Thailand Sport Magazine Sponsored

พังเพราะสังคมกดดัน? ทำไมเกาหลีใต้ชวดเหรียญทองโอลิมปิก ทั้งที่เป็นต้นตำรับเทควันโด – Sanook

Thailand Sport Magazine Sponsored
Thailand Sport Magazine Sponsored

หลายคนที่ติดตามกีฬาเทควันโดในโอลิมปิกย่อมรู้ดีว่า เกาหลีใต้ คือชาติที่ครองความยิ่งใหญ่ และกวาดเหรียญทองจากกีฬาชนิดนี้นับไม่ถ้วน ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนัก หากพิจารณาความจริงที่พวกเขา เป็นผู้ให้กำเนิดศิลปะป้องกันตัวรูปแบบดังกล่าว

หลังจากมองความสำเร็จของเกาหลีใต้มาหลายปี ในที่สุด ทัพนักกีฬาไทยสามารถคว้าเหรียญทองจากกีฬาเทควันโดได้สำเร็จ แต่ในวันที่เรากำลังก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุด ทัพนักเทควันโดเกาหลีใต้กลับร่วงสู่จุดต่ำสุด เมื่อพวกเขาไม่สามารถคว้าเหรียญทองกลับบ้าน แม้แต่เหรียญเดียว

ทำไมเกาหลีใต้ชวดเหรียญทองโอลิมปิก ทั้งที่เป็นต้นตำรับเทควันโด … คำบอกเล่าจากปากนักกีฬาที่กล่าวว่า พวกเขากดดันมากเกินไปเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ? เราขอไขข้อข้องใจต่อคำถามดังกล่าวให้คุณ

ราชาแห่งกีฬาเทควันโด

หากจะหาสักสาเหตุที่ทำให้นักเทควันโดเกาหลีใต้ เกิดความกดดันมหาศาลก่อนลงแข่งขันในโตเกียวเกมส์ หนึ่งในสาเหตุสำคัญเหล่านั้นย่อมหนีไม่พ้น ความยิ่งใหญ่ของทัพนักกีฬาเกาหลีใต้ นับตั้งแต่กีฬาเทควันโดถูกบรรจุเข้าสู่โอลิมปิก เกมส์ ที่นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อปี 2000

ย้อนกลับไปก่อนการแข่งขันเมื่อ 21 ปีก่อน กีฬาเทควันโดเคยปรากฏตัวในโอลิมปิก เกมส์ 1988 ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ในฐานะกีฬาสาธิต โดยชาติที่ทำผลงานได้ดีที่สุดคือ เกาหลีใต้ เช่นเดียวกับอีก 4 ปีถัดมา ในการแข่งขันโอลิมปิก เกมส์ 1992 ที่เมืองบาร์เซโลน่า ประเทศสเปน เกาหลีใต้ยังคงเป็นชาติที่ทำผลงานได้ดีที่สุดอีกครั้ง แม้เทควันโดจะยังคงเป็นกีฬาสาธิตเหมือนเคย

เมื่อการแข่งขันเทควันโดในฐานะกีฬาอย่างเป็นทางการของโอลิมปิกมาถึง ในปี 2000 เกาหลีใต้ถูกจับตามองอย่างมากในฐานะตัวเต็ง สำหรับชาติผู้เป็นต้นกำเนิดกีฬาชนิดนี้ ซึ่งทัพเทควันโดจากแดนโสมขาวไม่ทำให้กองเชียร์ผิดหวัง ด้วยการคว้า 3 เหรียญทอง และ 1 เหรียญเงิน จากการส่งนักกีฬาลงแข่งขัน 4 รุ่นน้ำหนัก นับเป็นประเทศที่ทำผลงานได้ดีที่สุดในโอลิมปิกครั้งนั้น ก่อนจะคว้า 2 เหรียญทอง 2 เหรียญทองแดง จากโอลิมปิก เกมส์ 2004

จุดสูงสุดของทัพนักเทควันโดเกาหลีใต้เกิดขึ้นในการแข่งขันปักกิ่งเกมส์ เมื่อปี 2008 ด้วยการคว้า 4 เหรียญทอง จาก 4 รุ่นที่พวกเขาส่งนักกีฬาลงทำการแข่งขัน นับเป็นอีกครั้งที่นักกีฬาเทควันโดจากเกาหลีใต้ สามารถคว้าเหรียญรางวัลได้ทั้งหมด แถมยังเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ ที่มีนักกีฬาเทควันโดจากชาติเดียวกัน สามารถคว้าเหรียญทองในทุกรุ่นน้ำหนักที่ส่งนักกีฬาเข้าแข่งขัน

แม้ผลงานของทัพนักกีฬาเทควันโดเกาหลีใต้หลังจากนั้น จะไม่ยอดเยี่ยมเหมือนกับที่เคยทำไว้ในกรุงปักกิ่ง แต่พวกเขายังคงประสบความสำเร็จด้วยการคว้าเหรียญทองกลับบ้านทุกครั้ง โดยลอนดอนเกมส์ 2012 ฮวัง กยองซอน คือนักเทควันโดเกาหลีใต้เพียงคนเดียวที่สามารถคว้าเหรียญทองมาครอบครอง โดยถือเป็นการเอาชนะการแข่งขันรุ่น 67 กิโลกรัม หญิง เป็นครั้งที่สองติดต่อกัน หลังเคยคว้าเหรียญทองมาแล้วในโอลิมปิก เกมส์ 2008

ส่วนริโอเกมส์ 2016 ทัพนักกีฬาเกาหลีใต้สามารถคว้าได้ถึง 2 เหรียญทอง จาก คิมโซฮี นักเทควันโดหญิงรุ่น 49 กิโลกรัม และ โอ ฮเยริ นักเทควันโดหญิงรุ่น 67 กิโลกรัม และถ้ามองผลงานในภาพรวมของนักเทควันโดเกาหลีใต้ทั้ง 5 คนที่ลงแข่งขัน ทุกคนสามารถคว้าเหรียญรางวัลได้ทั้งหมด ด้วยผลงาน 2 เหรียญทอง 3 เหรียญทองแดง ผลงานอันน่าประทับใจนี้ ทำให้พวกเขากลับมาเป็นชาติที่ทำผลงานได้ดีที่สุดในกีฬาเทควันโด ซึ่งเป็นหนที่สามหลังจากเคยทำได้มาแล้วในปี 2000 และ 2008

สรุปผลงานจากมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 5 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2000-2016 ทัพเทควันโดเกาหลีใต้ครองความยิ่งใหญ่แบบหมดจด ด้วยผลงาน 12 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน 5 เหรียญทองแดง รวมเป็น 19 เหรียญรางวัล นำห่างอันดับสองอย่างประเทศจีนแบบไม่เห็นฝุ่น ทั้งจำนวนเหรียญทองซึ่งห่างกัน 5 เหรียญ หรือเหรียญรางวัลรวมที่ห่างกัน 9 เหรียญ

ความยิ่งใหญ่ของเกาหลีใต้ในกีฬาเทควันโดจึงเลื่องลือไปทั่วโลก และครองตำแหน่งเต็งหนึ่งของการแข่งขันทุกครั้ง เมื่อโอลิมปิก เกมส์ หมุนเวียนมาถึงในทุก 4 ปี โดยไม่มีใครคาดคิดเลยว่า โตเกียวเกมส์ จะเป็นครั้งแรกที่ชาติมหาอำนาจ และผู้ให้กำเนิดกีฬาเทควันโด ไม่มีเหรียญทองติดมือกลับบ้าน

ความคาดหวังสวนทางความเป็นจริง

ก่อนเดินทางเพื่อลงทำการแข่งขันในโตเกียวเกมส์ ขุนพลนักเทควันโดจากเกาหลีใต้ได้รับการจับตามอง และคาดหวังอย่างมากจากประชาชนในชาติ นั่นเป็นเพราะโอลิมปิกหนนี้ นับเป็นครั้งแรกที่เกาหลีใต้ส่งนักเทควันโด 6 คน ลงทำการแข่งขัน ถือเป็นจำนวนมากที่สุดในประวัติศาตร์

เมื่อบวกกับความจริงที่พวกเขามีนักเทควันโดมืออันดับหนึ่งของโลกอยู่ในทีมถึง 2 คน รายแรกคือ อี แดฮุน นักเทควันโดชายรุ่น 68 กิโลกรัม เจ้าของเหรียญเงิน เมื่อปี 2012 และเหรียญทองแดง เมื่อปี 2016 ส่วนรายที่สองคือ จางจุน นักกีฬาเทควันโดชายรุ่น 58 กิโลกรัม ที่เพิ่งคว้าแชมป์โลกมาหมาด ๆ ในปี 2019

ส่วนนักเทควันโดเกาหลีใต้คนอื่น ไม่ได้มีดีกรีน้อยกว่าสองคนที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ ไม่มีใครชื่อชั้นต่ำกว่ามืออันดับ 5 ของโลก ด้วยเหตุนี้ การหวังว่านักเทควันโดเกาหลีใต้ทุกคนจะคว้าเหรียญรางวัลกลับบ้าน ไม่ใช่เรื่องเกินความเป็นจริงแม้แต่น้อย หลายคนมองว่าพวกเขาสามารถประสบความสำเร็จเหมือนโอลิมปิก เกมส์ 2000 และ 2008 ที่คว้า 3-4 เหรียญทอง หรืออย่างน้อยที่สุด พวกเขาต้องไม่แย่กว่าริโอเกมส์ 2016 ที่มีอย่างน้อย 2 เหรียญทอง โดยที่คนอื่นมีเหรียญรางวัลติดมือ

อย่างไรก็ตาม ความคาดหวังของแฟนกีฬาเกาหลีใต้ กลับสวนทางต่อสถานการณ์จริงที่นักกีฬากำลังสัมผัส เพราะหากย้อนไปในปี 2020 ที่ผ่านมา นักเทควันโดเกาหลีใต้ เผชิญหน้ากับปัญหาใหญ่ที่สุดในชีวิตของพวกเขา นั่นคือการไม่ได้ลงแข่งขันเกมระดับนานาชาติ เนื่องจากวิกฤตโควิด-19

ครั้งสุดท้ายที่นักกีฬาเหล่านี้ได้ประลองฝีมือกับคู่ต่อสู้ในระดับเดียวกัน ต้องย้อนกลับไปถึงการคัดเลือกโอลิมปิก เมื่อเดือนมกราคม เพราะถึงแม้ว่าสถานการณ์โควิดจะคลี่คลายหลังจากนั้น แต่ด้วยความเข้มงวดของรัฐบาลเกาหลีใต้ นักเทควันโดจึงหมดสิทธิ์เดินทางออกนอกประเทศเพื่อลงแข่งขันรายการต่าง ๆ เฉกเช่นชาติอื่นทั่วโลก

นักกีฬาจากประเทศอื่นสามารถเข้ารับการกักตัว หลังจากเดินทางไปแข่งขันที่ประเทศอื่นได้ แต่เราไม่ได้รับอนุญาตให้ทำแบบนั้น และผมคิดว่านี่คือความแตกต่างสำคัญ เพราะผมไม่ได้ลงแข่งขันในระดับนานาชาติมาเกือบสองปี ก่อนเดินทางสู่โอลิมปิก” อิน กโยดน นักเทควันโดชายรุ่นมากกว่า 80 กิโลกรัม เปิดใจถึงผลกระทบที่ได้รับเนื่องจากโควิด-19

ประสบการณ์จากการลงแข่งขันจริงเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนักกีฬาหน้าใหม่ที่ไม่เคยสัมผัสเวทีโอลิมปิกมาก่อน จากบรรดานักเทควันโดทีมชาติเกาหลีใต้ทั้งหก มีเพียง อี แดฮุน เท่านั้น ที่เคยลงแข่งขันในโอลิมปิก เกมส์ มาก่อน ส่วนห้าคนที่เหลือล้วนเป็นนักกีฬาหน้าใหม่มาแรงทั้งสิ้น

ไม่สำคัญว่าคุณจะเก่งมาจากไหน แต่สำหรับนักกีฬาที่ปราศจากประสบการณ์บนเวทีใหญ่ สิ่งที่พวกเขาต้องการมากที่สุดย่อมเป็น “ความมั่นใจ” ซึ่งจะเกิดขึ้นได้จากการคว้าชัยชนะ แต่นักเทควันโดเกาหลีใต้กลับทำได้เพียงซ้อมเตะเป้าในโรงยิม ขณะที่ความคาดหวังจากสังคมเพิ่มขึ้นเป็นเท่าทวี

เมื่อนักกีฬาเหล่านี้สัมผัสบรรยากาศของการแข่งขันที่เดิมพันสูงกว่าครั้งไหน หลายคนจึงทำผลงานได้ต่ำกว่ามาตรฐาน แม้แต่เจ้าของตำแหน่งมือหนึ่งของโลกอย่าง จางจุน ยังเปิดเผยว่า เขาวิตกกังวลจนก้าวขาแทบไม่ออก ในเกมนัดแรกที่เขาเอาชนะผู้เข้าแข่งขันจากฟิลิปปินส์ ด้วยสกอร์ 26-6

“ถึงผมจะพยายามต่อสู้กับความเครียดที่เกิดขึ้น ผมคิดว่ามีบางสิ่งเกี่ยวกับการแข่งขันโอลิมปิก ที่ทำให้ผมรู้สึกถึงภาระอันหนักอึ้งบนบ่า ผมวิตกกังวลมาก และนั่นทำให้พลังงานของผมหายไปอย่างรวดเร็ว” อิน กโยดน เผยประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจริงบนเวทีโอลิมปิก

ทั้ง จางจุน และ อิน กโยดน ยังสามารถแบกรับความกดดัน จนสามารถประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งด้วยการก้าวไปคว้าเหรียญทองแดง แต่นักเทควันโดเกาหลีใต้ที่เหลือ กลับมีผลงานที่เรียกได้ว่าล้มเหลว โดยเฉพาะ อี แดฮุน พี่ใหญ่ประจำทีม ที่พลิกล็อกตกรอบแรก ก่อนแพ้ในแมตช์ชิงเหรียญทองแดง ต้องมือเปล่ากลับบ้านทั้งที่เป็นมือหนึ่งของโลก เช่นเดียวกับ ซิม แชยอง และ อี อารึม สองนักเทควันโดหญิง ที่ไปไม่ถึงเหรียญรางวัลที่วาดฝัน

ความหวังสุดท้ายในการคว้าเหรียญทองของทัพนักเทควันโดเกาหลีใต้จึงอยู่กับ อี ดาบิน นักเทควันโดหญิงรุ่นมากกว่า 67 กิโลกรัม ที่สามารถทะลุเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศได้สำเร็จ แต่เมื่อเธอเผชิญหน้ากับ มิลิก้า มานดิค เจ้าของตำแหน่งมือหนึ่งของโลก ดาบินต้านทานความแข็งแกร่งของนักกีฬาชาวเซอร์เบียไม่ไหว แพ้ไปด้วยสกอร์ 7-10

ท้ายที่สุด นักเทควันโดเกาหลีใต้ทำผลงานย่ำแย่ที่สุด นับตั้งแต่มีการบรรจุกีฬาชนิดนี้ในโอลิมปิก ด้วยผลงาน 1 เหรียญเงิน 2 เหรียญทองแดง และเป็นครั้งแรกที่พวกเขาไม่มีเหรียญทองติดมือกลับบ้าน

ถึงเวลายอมรับความจริง

ความล้มเหลวของทัพนักกีฬาเทควันโดเกาหลีใต้ ไม่ได้จำกัดแค่การพลาดเหรียญทองเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความจริงที่ว่า มีนักเทควันโดเพียงหนึ่งคนจากทั้งหมด 6 ราย ที่สามารถก้าวเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศในโตเกียวเกมส์ ซึ่งความจริงข้อนี้ สร้างความไม่พอใจแก่คนเกาหลีใต้เป็นอย่างมาก

รายงานข่าวจากประเทศเกาหลีใต้กล่าวว่า ผู้คนในประเทศต่างช็อกกับผลงานของทัพนักเทควันโด ซึ่งเป็นความรู้สึกที่คล้ายกับความผิดหวังของชาวญี่ปุ่น ในโอลิมปิก เกมส์ 2012 เมื่อนักกีฬายูโดชายจากแดนอาทิตย์อุทัย ไม่สามารถคว้าเหรียญทองมาครองได้แม้แต่เหรียญเดียว

ทั้งนี้ เทควันโด ไม่ใช่กีฬาเดียวที่ผู้เข้าแข่งขันชาวเกาหลีใต้ทำผลงานต่ำกว่าเป้าหมาย แต่ยังรวมถึง กีฬาฟันดาบ ซึ่งเป็นหนึ่งใน 3 กีฬาความหวังของชาติ ร่วมกับ เทควันโด และยิงธนู โดยนักฟันดาบเกาหลีใต้สามารถคว้ามาเพียง 1 เหรียญทองแดง จากการแข่งขันประเภทเดี่ยว ซึ่งถือว่าน่าผิดหวังมาก เพราะชาวเกาหลีใต้คาดหวังความสำเร็จของทัพนักกีฬาฟันดาบ ในระดับเดียวกับที่พวกเขาคาดหวังจากกีฬาเทควันโด นั่นคือ การคว้าหลายเหรียญทอง  

อย่างไรก็ดี กีฬาฟันดาบ เพิ่งจะบูมในประเทศเกาหลีใต้เมื่อช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จากผลงานอันน่ามหัศจรรย์ของพวกเขาในลอนดอนเกมส์ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่นักกีฬาเกาหลีใต้คว้าเหรียญทองจากการแข่งขันประเภทเดี่ยว เมื่อบวกกับความจริงที่กีฬาฟันดาบมีต้นกำเนิดจากทวีปยุโรป แถมยังมีผลงานจากประเภททีมช่วยพยุงเอาไว้ (เกาหลีใต้คว้า 1 เหรียญทองจากประเภททีมในโตเกียวเกมส์) ผลงานของทัพนักกีฬาฟันดาบจึงไม่ย่ำแย่จนเกินไปนัก แม้จะพลาดความหวังที่ตั้งไว้ก่อนเริ่มการแข่งขัน

แต่ผลงานของทัพนักกีฬาเทควันโดเกาหลีใต้ พวกเขาไม่มีอะไรให้แก้ตัว เพราะนับตั้งแต่การกวาด 4 เหรียญทองที่โอลิมปิก เกมส์ 2008 ชาวเกาหลีใต้มองว่าพวกเขาคือหมายเลขหนึ่งแห่งวงการเสมอ เมื่อบวกกับฐานะประเทศผู้ให้กำเนิดกีฬาเทควันโดด้วยแล้ว ความสำเร็จตรงนี้จึงถือเป็นความภูมิใจของชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การพลาดเหรียญทองเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่กีฬาชนิดนี้ถูกบรรจุลงแข่งขันในโอลิมปิก จึงสร้างความผิดหวังแก่ชาวเกาหลีใต้เป็นอย่างมาก

ถึงอย่างนั้น ชาวเกาหลีใต้บางส่วนกลับมองว่า ความล้มเหลวของทัพนักเทควันโดในโตเกียว เกมส์ คือสัญญาณที่แสดงให้เห็นถึงการเติบโตของกีฬาเทควันโดในภาพรวม เพราะถ้าเราย้อนกลับไปมองผลงานของชาติอื่น ๆ ในช่วงหลัง แต่ละประเทศสามารถพัฒนานักเทควันโดของพวกเขาให้แข็งแกร่งขึ้นอย่างชัดเจน

ลอนดอนเกมส์ 2012 เหรียญทองจากกีฬาเทควันโดทั้งหมด 8 เหรียญทอง ถูกแบ่งออกแก่ 8 ประเทศ และมี 14 ชาติที่สามารถคว้ามาอย่างน้อยหนึ่งเหรียญรางวัลจากการแข่งขันปีนั้น ถัดมาที่ริโอเกมส์ 2016 8 เหรียญทอง ถูกแบ่งออกไปให้กับ 6 ประเทศ โดยจีนก้าวมาคว้า 2 เหรียญทองเท่ากับเกาหลีใต้ ส่วนโตเกียวเกมส์ 2020 มีถึง 21 ชาติ ที่คว้าเหรียญรางวัลติดมือกลับบ้าน จากกีฬาเทควันโดในโอลิมปิกหนนี้ ซึ่งหนึ่งในนั้น คือประเทศไทย

New York Times กล่าวว่า กีฬาเทควันโดไม่ต่างอะไรจากกระแสเพลง K-Pop ในวงการกีฬา เนื่องจากการได้รับความนิยมและแพร่กระจายไปทั่วทุกมุมโลก ไม่ใช่แค่ในเอเชียหรือยุโรปเท่านั้น แต่รวมถึงตะวันออกกลางและแอฟริกา โดยคณะกรรมการโอลิมปิกประเทศไนเจอร์ เคยกล่าวว่า เทควันโดเป็นกีฬาที่เหมาะกับประเทศยากจน เนื่องจากฝึกซ้อมได้โดยไม่ต้องพึ่งพาอุปกรณ์พิเศษ หรือสนามที่มีคุณภาพ (ไนเจอร์คว้าเหรียญเงินจากกีฬาเทควันโด เมื่อปี 2016)

สื่อมวลชนเกาหลีใต้บางส่วนจึงมองว่า ความล้มเหลวของทัพนักกีฬาเกาหลีใต้ กลายเป็นความสำเร็จในแง่ของการ “Globalization of Taekwondo” หรือ การพัฒนากีฬาเทควันโดให้เป็นกีฬาระดับโลกได้สำเร็จ สำหรับชาวเกาหลีใต้แล้ว นี่คือความภาคภูมิใจ ไม่ต่างจากความรู้สึกของชาวไทยที่เห็นมวยไทยในระดับโลก เพราะท้ายที่สุดแล้ว นี่คือเครื่องยืนยันว่าศิลปะการต่อสู้จากเกาหลีใต้ ได้รับความนิยมจากนานาชาติ จนมีการพัฒนาอย่างจริงจังในแต่ละประเทศ


Photo : www.koreaherald.com | Yonhap

มีการเขียนบทความบนเว็บไซต์แห่งหนึ่งในประเทศเกาหลีใต้ว่า ชาวเกาหลีใต้ควรเลิกคาดหวังว่าทัพนักกีฬาเทควันโดจะกวาดเหรียญทองเหมือนในอดีตได้แล้ว เพราะทุกประเทศต่างพัฒนานักกีฬาเทควันโดจนมีฝีมือใกล้เคียงกับนักกีฬาเกาหลีใต้ และชาวเกาหลีใต้ควรยอมรับว่า เทควันโดไม่ใช่กีฬาความหวังในการคว้าเหรียญทองโอลิมปิกอีกต่อไป และควรปรับแนวคิดตรงนี้เสียใหม่ โดยหันมามองความภาคภูมิใจในแง่ของการเป็นกีฬาจากประเทศเกาหลีใต้ ที่ได้โลดแล่นในโอลิมปิกดีกว่า

ถึงอย่างนั้น ชาวเกาหลีใต้ทั้งหมดเห็นตรงกันว่า พวกเขาต้องมีผลงานที่ดีขึ้นในโอลิมปิก เกมส์ 2024 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยอย่างน้อยต้องมีหนึ่งเหรียญทองกลับบ้าน ไม่ใช่ปราศจากเหรียญรางวัลสูงสุด เหมือนสิ่งที่เกิดขึ้นในโตเกียวเกมส์

ความล้มเหลวของทัพนักเทควันโดเกาหลีใต้ และความสำเร็จของประเทศอื่น คือสัญญาณที่บอกให้พวกเขารีบพัฒนาตัวเอง เพราะนับจากนี้เป็นต้นไป เกาหลีใต้ไม่ใช่ราชาที่ผูกขาดความสำเร็จในวงการเทควันโดอีกต่อไป หากยังล้าหลังและยึดติดกับแนวทางเดิมที่ไม่ก้าวหน้า พวกเขาอาจพลาดการคว้าเหรียญทองอีกครั้ง ในมหกรรมโอลิมปิกที่รออยู่ในอีก 3 ปีข้างหน้า

Thailand Sport Magazine Sponsored
ผู้สื่อข่าว กีฬา

ข่าวกีฬา นักกีฬา กีฬา ในร่ม indoor outdoor ต้องทำ sport ให้เป็น กีฬา หลักของประเทศ ดูข้อมูล กอล์ฟ บาสเก็ตบอล ฟุตบอล ว่ายน้ำ วอลเล่ย์บอล มวย แข่งรถ แบดมินตัน และ อีสปอร์ต Dedicated to all sport news from Thailand, with news updates, stories and event reports on many different types of sporting activities that the Thailand currently holds, across all of the asia.

This website uses cookies.