ร.ร.เอกชนขนาดเล็กโอด เดือดร้อนหนัก จี้ ‘ศธ.’ หาแหล่งเงินกู้อนุมัติเร็ว-แก้เกณฑ์เก็บค่าเทอม
นายปฐมภรณ์ ราชสิงโห ผู้จัดการและผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนอนุบาลเรณู เมืองพัทยา จ.ชลบุรี เปิดเผยว่า ขณะนี้โรงเรียนเอกชนขนาดเล็กในเมืองพัทยากำลังเดือดร้อนหนัก ขาด สภาพคล่องในการหมุนเวียนเงินมาจ่ายเงินเดือนครูและพยุงกิจการ เนื่องจากเศรษฐกิจในพื้นที่ยังไม่ทันฟื้นตัว ก็มากระทบหนักจากสถานการณ์ไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ระบาด ส่งผลให้ผู้ปกครองที่ได้ผลกระทบ ไม่สามารถจ่ายเงินค่าเทอมได้ แม้ทางโรงเรียนจะลดค่าเทอมลง 2 ครั้ง ขณะที่นักเรียนใหม่ก็ไม่มีสมัครเข้ามา แต่รายจ่ายของโรงเรียนยังเท่าเดิมเดือนละ 3-4 แสนบาท หลักๆ คือเงินเดือนครู ซึ่งแม้จะเรียนออนไลน์แต่ทางโรงเรียนต้องจ่ายเงินเดือนครูเท่าเดิม อีกทั้งการสอนออนไลน์ มีค่าใช้จ่ายและเครื่องมือที่ต้องใช้มากขึ้นจากการสอนปกติ
นายปฐมภรณ์ กล่าวต่ออีกว่า ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) มีการช่วยเหลือแต่เป็นการช่วยเหลือที่ไม่ถูกจุด แม้มีการแนะนำแหล่งเงินกู้กลุ่ม ธนาคารให้ แต่เป็นการปล่อยกู้ด้วยเกณฑ์ปกติ ที่ทางโรงเรียนต้องยื่นสเตทเมนต์ย้อนหลัง 6 เดือน ถึง 1 ปี งบการเงินย้อนหลังอีก 3 ปี ซึ่งในช่วง 1-2 ปี เป็นไปไม่ได้เลยที่สเตทเมนต์ของโรงเรียนเอกชนขนาดเล็ก จะดีมีกำไรเหมือนก่อนสถานการณ์โควิด ทำให้การขอกู้เป็นไปด้วยความยากลำบากและไม่ทันสถานการณ์ ขณะที่เงินสำรองของทางโรงเรียนก็ดึงมาใช้พัฒนาสิ่งแวดล้อมและพยุงสถาการณ์ไปหมดแล้ว
“ถ้าจะต้องเป็นหนี้เพื่อให้ทุกอย่างอยู่รอด ผมเชื่อว่าผู้บริหารทุกท่านยินดีเอามาช่วยประคอง ถ้าจะมีเงินกู้ตรงนี้ได้จริงตัวดอกเบี้ยน่าจะเป็นดอกเบี้ยพิเศษให้โรงเรียน มีที่ตั้งตรวจสอบได้ และยังเป็นแหล่งสร้างคนให้การศึกษากับเด็ก มองว่าความเสี่ยงหนี้สูญนั้นน้อยมาก เชื่อว่า เจ้าของโรงเรียนเกินร้อยละ 90 มีความสามารถในการชำระหนี้หมด โรงเรียนเขาไม่ได้ต้องการเงินฟรี แต่เค้าต้องการเงินที่จะมาเลี้ยงในระบบโรงเรียนได้ แล้วทันท่วงที ไม่ใช่ว่าต้องไปติดต่อก่อน 3 เดือน แล้วต้องรอ ในขณะที่สิ้นเดือนนี้ก็ต้องจ่ายเงินลูกน้อง ค่าไฟมาแล้ว ยังมีหนี้สินเดิมที่ต้องผ่านจ่าย ธนาคารตามปกติอีก อยากให้รัฐออกนโยบายช่วยเหลือโรงเรียนเอกชน โดยเฉพาะโรงเรียนเอกชนนาดเล็ก ที่มีผลภายใน 30 วันบ้าง ขณะเดียวกัน อยากให้ สช.แก้ระเบียบเรื่องค่าเงินเดือนครูให้อยู่ในรายการที่จะ เก็บเงินกับผู้ปกครองได้ เนื่องจากที่ผ่านมาไม่เคยมีการระบุ โดยการเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ เช่น ค่าห้อง คอมพิวเตอร์ ค่าห้องปฏิบัติการ ค่าเรียนว่ายน้ำ ค่าเรียนเทควันโด ค่าแอร์ ฯลฯ ทางศึกษาธิการจังหวัดต้อง อนุมัติถึงจะเก็บได้ โดยเงินบางส่วนที่เก็บมาจะถูกนำไปจ่ายเป็นเงินเดือนครู พอเกิดเหตุการณ์โควิดขึ้น และทาง โรงเรียนต้องจ่ายค่าธรรมเนียมพวกนี้คืนให้ผู้ปกครอง ทำให้โรงเรียนขาดสภาพคล่อง เป็นภาระที่ทางโรงเรียน ต้องแบกอยู่คนเดียว “ นายปฐมภรณ์ กล่าว