Thailand Sport Magazine Sponsored

เทควันโด : ศิลปะต่อสู้สมัยใหม่ ที่ประยุกต์รวมศาสตร์ต่อสู้โบราณหลายแขนง

Thailand Sport Magazine Sponsored
Thailand Sport Magazine Sponsored

เทควันโด ถือเป็นศิลปะการต่อสู้ที่ชาวไทยรู้จักและคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี จากความสำเร็จของนักกีฬาไทยในโอลิมปิก เกมส์ รวมถึงการฝึกสอนที่กระจายลงไปถึงโรงเรียนหลายแห่ง ทำให้ชาวไทยส่วนใหญ่ต่างเคยฝึกฝนเทควันโดมาแล้วไม่มากก็น้อย 

แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่ากีฬาชื่อดังจากประเทศเกาหลีใต้นี้ เพิ่งจะกำเนิดอย่างเป็นทางการบนโลกใบนี้ไม่ถึง 70 ปีด้วยซ้ำ หลังบรรดาโรงเรียนศิลปะป้องกันตัวในกรุงโซล ตัดสินใจประยุกต์ศาสตร์โบราณและต่างชาติหลายแขนงเข้ามาผสมกันจนเป็นเทควันโด

Main Stand จะพาคุณย้อนกำเนิดเรื่องราวของศิลปะการต่อสู้ชนิดนี้ เพื่อให้เข้าใจหลักปรัชญาของศาสตร์ดังกล่าวที่จะนำมาสู่การร่ายรำเพื่อฝึกฝนการควบคุมร่างกายและจิตใจไปพร้อมกัน

รากฐานจากศาสตร์โบราณและวิชาของผู้รุกราน 

ผู้คนทั่วโลกต่างทราบดีว่า เทควันโด ถือเป็นศิลปะการต่อสู้ที่มีต้นกำเนิดจากประเทศเกาหลีใต้ แต่เรื่องราวที่หลายคนอาจเข้าใจผิดไปคือ เทควันโด ไม่ใช่กีฬาต่อสู้เก่าแก่ที่มีมาแต่ยุคโบราณ อันที่จริงเทควันโดเพิ่งจะถูกพัฒนาขึ้นในช่วงกลางทศวรรษ 1940s หลังประเทศได้รับเอกราชจากจักรวรรดิญี่ปุ่น เมื่อจบสงครามโลกครั้งที่สอง

ถึงเทควันโดจะมีอายุไม่ถึงร้อยปี แต่ใช่ว่าเกาหลีจะเป็นดินแดนที่ปราศจากศิลปะการต่อสู้ เพราะถ้าย้อนกลับไปยังช่วงเวลาก่อนหน้านั้น ชาวเกาหลีได้คิดค้นศิลปะการต่อสู้โบราณของตัวเองขึ้นมามากมาย ไม่ว่าจะเป็น แทคคยอน การต่อสู้ด้วยเท้าเพื่อล้มคู่ต่อสู้, ซูบัก ศิลปะการต่อสู้ด้วยมือเปล่า และ กวอนบอบ ศิลปะการต่อสู้เกาหลีที่ดัดแปลงมาจากวิชากังฟู

ศิลปะการต่อสู้เหล่านี้ได้รับความนิยมในหมู่ชาวเกาหลีมาตั้งแต่ก่อนคริสตกาลจนถึงช่วงศตวรรษที่ 18 ก่อนจะพบกับจุดเปลี่ยนสำคัญ เมื่อลัทธิขงจื๊อใหม่ถูกเผยแผ่อย่างแพร่หลายในช่วงปลายราชวงศ์โชซอน ผู้คนต่างให้ความสำคัญกับการพัฒนาจิตวิญญาณและการพัฒนาสติปัญญาตามหลักศาสนามากกว่าจะสนใจศิลปะการต่อสู้

เมื่อคาบสมุทรเกาหลีถูกยึดครองโดยจักรวรรดิญี่ปุ่น ศิลปะป้องกันตัวเกาหลีโบราณซึ่งถือเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมสำคัญของชาวเกาหลีจึงถูกกวาดล้างหมดสิ้น ตลอดระยะเวลา 35 ปีที่ดินแดนแห่งนี้ถูกปกครองโดยผู้รุกราน ชาวญี่ปุ่นออกคำสั่งห้ามไม่ให้ชาวเกาหลีฝึกฝนศิลปะป้องกันตัวเกาหลีดั้งเดิมโดยเด็ดขาด

ชาวเกาหลีจึงเปลี่ยนไปฝึกฝนศิลปะการต่อสู้ที่ชาวญี่ปุ่นนำมาเผยแพร่แทน ทั้ง เคนโด้ และ คาราเต้ ที่ต่างเป็นการต่อสู้ที่ได้รับความนิยมในเกาหลีทั้งสิ้น อย่างไรก็ดีมีนักสู้บางคนที่ต้องการรักษาศิลปวัฒนธรรมของชาติไว้ กลุ่มนักแทคคยอนจำนวนหนึ่งจึงเริ่มนำศาสตร์คาราเต้เข้ามาประยุกต์กับเทคนิคเฉพาะตัวของการต่อสู้แบบเกาหลี นักวิชาการเชื่อว่านี่คือรากฐานของการพัฒนาเทควันโด

ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์เทควันโดรุ่นหลังสามารถเห็นความเชื่อมโยงของ เทควันโด กับ แทคคยอน เนื่องจากทั้งสองศาสตร์ต่างนำหน้าด้วยคำว่า “แท” (태) ศัพท์ที่มีความหมายตามภาษาเกาหลีว่า “การทำลายล้างด้วยเท้า” ดังนั้นแล้วจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จุดเด่นของเทควันโดนจะเป็นการเตะ เพราะการต่อสู้ด้วยเท้าคือทักษะที่ชาวเกาหลีสืบทอดกันมาแต่โบราณ

สิ่งที่ทำให้เทควันโดแตกต่างจากแทคคยอนคงหนีไม่พ้นศัพท์ตัวที่สองในชื่อนั่นคือ “ควอน” (권) ศัพท์ที่มีความหมายตามภาษาเกาหลีว่า “การทำลายล้างด้วยมือ” จะเห็นได้ชัดอย่างเจนว่าเทควันโดมีการนำทักษะการต่อสู้ด้วยมือเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งส่วนนี้ได้รับแรงบันดาลใจจาก คาราเต้ ที่ให้ความสำคัญกับการใช้เท้าและมือเล่นงานคู่ต่อสู้ 

ทั้งนี้การพัฒนาเทควันโดไม่ได้เกิดขึ้นอย่างจริงจังจนกว่าสงครามเกาหลีจะสิ้นสุดลงในปี 1953 โดยหลังจากที่ความวุ่นวายในคาบสมุทรเกาหลีจบลง อี ซึงมัน ประธานาธิบดีคนแรกของเกาหลีใต้ ได้ออกคำสั่งให้ 9 โรงเรียนต่อสู้ใหญ่ในกรุงโซลร่วมมือกันเพื่อพัฒนาศิลปะการต่อสู้ของเกาหลีขึ้นมา แทนที่จะสั่งสอนศาสตร์การต่อสู้ของญี่ปุ่นหรือจีนเหมือนอย่างเคย

เทควันโดจึงถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 1955 ก่อนที่จะตั้งสมาคมเทควันโดแห่งเกาหลีขึ้นมาในปี 1959 เพื่อเผยแพร่ศิลปะการต่อสู้นี้ให้เป็นที่แพร่หลายไปทั่วโลกนับแต่นั้น

ไม่ใช่แค่การต่อสู้ แต่เป็นวิธีฝึกฝนจิตใจ

เฉกเช่นเดียวกับศิลปะป้องกันตัวทั่วโลก เทควันโด ไม่ใช่แค่การต่อสู้ชนิดหนึ่งแต่ยังเป็นเกมกีฬาเพื่อการแข่งขัน การเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อออกกำลังกาย และเป็นหลักปรัชญาเพื่อยกระดับและพัฒนาคุณภาพจิตใจ

คำอธิบายภาษาเกาหลีต่อกีฬาเทควันโดที่ปรากฏในเว็บไซต์ Naver กล่าวไว้ว่า เทควันโด มีความสำคัญอย่างยิ่งกับการฝึกฝนวินัยทางจิตใจอย่างเหมาะสม เนื่องจากเทควันโดมีจุดประสงค์ในการฝึกฝนสภาพจิตใจและร่างกายควบคู่ไปด้วยกัน

ดังนั้นแล้วเทควันโดจึงมีหลักปรัชญาที่ชัดเจน ผ่านหลักสำคัญ 5 ข้อประกอบด้วย การรักษามารยาท, การปฏิบัติด้วยความซื่อสัตย์, การปฏิบัติด้วยความเพียร, การควบคุมตัวเองทั้งร่างกายจิตใจ และการรักษาจิตวิญญาณอันไม่ย่อท้อ

เทควันโดจึงมีการกำหนดรูปแบบหรือ “ฟอร์ม” ที่ชัดเจนเพื่อเป็นระเบียบและมาตรฐานแก่ผู้ฝึกฝน โดยฟอร์มมาตรฐานซึ่งถือเป็นหนึ่งในรูปแบบของเทควันโดถูกเรียกว่า “พุมแซ” ทำหน้าที่เดียวกับ “คาตา” ในศาสตร์คาราเต้ นั่นคือรูปแบบการเคลื่อนไหวที่เชื่อมโยงกันตามลำดับโดยรวมเทคนิคขั้นพื้นฐานไว้ และอาจมีเทคนิคขั้นสูงซ่อนอยู่หากผู้ปฏิบัติมีความเข้าใจในทักษะและความซับซ้อนของรูปแบบ

สรุปโดยง่าย เทควันโด พุมแซ จึงเปรียบเสมือนการรำเทควันโดที่ผู้ฝึกฝนจำเป็นต้องเรียนเพื่อเข้าใจเทคนิคขั้นพื้นฐาน และถ้าหากนักเทควันโดผู้ใดมีเทคนิคขั้นสูงจะสามารถแสดงการรำเทควันโดที่มีความซับซ้อนและเทคนิคขั้นสูงได้มากขึ้น

กีฬาเทควันโดจึงไม่ได้มีเพียงแค่การยกเท้าเตะคู่ต่อสู้ให้เข้าเป้าเพื่อทำแต้มแบบที่หลายคนเข้าใจ เพราะการรำเทควันโด หรือ เทควันโด พุมแซ ถือเป็นกีฬาชนิดหนึ่งด้วยเช่นกัน แต่แทนที่จะให้ความสำคัญกับการออกอาวุธ เทควันโด พุมแซ จะให้ความสำคัญกับรากเหง้าของเทควันโด นั่นก็คือการฝึกฝนสภาพจิตใจและร่างกายควบคู่กัน

เทควันโด พุมแซ มีหลักตัดสินสำคัญทั้งหมด 4 ประการ นั่นคือ ความสมจริง การร่ายรำต้องมีความแข็งแรงราวกับกำลังต่อสู้, จิตวิญญาณ ที่ผู้ร่ายรำต้องแสดงถึงความมั่นใจและความเชื่อมั่นผ่านท่วงท่า, กิริยามารยาท ที่ผู้เข้าแข่งขันต้องเคารพกรรมการและคู่แข่งขันด้วยท่าทางอันให้เกียรติ และ รูปแบบ นั่นคือการร่ายรำอย่างถูกวิธีที่แสดงถึงการควบคุมร่างกาย นอกจากนี้ยังมีเรื่องของเทคนิคการหายใจที่ถูกต้อง

ปัจจุบันนี้ เทควันโด พุมแซ กำลังได้รับความนิยมในหลากหลายประเทศรวมถึงประเทศไทย เนื่องจากหลายคนมองว่านี่คือการกลับไปหารากเหง้าของกีฬาเทควันโดที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 ที่ไม่ใช่เพียงเรื่องของการเตะคู่ต่อสู้ แต่เป็นการฝึกฝนสภาพจิตใจของชาวเกาหลีให้มีระเบียบวินัย

เทควันโด พุมแซ หรือ การรำเทควันโด จึงได้รับการสนับสนุนจากการกีฬาแห่งประเทศไทย และถูกบรรจุเข้าไปอยู่ในกิจกรรม “Thailand Online Sports Day ครั้งที่ 2” ซึ่งเป็นการแข่งขันกีฬารูปแบบออนไลน์ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนคนไทยผู้รักกีฬาและเป็นนักกีฬาทุกเพศทุกวัยร่วมส่งคลิปวิดีโอใน 5 ชนิดกีฬา

Thailand Sport Magazine Sponsored
ผู้สื่อข่าว กีฬา

ข่าวกีฬา นักกีฬา กีฬา ในร่ม indoor outdoor ต้องทำ sport ให้เป็น กีฬา หลักของประเทศ ดูข้อมูล กอล์ฟ บาสเก็ตบอล ฟุตบอล ว่ายน้ำ วอลเล่ย์บอล มวย แข่งรถ แบดมินตัน และ อีสปอร์ต Dedicated to all sport news from Thailand, with news updates, stories and event reports on many different types of sporting activities that the Thailand currently holds, across all of the asia.

This website uses cookies.