมาเลือกเล่นให้ทีมชาติไทย 

แหล่งอ้างอิง : 

www.info.go.th
https://www.bora.dopa.go.th/nationclinic/NewHTML/Section10.htm
https://www.sixthtone.com/news/1007602/can-naturalized-athletes-save-chinas-sporting-dreams%3F
https://www.thestar.com.my/news/regional/2019/07/08/can-china-win-the-soccer-world-cup-with-a-handful-of-naturalised-players-probably-not

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • ผมพร้อม!! คาร์โดโซ่ แนวรับบีจี พร้อมโอนสัญชาติ เล่นให้ทีมชาติไทย
  • ทีมไหนดี!! ‘เบนจามิน เดวิส’ จ่อกลับเล่นที่ไทย หลัง ฟูแล่ม ส่อไม่ต่อสัญญา

ดูสดฟรี!! ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ทุกสัปดาห์ พร้อมกีฬาชั้นนำระดับโลกแบบจัดเต็ม ต้อง App TrueID เท่านั้น

รวมข้อมูลแก้ไขปัญหาการใช้งาน รับชม หรือโปรโมชันกิจกรรมต่างๆ >> คลิกที่นี่

อัพเดทข่าว ผลบอล พรีเมียร์ลีก แบบทันใจ พร้อมวิเคราะห์คู่เด่นในรอบสัปดาห์ ส่งถึงมือคุณ
คลิกเลย!! bit.ly/2PsYXMG หรือ กด *301*32# โทรออก

Thailand Sport Magazine Sponsored
ผู้สื่อข่าว กีฬา

ข่าวกีฬา นักกีฬา กีฬา ในร่ม indoor outdoor ต้องทำ sport ให้เป็น กีฬา หลักของประเทศ ดูข้อมูล กอล์ฟ บาสเก็ตบอล ฟุตบอล ว่ายน้ำ วอลเล่ย์บอล มวย แข่งรถ แบดมินตัน และ อีสปอร์ต Dedicated to all sport news from Thailand, with news updates, stories and event reports on many different types of sporting activities that the Thailand currently holds, across all of the asia.

This website uses cookies.