เลขาฯ อย. เผย บ.ไบโอจีนีเทคฯ นำเอกสารมาขอขึ้นทะเบียนวัคซีนซิโนฟาร์ม ของประเทศจีน ครบแล้ว คาดใช้เวลา 30 วันพิจารณาอนุมัติ หลังจากก่อนหน้านี้ได้ยื่นขอขึ้นทะเบียนวัคซีน Covaxin ของบริษัท บารัต ไบโอเทค ประเทศอินเดีย และอยู่ระหว่างการพิจารณา
วันนี้ (23 พ.ค.) นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า บริษัทไบโอจีนีเทค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งก่อนหน้า เคยยื่นขึ้นทะเบียนวัคซีนโควัคซีน (Covaxin) ของบารัต ไบโอเทค ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของ อย.นั้น ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว บริษัทไบโอจีนีเทคฯ ได้นำเอกสารมาขอขึ้นทะเบียนวัคซีนซิโนฟาร์ม ของประเทศจีน อีกหนึ่งชนิด ซึ่งเป็นการยื่นเอกสารแบบรอบเดียวจบและยื่นครบแล้ว อยู่ระหว่างประเมินคำขอขึ้นทะเบียน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญจะใช้เวลาในการพิจารณาไม่เกิน 30 วันเช่นกัน
ทั้งนี้ อย.ได้อนุมัติวัคซีน โควิด-19 ไปแล้ว 4 ราย ได้แก่ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า โดยบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด และที่ผลิตในประเทศโดย บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด วัคซีนโคโรนาแวค ของบริษัท ซิโนแวค นำเข้าโดยองค์การเภสัชกรรม วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน โดยบริษัท แจนเซ่น-ซีแลค จำกัด รวมถึงวัคซีนโมเดอร์นา โดยบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด ซึ่งมีการนำเข้ามาแล้ว 2 ยี่ห้อ คือ ซิโนแวค และ เอสตร้าเซนเนก้า ส่วนจอนห์สันแอนด์จอนห์สัน ยังไม่พบไทม์ไลน์นำเข้า และโมเดอร์น่า มีไทม์ไลน์จะนำเข้าช่วงเดือน ต.ค.นี้
นอกจากนี้ ยังมีวัคซีนอีกยี่ห้อที่อยู่ระหว่างทยอยยื่นเอกสารพร้อมประเมินคำขอขึ้นทะเบียนต่อเนื่อง ได้แก่ วัคซีนสปุตนิค วี ของรัสเซีย โดยบริษัท คินเจน ไบโอเทค จำกัด
สำหรับ วัคซีนซิโนฟาร์ม เป็นวัคซีนอีกอีกชนิดที่องค์การอนามัยโลกให้การรับรอง เมื่อวันที่ 12 พ.ค. รายงานข่าวซึ่งอ้างข้อมูลจาก WHO เปิดเผยว่า วัคซีนของซิโนฟาร์มมีประสิทธิภาพราว ร้อยละ 79 ในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ในกรณีที่แสดงอาการและกรณีต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลสำหรับทุกกลุ่มอายุ อย่างไรก็ดี WHO ระบุว่า ในการวิจัยมีผู้เข้าร่วมที่อายุมากกว่า 60 ปีจำนวนไม่มากเพียงพอ จึงไม่สามารถสรุปข้อมูลประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนฟาร์มในกลุ่มผู้สูงอายุได้ชัดเจน
วัคซีนของซิโนฟาร์มเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย ผลิตขึ้นโดยการนำเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) ไปผ่านการฆ่าเชื้อด้วยความร้อน สารเคมี หรือกัมมันตภาพรังสี โดยข้อมูลจาก WHO ระบุว่า วัคซีนชนิดนี้ใช้เวลาในการผลิตนานกว่าชนิดอื่นๆ และอาจต้องมีการฉีดวัคซีน 2-3 โดสเพื่อให้ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ