Thailand Sport Magazine Sponsored

สกู๊ปหน้า 1 : เส้นทาง 20 ปี โค้ชเช กว่าจะได้สัญชาติไทย – มติชน

Thailand Sport Magazine Sponsored
Thailand Sport Magazine Sponsored

สกู๊ปหน้า 1 : เส้นทาง 20 ปี โค้ชเช กว่าจะได้สัญชาติไทย

สิ้นสุดการรอคอยอันแสนยาวนาน ในที่สุด โค้ชเช เช ยอง ซ็อก จะกลายเป็นประชาชนคนไทยคนหนึ่งอย่างจริงจังเสียที หลังจากใช้ชีวิตในเมืองไทยมานานถึง 20 ปี สร้างนักกีฬาขึ้นมามากมาย สุดท้ายโค้ชชาวเกาหลีใต้ ยอมสละสัญชาติเกาหลีใต้เพื่อเป็นพลเมืองไทยคนหนึ่ง

ชายหนุ่มที่ชื่อว่า เช ยอง ซ็อก เกิด เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2517 ที่เมืองซองนัม ประเทศเกาหลีใต้ อยู่ในครอบครัวที่มีคุณย่า พ่อ แม่ และพี่สาวหนึ่งคน โดยสูญเสียบิดาไปตั้งแต่อายุได้ 7 ขวบเท่านั้น

โค้ชเชมีความชื่นชอบด้านกีฬาตั้งแต่ยังอายุน้อย เริ่มต้นด้วยการเป็นนักกีฬากรีฑา จนกระทั่งอายุ 12 ปี ได้รู้จักกีฬาเทควันโด และสนใจ จนลงแข่งขันชิงแชมป์ประเทศเกาหลีใต้ได้เหรียญทองแดง ทำให้กลายเป็นแรงบันดาลใจทำให้เล่นเทควันโดต่อไป

แม้จะไปได้ไม่ถึงในระดับทีมชาติก็จริง แต่หลังจากเกณฑ์ทหารออกมา โค้ชเชได้เริ่มด้วยการเป็นโค้ช ให้กับ ทีมชาติบาห์เรน ตอนปี พ.ศ.2543 ได้เงินเดือนราวๆ 4,000 เหรียญสหรัฐ (ราวๆ 160,000 บาท ในเวลานั้น)

ตอนนั้นโค้ชเชเซ็นสัญญา 2 ปี แต่ทว่าอยู่ได้แค่ปีครึ่งก็เดินทางกลับเกาหลีใต้ ประกอบกับช่วงเวลาดังกล่าวคุณแม่เสียชีวิต เจ้าตัวเศร้าเสียใจอย่างหนัก และไม่คิดว่าจะกลับไปทำงานที่ต่างประเทศอีก

แต่แล้วโชคชะตาฟ้าลิขิตให้ สมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทย กำลังหาโค้ชใหม่เมื่อตอนปี พ.ศ.2545 หลังจากที่โค้ชคนเก่ามีปัญหากลับประเทศไป ทำให้ติดต่อไปยัง สหพันธ์เทควันโดโลก ก่อนจะส่งโค้ชเชเข้ามาทำหน้าที่หัวหน้าผู้ฝึกสอน ตอนนั้นมีสัญญาระยะสั้นๆ แค่จบเอเชี่ยนเกมส์ 2014 ที่เมืองปูซาน

โค้ชเช เดินทางมายังประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2545 มีเวลาไม่นานที่จะต้องพาจอมเตะไทยไปแข่งเอเชี่ยนเกมส์ กลับสามารถพานักกีฬาไทยเข้าชิงได้ถึง 2 รุ่น ก่อนแพ้ให้เจ้าภาพในรอบชิงชนะเลิศ ได้เพียงเหรียญเงินเท่านั้น ทำให้จบการแข่งขัน นักกีฬาไทยต่างเรียกร้องให้โค้ชเชอยู่ต่อ จนสุดท้ายโค้ชเชใจอ่อน ยอมกลับมาเมืองไทยอีกครั้ง และนั่นก็เหมือนเป็นจุดเริ่มต้นของโค้ชเชกับประเทศไทยเลยก็ว่าได้

โค้ชเชสามารถสร้างนักกีฬาเทควันโดไทยให้เติบโตไปในระดับโลก เริ่มด้วยการพา “วิว” เยาวภา บุรพลชัย คว้าเหรียญทองแดงในโอลิมปิกเกมส์ 2004 ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ นับเป็นเหรียญประวัติศาสตร์ของกีฬาเทควันโดไทย

ก่อนที่ประเทศไทยจะคว้าเหรียญรางวัลในโอลิมปิกเกมส์ได้ทุกครั้งนับตั้งแต่ที่โค้ชเชมาอยู่ ไล่ตั้งแต่ปี 2008 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ได้เหรียญเงินจาก “สอง” บุตรี เผือดผ่อง, ปี 2012 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ จาก “เล็ก” ชนาธิป ซ้อนขำ ต่อด้วยปี 2016 ที่นครรีโอ เด จาเนโร ประเทศบราซิล ได้ 1 เงิน จาก “เทม” เทวินทร์ หาญปราบ และ 1 ทองแดงจาก เทนนิส” พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ

กระทั่งมาถึงโอลิมปิกเกมส์ ครั้งล่าสุดที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ที่ต้องแข่งล่าช้ามา 1 ปี เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โค้ชเชทำตามความฝันของตัวเองได้สำเร็จด้วยการพา พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ คว้าเหรียญทองมาครองได้สำเร็จ เป็นเหรียญทองแรกของกีฬาเทควันโดอีกด้วย

นอกเหนือจากผลงานในระดับโอลิมปิกเกมส์ เฮดโค้ชชาวเกาหลีใต้ยังพานักกีฬาไทยก้าวไกลไปถึงการคว้าแชมป์โลกมาได้แล้วถึง 5 คนด้วยกัน ได้แก่ “จูน” รังสิญา นิสัยสม, “แม็กซ์” ชัชวาล ขาวละออ, ชนาธิป ซ้อนขำ, พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ และ “นก” พรรณนภา หาญสุจินต์

สิ่งหนึ่งที่ถือว่าเป็นป้ายยี่ห้อของโค้ชเชเลยก็คือ การถูกตั้งฉายาว่า โค้ชจอมเฮี้ยบ ด้วยความเป็นคนที่จริงจังอย่างมากในการฝึกซ้อม และพยายามเคี่ยวเข็นนักกีฬาอย่างหนัก เคยซ้อมจากนักกีฬามี 20 คน ให้เหลือเพียง 3-4 คนได้ รวมถึงใครมาสายแม้เพียง 5-10 นาที ก็พร้อมไล่กลับบ้านทันที

ทว่าสิ่งเหล่านี้เหมือนเป็นสิ่งที่ทำให้นักกีฬาไทยมีระเบียบวินัยอย่างมาก จนประสบความสำเร็จได้อย่างทุกวันนี้ ต้องขอบคุณความจริงจังของโค้ชเชเช่นกัน

จุดหนึ่งที่สำคัญ ที่ผ่านมาโค้ชเชได้รับการเชื้อเชิญจากหลายๆ ชาติ ให้ไปช่วยทำทีมชาติ รวมถึงพร้อมทุ่มเม็ดเงินให้มากกว่า แต่สุดท้ายโค้ชเชนั้นเลือกที่จะไม่ไป เพราะไม่ต้องการสร้างนักกีฬาขึ้นมาเพื่อเป็นศัตรูกับลูกศิษย์ตัวเองอย่างนักกีฬาไทย

ตลอด 20 ปีที่โค้ชเชอยู่เมืองไทยมา สิ่งที่มักจะมาเป็นกระแสอยู่เป็นระยะๆ นั่นคือเรื่องของการขอสัญชาติไทย เนื่องจากว่าตัวโค้ชเชเองต้องการลงหลักปักฐานอยู่ที่ประเทศไทย และหลงรักเมืองไทยอย่างมาก ตั้งใจจะอยู่ที่นี่ไปตลอดชีวิต ซึ่งเริ่มมีการพูดคุยเรื่องนี้ตั้งแต่จบ โอลิมปิกเกมส์ 2012 ที่ประเทศอังกฤษ

เรื่องเหล่านี้ไม่ง่ายเท่าไหร่ ด้วยกฎหมายของประเทศเกาหลีนั้นไม่สามารถถือสองสัญชาติได้ต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง ประกอบกับโค้ชเชไม่ต้องการให้คุณยาย ที่เลี้ยงดูมาตั้งแต่ยังเด็กนั้น มองว่าทิ้งสัญชาติเกาหลีใต้ไป จึงทำให้ช่วงเวลาดังกล่าวยังไม่สามารถเลือกเปลี่ยนสัญชาติได้

จนกระทั่งคุณยายเสียชีวิตลง เจ้าตัวตัดสินใจอย่างเด็ดขาดที่จะละสัญชาติเกาหลีใต้และมาเป็นคนไทยอย่างเต็มตัว

จริงๆ แล้วโค้ชเชตั้งใจที่จะเปลี่ยนสัญชาติให้ทันก่อนโอลิมปิกเกมส์ ที่กรุงโตเกียวที่ผ่านมา เพื่อเป็นโค้ชคนไทยคนแรกที่พานักกีฬาไทยคว้าเหรียญทองในโอลิมปิกเกมส์ได้ แต่ติดเรื่องเอกสาร กว่าจะได้เริ่มดำเนินการอย่างจริงจังต้องรอกลับมาจากโอลิมปิกเกมส์

โค้ชเชเคยมีชื่อไทยว่า ชัยศักดิ์ (อ่านว่า ชัย-ยะ-ศักดิ์) มีความหมายว่า ผู้มีชัยชนะและศักดิ์ศรีที่ยิ่งใหญ่ และเป็นการตั้งชื่อให้สอดคล้องกับชื่อเกาหลีใต้อย่าง เช ยอง ซ็อก ด้วย แต่เมื่อจะเปลี่ยนมาถือสัญชาติไทย โค้ชเชได้ขอให้ สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี หรือเจ้าคุณธงชัย ตั้งชื่อให้ใหม่ โดยให้เลือกมา 3 ชื่อ ก่อนโค้ชเชจะเลือกชื่อ ชัชชัย อันมีความหมายว่า ชัยชนะที่มั่นคง เป็นชื่อที่อยู่ในบัตรประชาชนของโค้ชเชต่อไป

ต้องยอมรับว่าจากการช่วยเหลือของหลายภาคส่วน ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ ปกติต้องใช้เวลากัน 2-3 ปี ในการเปลี่ยนสัญชาติ กลับจบลงด้วยระยะเวลาเพียงไม่ถึง 6 เดือน

“บิ๊กเอ” ผศ.ดร.พิมล ศรีวิกรม์ นายกสมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทย เผยว่า ภูมิใจอย่างมากที่วันนี้โค้ชเชจะได้เป็นคนไทยแล้ว สามารถถือธงชาติไทย เป็นโค้ชไทยที่นำเหรียญรางวัลให้กับประเทศไทยพร้อมกับนักกีฬาได้ ตนกับโค้ชเชนั้นทำงานร่วมกันมา 20 ปี เป็น 20 ปีที่ประทับใจอย่างมาก เซ็นสัญญากันจนกลายเป็นสัญญาใจเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อได้สัญชาติไทยแล้วโค้ชเชก็จะได้โฟกัสกับการทำงานอย่างเต็มที่ รวมถึงสามารถซื้อบ้านได้แล้ว

ขณะที่ “โค้ชเช” หรือชัชชัย บอกว่า ขอบคุณและดีใจมากๆ เป็นเรื่องที่รอมานาน สำคัญที่สุดคือ ผศ.ดร.พิมล เพราะถ้าไม่มีนายกสมาคมฯก็คงมาถึงจุดนี้ไม่ได้ เมื่อวานหลังเห็นข่าวก็มีคนส่งข้อความมาแสดงความยินดีมากมาย เชื่อว่าเรื่องนี้รัฐบาลช่วยเหลือเต็มที่เพราะบางคนใช้เวลานานแต่นี่แค่ 6 เดือนเท่านั้น หลังจากนี้คงสบายใจมากๆ ต่อไปก็วางแผนซื้อบ้าน น่าจะเป็นแถวๆ หัวหมากเพราะใกล้สมาคมฯและสนามบินด้วย

“ไม่เสียใจที่ทิ้งสัญชาติเกาหลีใต้ เพราะคิดมานานแล้ว ตอนนี้คุณพ่อคุณแม่ รวมถึงคุณยายที่เลี้ยงมาก็เสียหมดแล้ว ส่วนพี่สาวได้คุยกันก็โอเค ให้อิสระในการตัดสินใจ เมื่อได้สัญชาติไทยมาแล้วก็ต้องพยายามอย่างเต็มที่ ทำงานทุ่มเทให้มากกว่าเดิม”

แน่นอนว่าเป้าหมายของโค้ชเชหลังจากนี้ คือการพานักกีฬาไทยคว้าความสำเร็จในการแข่งขันกลับมาเป็นของขวัญให้กับชาวไทย โดยเฉพาะอีก 2 ปีข้างหน้ากับโอลิมปิกเกมส์ ที่ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

คราวนี้ คงถึงเวลาสร้างประวัติศาสตร์ ผู้ฝึกสอนชาวไทยคนแรกที่สามารถพานักกีฬาคว้าเหรียญทองในโอลิมปิกเกมส์ได้เสียที

Thailand Sport Magazine Sponsored
ผู้สื่อข่าว กีฬา

ข่าวกีฬา นักกีฬา กีฬา ในร่ม indoor outdoor ต้องทำ sport ให้เป็น กีฬา หลักของประเทศ ดูข้อมูล กอล์ฟ บาสเก็ตบอล ฟุตบอล ว่ายน้ำ วอลเล่ย์บอล มวย แข่งรถ แบดมินตัน และ อีสปอร์ต Dedicated to all sport news from Thailand, with news updates, stories and event reports on many different types of sporting activities that the Thailand currently holds, across all of the asia.

This website uses cookies.