28 สิงหาคม 2564 | โดย กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
195
“โตเกียว 2020 พาราลิมปิกเกมส์” มีทีมนักกีฬาผู้ลี้ภัยเข้าร่วมด้วย ซึ่งถือเป็น “ทีมผู้ลี้ภัยพาราลิมปิกเกมส์ 2020” ทีมแรก ที่ได้เข้าร่วมการแข่งพาราลิมปิกอย่างเป็นทางการ และมีสมาชิกมากถึง 6 คน
ความน่าสนใจของงานมหกรรมแข่งขันกีฬาสำหรับผู้พิการ “พาราลิมปิกส์เกมส์” นอกจากเป็นการแข่งขันของนักกีฬาผู้มีข้อจำกัดทางร่างกายแล้ว ในอีกด้านหนึ่ง ความเท่าเทียมด้านเชื้อชาติ ก็ถูกหยิบยกขึ้นพูดถึงไม่น้อยกว่ากัน
ทีมนักกีฬาผู้ลี้ภัย หรือ Refugee Paralympic Team ในงาน “โตเกียว 2020 พาราลิมปิกเกมส์” มีสมาชิก 6 คน เป็นทีมนักกีฬาผู้ลี้ภัยทีมแรก ที่จะลงแข่งภายใต้ธงสัญลักษณ์ของคณะกรรมการพาราลิมปิกสากลตลอดการแข่งขัน
- ทีมนักกีฬาผู้ลี้ภัยทีมแรกใน “พาราลิมปิกเกมส์” อย่างเป็นทางการ
ทีมนักกีฬาผู้ลี้ภัยในงาน “โตเกียว 2020 พาราลิมปิกเกมส์” ถือเป็นทีมผู้ลี้ภัยทีมแรกที่ได้เข้าร่วมการแข่งพาราลิมปิกอย่างเป็นทางการ หลังจากนักกีฬาผู้ลี้ภัย 2 คนได้ลงแข่งในการแข่งขันที่ริโอ พ.ศ. 2559 ภายใต้ทีม “นักกีฬาพาราลิมปิกอิสระ” ทีมนักกีฬาในปีนี้ประกอบด้วยผู้ลี้ภัย 6 คนจาก 4 ประเทศที่มอบพักพิง และจะลงแข่งใน 5 ประเภทกีฬาพาราลิมปิก
- อลิอา อิซซา นักกีฬาพาราลิมปิกหญิงผู้ลี้ภัยคนแรก ผู้มีอายุน้อยที่สุดในทีม
ในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิก ที่กรุงโตเกียว สำหรับผู้เชิญธงทีมนักกีฬาผู้ลี้ภัย คือ อลิอา อิซซา ผู้ลี้ภัยชาวซีเรียที่อาศัยอยู่ในประเทศกรีซ ผู้ลงแข่งขันขว้างไม้
อลิอาติดเชื้อโรคไข้ทรพิษตอนอายุ 4 ขวบ ทำให้สมองได้รับความเสียหายและทำให้เธอมีความบกพร่องทางร่างกายและสติปัญญา ล่าสุดเธอได้ครองอันดับ 4 ในการแข่งขันพาราเวิลด์กรีฑาชิงแชมป์ยุโรป พ.ศ. 2564
อับบาส คาริมิ ผู้ลี้ภัยชาวอัฟกานิสถานที่อาศัยอยู่ในเมืองฟอร์ท ลอเดอร์เดล ประเทศสหรัฐอเมริกา อับบาสพิการแขนทั้งสองข้างแต่กำเนิดและต้องเผชิญกับสงครามแบ่งแยกดินแดนในบ้านเกิดของเขา เพราะความบกพร่องทางร่างกายและเชื้อชาติ ทำให้เขาต้องหนีมายังประเทศตุรกีที่เขาพักพิงอยู่ในสถานะผู้ลี้ภัยเป็นเวลา 4 ปี ก่อนได้ไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในสหรัฐอเมริกา
อับบาสเคยคว้ารางวัลมาได้ 8 เหรียญ รวมถึง 1 เหรียญเงิน จากการแข่งขันพาราเวิลด์ว่ายน้ำชิงแชมป์ยุโรปที่เม็กซิโก ซิตี้ พ.ศ. 2560 และเขาคาดหวังที่จะคว้าอีกรางวัลให้ได้จากการแข่งขันที่โตเกียว
- อิบราฮิม อัล ฮุซเซน นักว่ายน้ำผู้ลี้ภัยที่อยากให้ผู้ลี้ภัยทุกคนเข้าถึงกีฬา
อิบราฮิม อัล ฮุซเซน จากประเทศบ้านเกิดในซีเรีย ผู้เคยลงแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์ที่เมืองริโอ พ.ศ. 2559 หนึ่งในสองสมาชิกแรกของทีมนักกีฬาพาราลิมปิกอิสระที่มีทั้งผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัย ตอนนี้อิบราฮิมอาศัยอยู่ในประเทศกรีซ ขาข้างขวาของเขาตั้งแต่ช่วงเข่าลงไปถูกตัดออก หลังได้รับบาดเจ็บจากเหตุระเบิดในซีเรียขณะกำลังพยายามช่วยเพื่อนที่ได้รับบาดเจ็บ
“ผมอยากให้ผู้ลี้ภัยทุกคนได้รับโอกาสทางการกีฬา ผมคิดไม่ออกเลยว่าชีวิตผมจะเป็นอย่างไรถ้าไม่มีกีฬา” อิบราฮิม กล่าว
- อนาส อัล คาลิฟา นักกีฬาเรือแคนนู
อนาส อัล คาลิฟา ชาวซีเรียพลัดถิ่นมายังประเทศเยอรมนีโดยผ่านทางประเทศตุรกีใน พ.ศ. 2558 ที่เขาเคยทำงานติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์อยู่ ก่อนได้รับบาดเจ็บที่ไขสันหลังจาการตกตึก 2 ชั้นใน พ.ศ. 2561 ทำให้เขาเคลื่อนไหวได้อย่างจำกัดและสูญเสียความรู้สึกบางส่วนตั้งแต่สะโพกลงไป
นักกายภาพบำบัดของเขาแนะนำให้เขาเริ่มพายเรือแคนูสำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกายเมื่อปีก่อน และต้องขอบคุณความทุ่มเทในการฝึกซ้อมของเขา และการสนับสนุนของโค้ชที่เคยเป็นอดีตนักกีฬาโอลิมปิกที่เคยได้รับรางวัล ทำให้อนาสมีพัฒนาการอย่างน่าทึ่ง
“ทุกครั้งที่ผมฝึกซ้อมกีฬา ทำให้รู้สึกเหมือนว่าตัวเองสามารถประสบความสำเร็จได้อีกในหลายๆ เรื่อง และมันทำให้ลืมเรื่องความบกพร่องทางร่างกายไปเลย” อนาส บอก
- ชาห์ราด นาซัจปูร์ ผู้บุกเบิกทีมนักกีฬาพาราลิมปิกผู้ลี้ภัย
ชาห์ราด นาซัจปูร์ อีกหนึ่งสมาชิกของทีมนักกีฬาพาราลิมปิกอิสระที่ริโอ เขาจะลงแข่งอีกครั้งในกีฬาขว้างจักรที่โตเกียว ชาห์ราดเกิดในประเทศอิหร่าน พร้อมความบกพร่องทางสมองแต่กำเนิด เขาเคยเล่นปิงปองก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นพารากรีฑา หลังจากได้ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ประเทศสหรัฐอเมริกาใน พ.ศ. 2558 เขาติดต่อคณะกรรมการพาราลิมปิกสากลด้วยความคิดที่จะจัดตั้งทีมนักกีฬาผู้ลี้ภัยสำหรับการแข่งขันที่ริโอ และเขาก็สามารถเข้าร่วมการแข่งขันนั้นได้ในที่สุด
- ปาเฟ่ต์ อาคิซิมานา นักเทควันโดผู้ลี้ภัย
ปาเฟ่ต์ อาคิซิมานา ผู้ที่เดินทางไปโตเกียวตรงจากค่ายผู้ลี้ภัยมาฮามาในประเทศรวันดาที่เขาพักพิงอยู่ โดยเขาหนีออกมาจากความขัดแย้งในประเทศบุรุนดี เขาเสียแขนข้างหนึ่งตอนอายุ 8 ขวบ ระหว่างถูกโจมตี ซึ่งแม่ของเขาเสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนั้นด้วย เขาเริ่มเรียนเทควันโดในเวลาต่อมา และได้เข้าร่วมการแข่งขันในระดับนานาชาติ อีกทั้งยังเป็นผู้ฝึกซ้อมให้เด็กๆ ผู้ลี้ภัยในค่ายด้วยเช่นกัน
ที่มา : สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR)