ขณะที่รัฐบาลรณรงค์ให้ประชาชนไปฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แต่ประชาชนจำนวนมากกลับยังไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนได้ โดยมีอีกส่วนตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนจากจีน
แผนฉีดวัคซีนเพื่อสร้าง “ภูมิคุ้มกันหมู่” ของรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกประกาศให้เป็น “วาระแห่งชาติ” พร้อมกำหนดให้วันที่ 7 มิ.ย. เป็นจุดเริ่มต้นในการปูพรมฉีดทั้งแผ่นดิน
พล.อ. ประยุทธ์ให้นโยบายไว้ว่าต้องฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ได้วันละ 5 แสนคน หรือเดือนละ 15 ล้านโดส แต่ข่าววัคซีนขาดแคลน ไม่มาตามนัด หรือฉีดครบแล้วแต่ยังติดโรค หรือได้รับผลข้างเคียงรุนแรง ก็ออกมาไม่เว้นแต่ละวัน
บีบีซีไทยรวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ในไทยมาไว้ ณ ที่นี่
ไทยฉีดวัคซีนไปถึงไหนแล้ว
87 วันนับจากนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข เป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 เมื่อ 28 ก.พ. 2564 ปรากฏว่ามีคนไทย 3,024,313 คนที่ได้รับวัคซีนแล้ว หรือคิดเป็น 4.32% ของคนไทยทั้งประเทศและประชากรแฝงรวม 70 ล้านคน เท่ากับว่าอัตราการฉีดวัคซีนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 34,762 คน/วัน ห่างจากเป้าหมายของ พล.อ. ประยุทธ์ไปมหาศาล
ในจำนวนนี้มีเพียง 980,190 คน หรือคิดเป็น 1.40% ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม และอีก 2,044,123 คน หรือคิดเป็น 2.92% ได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้ว (ข้อมูล ณ 25 พ.ค. 2564)
ย้อนกลับไปเมื่อ ม.ค. 2564 กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประกาศประชากรเป้าหมายไว้ 19 ล้านคนที่ต้องฉีดวัคซีนเป็นกลุ่มแรก ๆ ได้แก่
- บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า 1.7 ล้านคน
- ผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจ โรคไตเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน 6.1 ล้านคน
- ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 11.1 ล้านคน
- เจ้าหน้าที่ควบคุมโควิดและมีโอกาสสัมผัสกับผู้ป่วย 15,000 คน
สองเดือนต่อมา เมื่อวัคซีนโคโรนาแวคของบริษัทซิโนแวคทยอยเดินทางมาถึงไทย เดือน มี.ค. สธ. ระบุจะเร่งฉีดวัคซีนสัญชาติจีน 2 ล้านโดสนี้ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และกลุ่มเป้าหมายในจังหวัดเสี่ยง ภายใน มี.ค.-พ.ค. จากนั้นครึ่งปีหลัง เมื่อวัคซีนของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดสมาถึง ก็จะกระจายให้ทุกจังหวัดต่อไป
อย่างไรก็ตามหลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสามนับจากเดือน เม.ย. ทำให้แผนบริหารจัดการวัคซีนต้องเปลี่ยนแปลงไป โดยมีการจัดสรรวัคซีนให้พื้นที่แพร่ระบาดหนักเพื่อหยุดวงจรการแพร่เชื้อโรค อาทิ ระดมฉีดให้พนักงานสถานบันเทิงหลังเกิด “คลัสเตอร์ทองหล่อ”, ระดมฉีดให้ชาวชุมชนแออัดหลังเกิด “คลัสเตอร์คลองเตย”, ระดมฉีดให้ผู้ต้องขังหลังเกิด “คลัสเตอร์เรือนจำ” ฯลฯ
ในการจัดสรรและกระจายวัคซีนโควิด-19 ตามแผน “ปูพรมฉีด” ที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่ 7 มิ.ย. นี้ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าจะคำนึงถึง 4 ปัจจัย ได้แก่ จำนวนวัคซีนที่มี, จำนวนประชากร, สถานการณ์การระบาดในปัจจุบัน และกลุ่มเป้าหมาย เช่น ครู แรงงาน
วัคซีนในมือไทยมียี่ห้อใดบ้าง
วัคซีนต้านโควิด-19 ที่กระจายอยู่ในไทยในเวลานี้มี 2 ยี่ห้อ รวม 6,117,000 โดส แบ่งเป็น
- วัคซีนโคโรนาแวคของบริษัทซิโนแวค นำเข้าโดยองค์การเภสัชกรรม (อภ.) จำนวน 6 ล้านโดส เดินทางถึงไทยแล้ว 8 ล็อต ระหว่าง 24 ก.พ. ถึง 20 พ.ค.
- วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า นำเข้าโดยบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด เดินทางจากเกาหลีใต้ถึงไทยล็อตแรกและล็อตเดียว เมื่อ 24 ก.พ. จำนวน 117,000 โดส
ในอนาคต วัคซีนที่จะนำมาให้บริการประชาชนชาวไทยในปีนี้ตามแผนบริหารจัดการวัคซีนของ สธ. ที่ประกาศไว้ มีอีกอย่างน้อย 64 ล้านโดส แบ่งเป็น
- วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตในไทยโดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด (SBS) จำนวน 61 ล้านโดส จะทยอยออกมา 7 ล็อต (มิ.ย. 6 ล้านโดส, ก.ค. 10 ล้านโดส, ส.ค. 10 ล้านโดส, ก.ย. 10 ล้านโดส, ต.ค. 10 ล้านโดส, พ.ย. 10 ล้านโดส และ ธ.ค. 5 ล้านโดส)
- วัคซีนของซิโนแวค จำนวน 3 ล้านโดส จะเดินทางถึงไทยเพิ่มเติมอีกในเดือน มิ.ย.
แอสตร้าเซนเนก้า 1.7 ล้านโดสหายไปไหน
ตลอด 2 วันมานี้ มีคำถามเกิดขึ้นว่าวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 1.7 ล้านโดสที่ สธ. เคยระบุเมื่อช่วงต้นเดือน พ.ค. ว่ามาถึงไทยก่อนกำหนดในเดือนนี้ (ตัดมาจากยอด 6 ล้านโดส ซึ่งตามแผนจะมาถึง มิ.ย.) หายไปไหน มีมือดีแทรกคิวตัดเอาวัคซีคไปก่อนหรือไม่
แม้ สธ. ไม่เคยออกมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับการกระจายวัคซีนล็อตนี้อย่างเป็นทางการ ทว่ามีเอกสาร “แผนการบริหารจัดการวัคซีนประจำเดือน พ.ค.” ซึ่งอ้างว่าจัดทำโดยกรมควบคุมโรค ณ 14 พ.ค. ถูกเผยแพร่ในสื่อมวลชนและสื่อสังคมออนไลน์ และไม่มีผู้บริหารกระทรวงคนใดออกมาปฏิเสธว่าไม่ใช่เอกสารจริง
เอกสารดังกล่าวระบุว่า SBS คาดการณ์ว่าจะจัดส่งวัคซีน 5 แสนโดส ได้ในวันที่ 21 พ.ค. ก่อนนำไปกระจายฉีดใน กทม. และปริมณฑลซึ่งเป็นพื้นที่ระบาด พร้อมระบุกลุ่มเป้าหมายไว้เสร็จสรรพ ประกอบด้วย กทม. จำนวน 3 แสนโดส, จัดสรรเป็นเข็มที่ 2 ใน 7 จังหวัด จำนวน 1 แสนโดส, นักการทูต/องค์กรระหว่างประเทศ จำนวน 2 หมื่นโดส ส่วนที่เหลืออีก 8 หมื่นโดส เก็บไว้ส่วนกลางสำหรับตอบโต้การระบาด
ในเวลาไล่เลี่ยกัน ได้ปรากฏข้อมูลข่าวสารจาก รพ. หลายแห่งว่า “วัคซีนไม่มาตามนัด” จนต้องแจ้งเลื่อนนัดหมายการฉีดวัคซีนให้ประชาชน
รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ โดย ศ.ดร. สุรพล นิติไกรพจน์ ประธานกรรมการ รพ. โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเมื่อ 22 พ.ค. ตัดพ้อว่า “รู้สึกว่าเรากำลังถูกเท” ทั้งที่กรมควบคุมโรครับปากว่าจะให้วัคซีนแก่บุคลากรของ มธ. สวทช. และเอไอที แต่จู่ ๆ ก็บอกว่าไม่มีแล้ว
วชิรพยาบาล โรงพยาบาลสังกัด กทม. ออกประกาศเลื่อนวันรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 2 ระหว่างวันที่ 25 พ.ค.-4 มิ.ย. ออกไปก่อน “เมื่อได้รับวัคซีนมาทาง รพ. จะแจ้งให้ทราบต่อไป”
รพ.จุฬาภรณ์ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ออกประกาศว่าตั้งแต่ 24 พ.ค. ศูนย์บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของทาง รพ. มีเฉพาะวัคซีนซิโนแวคเท่านั้น หากต้องการรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าสามารถแจ้งเลื่อนวันนัดรับวัคซีนได้
คำชี้แจงจากนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สธ. กับ THE STANDARD คือ “เดิมทีเขาจะส่งให้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แต่อาจจะมีปัญหาเรื่องค่าเบี่ยงเบนตามเอกสารนิดหน่อย ทำให้อาจต้องไปส่งมอบเดือน มิ.ย. ทีเดียว”
แต่ถึงกระนั้นทั้ง รมช. และ รมว.สธ. ต่างแสดงความมั่นใจว่าการส่งมอบวัคซีนของบริษัทแอสตร้าฯ จะเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในเดือน มิ.ย. โดยนายอนุทินแจกแจงด้วยว่าบริษัทแอสตร้าฯ “จะเริ่มจัดส่งให้ภายในเดือน มิ.ย. แต่ไม่ได้บอกว่าวันที่ 1 มิ.ย.” อีกทั้งมีระบุไว้ในสัญญาว่าถ้าวัคซีนที่ผลิตในประเทศไทยไม่ทัน ต้องไปจัดหาวัคซีนของแอสตร้าฯ จากแหล่งผลิตอื่นมาส่งให้เรา ดังนั้นจะมีวัคซีนฉีดให้ประชาชนตามกำหนดแน่นอน
ใครคุมวัคซีน
ท่ามกลางความสับสนเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารเรื่องวัคซีนโควิด-19 ของไทย รัฐบาลได้จัดตั้ง “ศูนย์บริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 แบบเบ็ดเสร็จ” ตั้งแต่ 26 เม.ย. โดยมีนายกฯ ควบ ผอ.ศบค. นั่งบัญชาการด้วยตัวเองแบบ “Single Command” โดยศูนย์นี้ทำหน้าที่บริหารจัดการวัคซีนร่วมกับภาคเอกชน ทั้งวางแผนจัดหาวัคซีนทางเลือก, วางแผนเรื่องสถานที่และพื้นที่ในการฉีดวัคซีน, กำหนดการฉีดวัคซีนให้ประชาชนและภาคเศรษฐกิจ
ขณะเดียวกันยังมีสารพัดคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิด-19 ของไทย ตั้งแต่กระบวนการ “ต้นน้ำ” ยัน “ปลายน้ำ” ซึ่งบีบีซีไทยตรวจสอบข้อมูลจากกรมควบคุมโรค สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
หนึ่ง คณะกรรมการขับเคลื่อนการจัดหาวัคซีนโควิด 19 เพื่อประชาชนไทย มีปลัด สธ. เป็นประธาน มีหน้าที่จัดทำข้อเสนอทางเลือกเชิงนโยบายการจัดหาวัคซีนโควิด-19 และแผนการจัดหาวัคซีนเสนอต่อ รมว.สธ., ขับเคลื่อนและติดตามผลการดำเนินงานการจัดหาวัคซีนให้เป็นไปตามแผนและกรอบเวลา, เจรจาต่อรองเพื่อจัดหาวัคซีนจากผู้ผลิตทั้งในและต่างประเทศ
สอง คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคภายใต้คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ มีอธิบดีกรมควบคุมโรคเป็นประธาน มีหน้าที่ให้ข้อแนะนำชนิดของวัคซีนที่เหมาะสมในการนำมาใช้, กำหนดลำดับกลุ่มเป้าหมายในการเข้าถึงวัคซีนในช่วงแรกที่วัคซีนมีปริมาณจำกัด ช่วงที่มีวัคซีนเพิ่มขึ้น และช่วงที่มีวัคซีนเพียงพอ, ให้คำแนะนำแนวทางการให้บริการวัคซีนของกลุ่มเป้าหมาย
สาม คณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID19) ภายใต้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มี นพ.โสภณ เมฆธน กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน มีหน้าที่บริหารจัดการวัคซีนและการให้วัคซีนโควิด-19 โดยมีคณะทำงาน 6 ด้าน
คณะกรรมการทั้ง 3 ชุดมีกรมควบคุมโรคเป็นเลขานุการ
แผนกระจายวัคซีนเบื้องต้น
ในการจัดทำแผนการกระจายวัคซีนแต่ละจังหวัด กรมควบคุมโรคกำหนดหลักการให้แต่ละจังหวัดพิจารณา 4 ปัจจัย ได้แก่ จำนวนวัคซีนที่มี, จำนวนประชากร, สถานการณ์การระบาดในปัจจุบัน และกลุ่มเป้าหมาย ทว่า พญ. อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวยอมรับเมื่อ 25 พ.ค.ว่า “เป็นหลักการใหญ่ที่อาจไม่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่-จังหวัด” ศบค. จึงพร้อมรับฟัง เพราะบางจังหวัดเห็นควรให้ฉีดวัคซีนแก่กลุ่มเปราะบาง บางจังหวัดต้องการฉีดให้แก่แรงงานภาคบริการเพื่อเปิดการท่องเที่ยว ทั้งนี้ ศบค. จะเปิดรับฟังความเห็นของจังหวัด ก่อนปรับแผนให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละจังหวัด ซึ่งจะมีความชัดเจนภายใน 1-2 วันนี้
ก่อนหน้านี้ นพ. โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้ส่งหนังสือที่ สธ 0410.7/ว 543 เมื่อ 18 พ.ค. แจ้งแนวทางให้บริการวัคซีนโควิด-19 แบบปูพรมไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ในฐานะประธานกรรมการโรคติดต่อจังหวัด
ประชาชาติธุรกิจรายงานโดยอ้างหนังสือฉบับดังกล่าว พร้อมเปิดเผยยอดกระจายวัคซีนในแต่ละเดือน ดังนี้
- มิ.ย. กระจายวัคซีนรวม 6,333,000 โดส โดยจังหวัดที่ได้รับการจัดสรรวัคซีนมากที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่ 1. กทม. 2,510,000 โดส 2. อุดรธานี 246,000 โดส 3. สมุทรปราการ 237,000 โดส 4. สกลนคร 181,000 โดส 5. นครราชสีมา 147,000 โดส 6. มหาสารคาม 131,000 โดส 7. สระบุรี 118,000 โดส 8. นครพนม 114,000 โดส 9. สุราษฎร์ธานี 88,000 โดส และ 10. อุบลราชธานี 87,000 โดส
- ก.ค.กระจายวัคซีนรวม 9,627,000 โดส ซึ่งจังหวัดที่ได้รับการจัดสรรวัคซีนมากที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่ 1. กทม. 2,510,000 โดส 2. นนทบุรี 645,000 โดส 3. ปทุมธานี 624,000 โดส 4. ชลบุรี 556,000 โดส 5. นครปฐม 503,000 โดส 6. สมุทรปราการ 487,000 โดส 7. สุราษฎร์ธานี 427,000 โดส 8. เชียงใหม่ 419,000 โดส 9. บุรีรัมย์ 341,000 โดส และ 10. กระบี่ 266,000 โดส
นอกจากโควต้าวัคซีนที่ สธ. จัดสรรให้จังหวัดต่าง ๆ แล้ว ยังมีหน่วยงานต่าง ๆ ขอรับวัคซีนเพื่อไปบริหารจัดการเอง อาทิ
- กระทรวงคมนาคม สำรวจพบว่ามีบุคลากรที่ให้บริการด้านขนส่งทั่วประเทศกว่า 3.5 แสนคน แบ่งเป็นใน กทม. และปริมณฑล 5.9 หมื่นคน ซึ่งได้รับการจัดสรรวัคซีนและเริ่มฉีดไปแล้วตั้งแต่ 24 พ.ค. ส่วนที่เหลืออยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด
- กระทรวงแรงงาน ได้รับการจัดสรรวัคซีนระยะแรก 6 ล้านโดส เพื่อฉีดให้แรงงานซึ่งเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 แบ่งเป็น เดือน มิ.ย. จำนวน 1.5 ล้านโดส ในพื้นที่ กทม. และเดือน ก.ค. จำนวน 4.5 ล้านโดส ในพื้นที่ กทม. จำนวน 1.5 ล้านโดส และพื้นที่ 9 จังหวัดเศรษฐกิจ ได้แก่ สมุทรปราการ ชลบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสาคร นครปฐม เชียงใหม่ ระยอง และฉะเชิงเทรา จำนวน 2.5 ล้านโดส
- กระทรวงศึกษาธิการ ขอรับการจัดสรรวัคซีนฉีดให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษารวม 6 แสนคนทั่วประเทศ ก่อนเปิดภาคเรียน
สำหรับแผนให้บริการวัคซีนโควิด-19 ตามวาระแห่งชาติ ที่ สธ. รายงานต่อ ศบค. ที่มี พล.อ. ประยุทธ์เป็นประธานการประชุม สรุปได้ว่า
- กทม. ตั้งเป้าหมายฉีดวัคซีนให้ได้ 80,000 คน/วัน แบ่งเป็น รพ. 126 แห่ง ราว 30,000 คน/วัน ส่วนที่เหลือเป็นสนามฉีดวัคซีนโดยความร่วมมือกับหอการค้า 25 แห่ง, หน่วยบริการเชิงรุก, หน่วยบริการของ อว. และ รพ. ในเครือข่ายประกันสังคม และ รพ. สังกัด สธ.
- ต่างจังหวัด ตั้งเป้าหมายฉีดวัคซีนให้ได้ 779,868 คน/วัน แบ่งเป็น รพ. 993 แห่ง, รพ.สนาม 261 แห่ง และสนามฉีด 221 แห่ง
ใครจะได้วัคซีนบ้างในระยะ “ปูพรมฉีด”
การฉีดวัคซีนอย่างเป็นระบบที่ พล.อ. ประยุทธ์เรียกว่า “วาระแห่งชาติ” จะเริ่มต้นตั้งแต่ 7 มิ.ย. ซึ่งเดิมประกาศไว้ว่าจะใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตในไทยเป็นหลัก
สธ. กำหนดกลุ่มเป้าหมายไว้ 9 กลุ่ม ประกอบด้วย
- บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าที่ยังไม่ได้รับวัคซีน
- เจ้าหน้าที่ควบคุมโควิดและมีโอกาสสัมผัสกับผู้ป่วย
- ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง
- กลุ่มอาชีพเสี่ยงติดเชื้อ รวมทั้งผู้มีอาชีพ/กิจการที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพของประชาชน เช่น สาธารณูปโภค อาหาร ยา
- ตัวแทนนักกีฬาไปแข่งขันต่างประเทศ
- นักเรียน/นักศึกษาไปศึกษาต่างประเทศ หรือไปทำงานต่างประเทศ
- ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม
- ชาวต่างชาติ/แรงงานต่างด้าว
- ประชาชนทั่วไป
ประชาชนสามารถลงทะเบียนเพื่อขอรับวัคซีนได้ผ่าน 3 ช่องทาง ได้แก่ แอปพลิเคชัน/ไลน์ “หมอพร้อม”, ลงทะเบียน ณ จุดบริการ (On-Site Registration) และกระจายวัคซีนให้กลุ่มเฉพาะ เช่น แพทย์ พยาบาล อสม. เจ้าหน้าที่ด่านหน้า ครู นักธุรกิจ นักศึกษา กลุ่มบุคคล ฯลฯ
สถานะของวัคซีนทางเลือก
นอกจากวัคซีนหลัก 2 ยี่ห้อ ยังมีความเคลื่อนไหวในการเจรจาจัดหาวัคซีนทางเลือก หลังจาก พล.อ. ประยุทธ์แจ้งผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวเมื่อ 21 เม.ย. โดยอ้างผลการหารือของคณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่มี ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ. ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธาน ซึ่งได้ข้อยุติว่า “ประเทศไทยจะจัดหาวัคซีนอีก 2-3 ยี่ห้อเพิ่มเติมอีกประมาณ 35 ล้านโดส นอกเหนือจากที่ดำเนินการไว้แล้วประมาณ 65 ล้านโดส” พร้อมระบุว่าภาคเอกชนนำโดยสภาหอการค้าไทยจะช่วยรัฐบาลจัดหาให้กับลูกจ้างของตนประมาณ 10-15 ล้านโดส
ต่อมา พล.อ. ประยุทธ์เปิดเผยอีกครั้งเมื่อ 7 พ.ค. ว่า ได้สั่งการให้จัดหาวัคซีนให้ได้ 150-200 ล้านโดส เพื่อเตรียมรับความเสี่ยงวัคซีนในอนาคต ซึ่งขณะนี้ได้เจรจากับผู้ผลิตวัคซีนแล้วถึง 7 ราย
ในการจัดหาวัคซีนทางเลือกในสถานพยาบาลเอกชน มีกฎสำคัญคือต้องไม่ซ้ำซ้อนกับวัคซีนที่ให้บริการโดยภาครัฐ/สถานพยาบาลของรัฐ โดย อภ. จะเป็นผู้บริหารจัดการและประสานกับบริษัทผู้ผลิตหรือตัวแทนจำหน่ายวัคซีน และดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าไม่ปลอดภัย (Product Liability)
สำหรับสถานพยาบาลเอกชน/ภาคเอกชนที่ประสงค์จะนำเข้าวัคซีนทางเลือก ต้องแจ้งยอดที่ต้องการไปยังภาครัฐ, ต้องชำระเงินจองวัคซีนทางเลือกล่วงหน้าให้แก่ อภ. เต็มจำนวนมูลค่าการสั่งซื้อ (100%) และต้องจัดทำประกันสำหรับกรณีผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีนให้ประชาชน
ถึงขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อนุมัติวัคซีนโควิด-19 ไปแล้ว 4 ราย นอกเหนือจากวัคซีนซิโนแวค สัญชาติจีน และแอสตร้าเซนเนก้า สัญชาติอังกฤษ ซึ่งเป็นวัคซีนหลักที่ใช้ในไทย ยังมีวัคซีนสัญชาติอเมริกันอีก 2 ยี่ห้อที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย. และอีก 3 ยี่ห้ออยู่ระหว่างการดำเนินการ
- วัคซีนแจนเซ่นของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (Johnson & Johnson) สัญชาติอเมริกัน นำเข้าโดยบริษัท แจนเซ่น-ซีแลก จำกัด ผ่านการขึ้นทะเบียนกับ อย. เมื่อ 25 มี.ค. โดยผู้ผลิตยืนยันจำหน่ายให้ภาครัฐเท่านั้น คาดส่งวัคซีนได้ในไตรมาส 4
- วัคซีนโมเดอร์นา (Moderna) สัญชาติอเมริกัน นำเข้าโดยบริษัท ซิลลิคฟาร์มา จำกัด ผ่านการขึ้นทะเบียนกับ อย. เมื่อ 13 พ.ค. โดยผู้ผลิตยืนยันจำหน่ายให้ภาครัฐเท่านั้น เบื้องต้นสมาคมโรงพยาบาลเอกชนคาดการณ์ปริมาณสั่งซื้อจำนวน 5 ล้านโดส คาดส่งวัคซีนได้ในไตรมาส 4
- วัคซีนโควิโลของซิโนฟาร์ม (Sinopharm) สัญชาติจีน นำเข้าโดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด ขณะนี้ยื่นเอกสารครบถ้วนแล้วอยู่ระหว่างประเมินคำขอขึ้นทะเบียนโดย อย.
- วัคซีนโคแวกซินของบริษัท ภารัต ไบโอเทค (Bharat Biotect) สัญชาติอินเดีย นำเข้าโดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด อยู่ระหว่างการยื่นเอกสารเพื่อประเมินคำขอขึ้นทะเบียนโดย อย.
- วัคซีนสปุตนิก วี (Sputnik V) สัญชาติรัสเซีย นำเข้าโดยบริษัท คินเจน ไบโอเทค จำกัด อยู่ระหว่างการยื่นเอกสารเพื่อประเมินคำขอขึ้นทะเบียนโดย อย.
- วัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) สัญชาติอเมริกัน/เยอรมัน ของบริษัท ไฟเซอร์ ร่วมกับบริษัท ไบออนเทค ยังไม่ปรากฏว่าได้ยื่นเอกสารใด ๆ กับ อย. แต่ รมว.สธ. เปิดเผยเมื่อ 7 พ.ค. ว่าบริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) รับปากสำรองการผลิตวัคซีนโควิดให้กับไทย เพื่อใช้ฉีดเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป คาดว่าจัดส่งให้ได้ในช่วงไตรมาสที่ 3-4 ของปีนี้ หรือราวเดือน ก.ค. ประมาณ 10-20 ล้านโดส
สำหรับวัคซีนที่องค์การอนามัยโลก (WHO) รับรองการขึ้นทะเบียนเพื่อใช้งานในภาวะฉุกเฉิน มีทั้งสิ้น 5 ยี่ห้อ ได้แก่ วัคซีน ไฟเซอร์/ไบออนเทค ของสหรัฐฯ และเยอรมนี, วัคซีนแอสตราเซเนกา/อ็อกซ์ฟอร์ด ของสหราชอาณาจักร แบบที่ผลิตโดยสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย และบริษัท เอสเค ไบโอ ของเกาหลีใต้, วัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ของสหรัฐฯ, วัคซีนโมเดอร์นาของสหรัฐฯ และวัคซีนซิโนฟาร์มของจีน