หากม้องย้อน นับจากทัพนักกีฬาไทยได้เหรียญโอลิมปิกแรก ใน “มอลทรีออล 1976” จากมวยสากลสมัครเล่น “พเยาว์ พูลธรัตน์” ในรุ่นไลต์ฟลายเวท ทีมชาติไทยไม่เคยพลาดเหรียญรางวัล
นอกเหนือจากความสำเร็จจากเหรียญ ยังมีอีกเกียรติประวัติแห่งความภาคภูมิใจของตัวแทนทีมชาติ คือ การเป็นตัวแทนถือธงไตรรงค์เดินสู่สนามในพิธีเปิดการแข่งขัน
เมื่อพลิกปูมประวัติย้อนกลับการถือธงไตรรงค์ของทัพนักกีฬาไทย และความสำเร็จของทัพนักกีฬาไทย มีดังนี้
ทว่าหลังจาก ไทย ได้เหรียญโอลิมปิกแรกในปี 1976 แต่ทว่าอีก 4 ปีต่อมา กลับต้องถอนตัวจากการแข่งขันโอลิมปิก 1980 กรุงมอสโคว ประเทศรัสเซีย ตามลูกพี่ใหญ่สหรัฐอเมริกา ในช่วงปัญหาสงครามเย็น อ้างความไม่พอใจที่สหภาพโซเวียตส่งกองกำลังเข้าบุกรุกอัฟกานิสถาน ทั้งที่ก่อนหน้านั้น ไทย เตรียมทีมนักกีฬาอย่างคึกคัก โดยเฉพาะมวยสากล เพราะโอลิมปิคเกมส์ครั้งที่ผ่านมาสามารถคว้าเหรียญทองแดงได้สำเร็จ แต่สุดท้ายก็ต้องไม่ส่งเข้าร่วมแข่งขัน
ต่อมาใน “โอลิมปิก 1984” ณ ลอสแองเจอลิศ สหรัฐอเมริกา ประเทศไทยส่งนักกีฬารวม 35 คน เข้าร่วมการแข่งขัน โดยมี “รังสิต ยาโนทัย” ปัจจุบันคือ พล.ต.ต.รังสิต ยาโนทัย อดีตผู้การกองปราบ ในวัย 84 ปี นักกีฬายิงปืนที่เข้าร่วมการแข่งขันตั้งแต่ โอลิมปิก 1968 กรุงเม็กซิโกซิตี้ ประเทศเม็กซิโก ผลงานของทัพนักกีฬาไทยครั้งนั้นคือ 1 เหรียญเงินจาก ทวี อัมพรมหา นักมวยสากลสมัครเล่น ในรุ่นไลต์เวลเตอร์เวท
ความน่าจดจำอีกอย่างใน “ลอสแองเจอลิส เกมส์” คือการแจ้งเกิดของ “คาร์ล ลูอิส” นักกรีฑาสหรัฐเมริกา ที่ทำ 4 เหรียญทอง จากการวิ่งระยะสั้นและกระโดดไกล เป็นสถิติที่ยืนยงมาถึงปัจจุบัน
ใน “โอลิมปิก 1988” กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ทัพนักกีฬาไทยผ่านเข้าแข่งขันในครั้งนี้ 14 คน พิเศษในพิธีเปิดการแข่งขัน ไม่มีเพียงแต่คณะนักกีฬายังมี “ปุ๋ย” ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก นางสาวไทยและนางงามจักรวาล ร่วมเดินด้วย โดยมี “สมชาย จันทวานิช” นักยิงปืน ยิงเป้าบิน ผู้ผ่านสังเวียนโอลิมปิกมาตั้งแต่ปี 1976 มอลทรีออล และโอลิมปิก 1984 ลอสแองเจอลิส เป็นผู้ถือธง ส่วนผลงาน ประเทศไทย ได้รับเหรียญจากมวยสากลสมัครเล่น เช่นเคย เป็น 1 เหรียญทองแดง ผจญ มูลสัน นักชกในรุ่นแบนตั้มเวท
สังเวียนกีฬาในโอลิมปิกครั้งนี้ถูกบันทึกในด้านมืด โดยเฉพาะการโกง ไม่ว่าจะเป็นกรณี “เบน จอห็นสัน” ยอดนักวิ่งชาวแคนาดาทำสถิติโลก 9.79 วินาที เอาชนะ “คาร์ล ลูอิส” วีรบุรุษของสหรัฐ ในการแข่งขันวิ่ง 100 เมตรชาย แต่ภายหลัง จอห์นสัน ถูกตรวจพบสารกระตุ้น
รวมถึงผลการตัดสินชกมวยที่ค้านสายตาทั่วโลก ภายหลังนักชกแดนโสมเอาชนะคู่แข่งจนมีการประท้วงกันมากมาย โดยเฉพาะคู่ของ “รอย โจนส์” ไล่ถลุง “ปาร์ก ซี ฮุน” แทบทุกยกแต่กลับแพ้คะแนน ทำให้ทีมมวยอเมริกาไม่ยอมขึ้นรับเหรียญ หลังจากนั้น “รอย โจนส์” แบนเข็มมาชกอาชีพ กลายเป็นนักชกก้องโลกในเวลาต่อมา
สำหรับ โอลิมปิกเกมส์ 1992 “บาร์เซโลน่า เกมส์” ไทยนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขัน 46 “สุรพงษ์ อาริยะมงคล” นักกรีฑา เป็นผู้ถือธง ปัจจุบันคือ พล.ต.ต.สุรพงษ์ อาริยะมงคล อุปนายกและเลขาธิการสมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทยฯ ความสำเร็จมาจากมวยสากลสมัครเล่นเช่นเดิม โดยคว้ามาได้ 1 เหรียญทองแดง อาคม เฉ่งไล่ นักชกเมืองตรัง ในรุ่นเวลเตอร์เวท
ความทรงจำสูงสุดในโอลิมปิก 1992 คือทีมบาสเกตบอลของสหรัฐอเมริกา หรือที่เรียกว่า “ดรีมทีม” ที่ขนดาวเด่นใน เอ็นบีเอ เข้าร่วมการแข่งขันไม่ว่าจะเป็น ไมเคิ่ล จอร์แดน, เมจิ จอนห์สัน, ลาร์รี่ เบิร์ด, ชาร์ล บาร์คลีย์, แพทริค เออร์วิง, ดาวิด โรบินสัน, คาร์ล มาร์โลน และ สกอตติช พิปเพ่น ล้วนเป็นนักบาสเกตบอลที่โดดเด่นมากและเป็นตำนานของสหรัฐอเมริกาจนถึงปัจจุบัน
สมรักษ์ คำสิงห์ เหรียญทองแรกจากโอลิมปิก
มาถึงโอลิมปิกแห่งความจดจำครั้งประวัติศาสตร์ของชาติไทยใน “แอตเลนต้า เกมส์” โอลิมปิก 1996 ทัพนักกีฬาไทยเข้าร่วมการแข่งขัน 37 คน โดยมี “วิษณุ โสภานิช” นักกรีฑา ระยะสั้น ปัจจุบันรับราชการทหารในยศ “นาวาอากาศโท” เป็นตัวแทนถือธงไตรรงค์เดินลงสู่สนาม
การแข่งขันครั้งนี้สร้างความปลาบปลื้มทั้งประเทศ เมื่อ “สมรักษ์ คำสิงห์” หรือ “พิมพ์อรัญเล็ก ศิษย์อรัญ” คว้าเหรียญทองแรกในประวัติศาสตร์ จากรุ่นเฟเธอร์เวท และยังมีอีก 1 เหรียญทองแดงจาก วิชัย ขัดโพธิ์ จากรุ่นแบนตัมเวท
มาใน โอลิมปิกเกมส์ 2000 ที่ซิดนีย์ ออสเตรเลีย มีนักกีฬาไทยเข้าร่วมการแข่งขันมากที่สุดถึง 52 คน โดย “สมรักษ์ คำสิงห์” นักชกเหรียญทองคนแรกของไทย ทำหน้าที่ถือธงชาตินำนักกีฬาไทยเข้าสู่สนามแข่งขันในพิธีเปิด
ความสำเร็จของทัพนักกีฬาไทยยังยืนหนึ่งด้วยกีฬามวยสากลสมัครเล่น 1 เหรียญทองจาก “วิจารณ์ พลฤทธิ์” มวยสากลรุ่นฟลายเวท และ 1 เหรียญทองแดงจาก “พรชัย ทองบุราณ” มวยสากลรุ่นไลต์มิดเดิลเวท
และมีอีกชนิดกีฬาที่สร้างความหวังใหม่ในเหรียญโอลิมปิก นอกเหนือจาก มวยสากลสมัครเล่น คือ ยกน้ำหนัก 1 เหรียญทองแดง จาก “เกษราภรณ์ สุตา” รุ่น 58 กิโลกรัมหญิง
ในโอลิมปิกเกมส์ 2004 ที่เอเธนส์ ประเทศกรีซ มีนักกีฬาไทยเข้าร่วมการแข่งขัน 42 คน โดย “ภราดร ศรีชาพันธุ์” อดีตนักกีฬาเทนนิสมือ 9 ของโลก ทำหน้าที่ถือธงชาติไทย เดินลงสู่สนามในพิธีเปิด
โดยสังเวียน “เอเธนส์” ทีมนักกีฬาไทยได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในวงการกีฬาโลกสำเร็จ จากกีฬามวยสากลสมัครเล่น และ ยกน้ำหนัก เมื่อสามารถคว้าได้ 3 เหรียญทองจาก “ปวีณา ทองสุก” นักยกน้ำหนักรุ่น 75 กิโลกรัมหญิง, “อุดมพร พลศักดิ์” นักยกน้ำหนักรุ่น 53 กิโลกรัมหญิง และ “มนัส บุญจำนงค์” จากมวยสกลสมัครเล่น รุ่นไลท์เวลเตอร์เวท
นอกจากนี้ยังได้ 1 เหรียญเงินจาก “วรพจน์ เพชรขุ้ม” นักมวยสากลสมัครเล่นรุ่นแบนตัมเวท อีก 4 เหรียญทองแดง จาก “สุริยา ปราสาทหินพิมาย” มวยสากลสมัครเล่นรุ่นมิดเดิลเวท, “อารีย์ วิรัชถาวร” ยกน้ำหนักรุ่น 58 กิโลกรัมหญิง
รวมถึงกีฬาหน้าใหม่อีก 1 ประเภทถือเป็นลำดับสามในการทำเหรียญคือ เทควันโด้ จาก “เยาวภา บุรพลชัย” รุ่นน้ำหนักต่ำกว่า 49 กิโลกรัมหญิง รวม 8 เหรียญประวัติศาสตร์ที่ทัพนักกีฬาไทยทำได้จนถึงปัจุบันสร้างความสุขสมหวังเกินกว่าที่คาดไว้ให้กับชาวไทย
มาถึง โอลิมปิกเกมส์ 2008 ที่ปักกิ่ง ประเทศจีน มีนักกีฬาไทยเข้าแข่งขัน 51 คน โดยในพิธีเปิดการแข่งขัน “วรพจน์ เพชรขุ้ม” นักชกเหรียญเงินโอลิมปิกเกมส์ 2004 จากเมืองสุราษฎร์ธานี ทำหน้าที่ถือธงชาติไทยเดินลงสู่สนาม
และเป็นอีกความสำเร็จของทัพนักกีฬาไทยที่สามารถคว้ามาถึง 6 เหรียญ จาก 2 เหรียญทอง “สมจิตร จงจอหอ” มวยสากลสมัครเล่นรุ่นฟลายเวท และ “ประภาวดี เจริญรัตนธารากุล” ยกน้ำหนัก รุ่น 53 กก.หญิง
2 เหรียญเงินจาก “มนัส บุญจำนงค์” มวยสากลสมัครเล่นรุ่นไลต์เวลเตอร์เวท และ “บุตรี เผือกผ่อง” เทควันโด รุ่น 49 กก.หญิง รวมถึงอีก 2 เหรียญทองแดงจากยำน้ำหนัก “เพ็ญศิริ เหล่าศิริกุล” รุ่นน้ำหนัก 48 กก.หญิง และ “วันดี คำเอี่ยม” รุ่นน้ำหนัก 58 กก.หญิง
มาถึง โอลิมปิกเกมส์ 2012 กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ มีนักกีฬาไทยเข้าร่วมการแข่งขัน 37 คน โดยครั้งนี้ “ณัฐพงษ์ เกตุอินทร์” นักกีฬาว่ายน้ำ ทำหน้าที่ถือธงชาติไทย
การแข่งขันใน “ลอนดอน เกมส์” ไทยพลาดในการสร้างประวัติศาสตร์คว้าเหรียญทองต่อเนื่องเป็นสมัยที่ 5 ติดต่อกัน ผลงานโอลิมปิกครั้งนี้ทำมา 4 เหรียญจากเหรียญเงิน 2 เหรียญ “แก้ว พงษ์ประยูร” มวยสากลสมัครเล่นรุ่นไลต์ฟลายเวท และ “พิมศิริ ศิริแก้ว” ยกน้ำหนักรุ่น 58 กก.หญิง
2 เหรียญทองแดงจาก “ชนาธิป ช้อนขำ” เทควันโด รุ่น 49 กก.หญิง และ “รัตติกาล กุลน้อย” ยกน้ำหนัก 58 กก.หญิง
เมย์-รัชนก อินทนนท์ กับภาพพิธีเปิด”ริโอเกมส์”ใน IG ส่วนตัว
มาถึงโอลิมปิกครั้งล่าสุด “ริโอ เกมส์ 2016” ประเทศบราซิล “เมย์-รัชนก อินทนนท์” อดีตนักแบดมินตันมือ 1 ของโลก เป็นนักกีฬาหญิงคนแรกของไทยที่ทำหน้าที่ถือธงชาติไทยนำนักกีฬาเข้าสู่สนาม
และถือเป็นครั้งแรกที่ทัพนักกีฬาไทยไม่ได้เหรียญรางวัลจากมวยสากลสมัครเล่นโอลิมปิกเกมส์ นับตั้งแต่ “พเยาว์ พูลธรัตน์” คว้าเหรียญทองแดงในปี 1976 นับจากนั้นมา มวยเสื้อกล้ามไทยมีเหรียญคล้องคอกลับมาทุกครั้ง
แต่ผลงานภาพรวมยังยอดเยี่ยมด้วย 2 เหรียญทอง 2 เหรียญเงินและ 2 เหรียญทองแดง
2 เหรียญทองจากยกน้ำหนัก “โสภิตา ธนสาร” จากรุ่นน้ำหนัก 48 กก.หญิง, “สุกัญญา ศรีสุราช” รุ่นน้ำหนัก 58 กก.หญิง 2 เหรียญเงินจาก เทวินทร์ หาญปราบ เทควันโด รุ่น 58 กก.ชาย, “พิมศิริ ศิริแก้ว” จากยกน้ำหนักรุ่น 58 กก.หญิง
2 เหรียญทองแดงจาก “สินธุ์เพชร กรวยทอง” ยกน้ำหนักรุ่น 56 กก.ชาย และ “พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ” เทควันโด้รุ่น 49 กก.หญิง
“เทนนิส-พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ” กับเหรียญทองแดงโอลิมปิก
มาถึงใน “โตเกียว 2020” โอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 32 ประเทศญี่ปุ่น อาจเรียกได้ว่าแทบนาทีสุดท้ายในการคัดเลือกนักกีฬาเพื่อรับเกียรติสูงสุดในการถือธงไตรรงค์เดินลงสู่สนามในพิธีเปิดการแข่งขัน
รอคอยกันมานานในที่สุดก่อนพิธีเปิด 3 วัน “บิ๊กต้อม” นายธนา ไชยประสิทธิ์ หัวหน้าคณะนักกีฬาไทย ชุดโอลิมปิก 2020 ออกมาประกาศรายชื่อผู้ถือธงชาติไทยลงสู่สนาม คือ “เอิน” ณภัสวรรณ หย่างไพบูลย์ นักกีฬายิงปืนหญิง และ “แซม” เศวต เศรษฐาภรณ์ นักกีฬายิงเป้าบินชาย
โดยโอลิมปิก 2020 นับเป็นครั้งแรกที่มี 2 นักกีฬาชายและหญิงถือธงร่วมกัน เนื่องจากทางคณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ ไอโอซี ต้องการสนับสนับสนุนส่งเสริมเรื่องความเสมอภาคทางเพศ
นับจากนี้อีกไม่กี่อึดใจไฟในกระถางคบเพลิงโอลิมปิกก็จะสว่างไสวเพื่อชิงชัยความเป็นหนึ่งในกีฬาของมวลมนุษยชาติ
อย่าพลาดส่งใจเชียร์และติดตามทุกความเคลื่อนไหวของนักกีฬาไทยทาง SMMSPORT
เผยแพร่: 3 มิ.ย. 256…
This website uses cookies.