Thailand Sport Magazine Sponsored

บันทึกเรื่องราวและประสบการณ์ของทัพนักกีฬาไทยในซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ที่เวียดนาม ผ่านกล้องฟิล์ม – THE STANDARD

Thailand Sport Magazine Sponsored
Thailand Sport Magazine Sponsored

ช่วงโค้งสุดท้ายของการแข่งขันซีเกมส์ครั้งที่ 31 ที่ประเทศเวียดนามเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันที่ผ่านมา THE STANDARD มีโอกาสเดินทางไปรายงานข่าวการแข่งขันครั้งนี้ที่กรุงฮานอย 

โดยนอกจากโทรศัพท์มือถือ กล้องดิจิทัล และคอมพิวเตอร์แล็ปท็อปที่เราได้นำไปใช้รายงานข่าวแบบเรียลไทม์ในครั้งนี้แล้ว เรายังได้นำเอากล้อง Kodak แบบใช้ครั้งเดียวทิ้งไป เพื่อบันทึกเบื้องหลังเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการแข่งขันถึงในสนามอีกด้วย 

และหลังล้างฟิล์มจากกล้องออกมา นี่คือภาพบรรยากาศซีเกมส์จากอีกมุมมองหนึ่งของ THE STANDARD 

ภาพที่ 1: จอชชัว โรเบิร์ต แอทคินสัน เจ้าของ 4 เหรียญทองซีเกมส์ในการลงแข่งสมัยแรก

ภาพนี้บันทึกหลังจากที่การแข่งขันวิ่งผลัด 4×400 เมตรชาย ได้ปิดฉากลง และนับเป็นการแข่งขันรายการสุดท้ายของทัพกรีฑาไทยในซีเกมส์ครั้งนี้ 

จอชชัว โรเบิร์ต แอทคินสัน นักวิ่งลูกครึ่งไทย-ออสเตรเลียวัย 19 ปี เดินมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนชาวไทย พร้อมกับทีม 4×400 

โดยเขายอมรับว่ารู้สึกตื่นเต้นที่มีข้อความการให้กำลังใจผ่านโซเชียลมีเดียของเขาที่เขาได้เปิดอ่านหลายข้อความ แต่ไม่สามารถตอบด้วยตัวเองได้ทั้งหมด 

ซึ่งการเปิดตัวของจอชชัวครั้งแรกของเขากับทีมชาติไทยในศึกซีเกมส์ครั้งนี้ พร้อมกับผลงาน 4 เหรียญทอง ทำให้หลายคนเริ่มรู้สึกตื่นเต้นกับอนาคตของวงการกรีฑาไทย ที่มีทั้งจอชชัว และ บิว-ภูริพล บุญสอน นักกีฬาวัย 16 ปี เจ้าของสถิติซีเกมส์ 200 เมตรชายที่เขาทำได้ในครั้งนี้ พร้อมกับ 3 เหรียญทองซีเกมส์ 

รวมถึง คีริน ตันติเวทย์ นักวิ่งลูกครึ่งไทย-อเมริกันที่ได้ลงแข่งขันในฐานะตัวแทนทีมชาติไทยมาแล้วในศึกโอลิมปิกที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา นับเป็นอีกหนึ่งตัวแทนของกรีฑาไทยบนเวทีโลกที่ทุกคนเฝ้าคอยติดตามในการลงแข่งขันรายการต่างๆ 

ภาพที่ 2: เทควันโดทีมชาติไทย กับ เทนนิส-พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ ที่ถูกสื่ออาเซียนจับตามอง

‘กล้องฟิล์มมม’ เสียงของเทนนิส เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ที่กรุงโตเกียว และเจ้าของเหรียญทองซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ตะโกนเรียกช่างภาพ ระหว่างที่เรากำลังยกกล้องขนาดเล็กที่ไม่เหมือนกับช่างภาพหลายๆ คนที่ใช้กล้องใหญ่ถ่ายภาพหมู่ของทัพนักกีฬาเทควันโดไทยหลังเสร็จสิ้นภารกิจซีเกมส์ที่ประเทศเวียดนาม 

โดยก่อนหน้านั้น THE STANDARD มีโอกาสไปสัมภาษณ์เทนนิสหลังจบการแข่งขัน และพบว่าเราต้องเข้าไปต่อแถวผู้สื่อข่าวหลายสำนัก ซึ่งผู้สื่อข่าวเหล่านั้นมาจากหลายประเทศที่ไม่ใช่ประเทศไทย 

โดยเริ่มจากสื่อโทรทัศน์ของเวียดนาม ตามด้วยสื่อหนังสือพิมพ์ของสิงคโปร์ ซึ่งทุกคนให้ความสนใจไปที่ชีวิตของเทนนิส ที่เดินทางมาแข่งขันซีเกมส์ในฐานะเจ้าของเหรียญทองมหกรรมกีฬาที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างโอลิมปิก 

ซึ่งเทนนิสได้ยืนยันกับทุกสำนักว่าทุกการแข่งขันมีความสำคัญเทียบเท่ากัน โดยเฉพาะซีเกมส์ ที่ตัวเธอเองก็ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ในการแข่งขันครั้งนี้ที่ฮานอย จนได้เหรียญทองมาครองตามเป้าหมาย 

ภาพที่ 3: Liaison Officers หรือเจ้าหน้าที่อาสาสมัครแห่งซีเกมส์

ภาพสองอาสาสมัครชาวเวียดนาม บันทึกระหว่างการแข่งขันเซปักตะกร้อวันสุดท้ายในกรุงฮานอย ระหว่างที่ทีมชายและทีมหญิงของไทย เตรียมที่จะลงแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ 

ในทุกมหกรรมตั้งแต่ระดับซีเกมส์จนถึงโอลิมปิกเกมส์จะมีองค์ประกอบสำคัญหนึ่งคืออาสาสมัคร หรือ Liaison Officers ที่คอยทำหน้าที่ช่วยเหลือและประสานงานกับนักกีฬา แฟนกีฬา สื่อมวลชน และฝ่ายจัดการแข่งขัน เพื่อให้ดำเนินการไปอย่างสะดวกสบายและรวดเร็วสำหรับทุกฝ่าย 

ภาพที่ 4: THE GOAT of Sea Games: พรชัย เค้าแก้ว กับซีเกมส์ครั้งที่เขาชื่นชอบที่สุด

ภาพนี้ถูกบันทึกหลังจากที่ ปุ้ย-พรชัย เค้าแก้ว นักกีฬาเซปักตะกร้อทีมชาติไทย ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ปฏิเสธข่าวลือที่ก่อนหน้านี้มีรายงานออกมาว่า ซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ซึ่งโคจรกลับมาแข่งขันที่เวียดนาม ประเทศแรกที่ปุ้ยลงแข่งขันซีเกมส์ครั้งแรกเมื่อปี 2003 ที่เวียดนามเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเช่นกัน จะเป็นครั้งสุดท้ายของเขา 

โดยเขาได้ยอมรับว่านี่จะเป็นช่วงท้าย แต่ยังไม่ท้ายสุดของ พรชัย เค้าแก้ว ในมหกรรมกีฬาซีเกมส์ 

ปุ้ยได้เปิดเผยว่า เขาลงเล่นซีเกมส์มาทั้งหมด 10 ครั้ง และประทับใจซีเกมส์ที่มาเลเซียเมื่อปี 2017 มากที่สุด เพราะครั้งนั้นนอกจากจะเก็บได้ 3 เหรียญทองที่ลงแข่งขันแล้ว ปีนั้นเขายังได้รับเลือกให้เป็นนักกีฬาตัวแทนถือธงชาติไทย นำทัพนักกีฬาไทยเข้าสู่พิธีเปิดการแข่งขันอีกด้วย 

ภาพที่ 5: แฟนกีฬาชาวเวียดนาม กับความรู้สึกที่พวกเขามีต่อซีเกมส์

ภาพนี้บันทึกเจ้าหน้าที่เวียดนามของสนามเซปักตะกร้อ มาแอบชมกีฬาอยู่ด้านบนของอัฒจันทร์ 

โดยตลอดช่วงเวลาของมหกรรมกีฬาซีเกมส์ หลายครั้งที่ชมการแข่งขันผ่านโทรทัศน์หรือได้พบเห็นคอมเมนต์ตามเพจข่าวต่างๆ จากชาวเวียดนาม อาจเข้าใจว่าทุกคนที่ประเทศเวียดนามต้องการเป็นเจ้าเหรียญทองในทุกกีฬาที่ลงแข่งขัน 

แต่ความเป็นจริงที่ THE STANDARD ได้พบเจอคือ แฟนกีฬาเวียดนามหลายคนเป็นแฟนกีฬาที่ชื่นชอบกีฬาจริงๆ และหลายคนชื่นชอบนักกีฬาไทยมากเป็นพิเศษ ไม่แพ้กับที่พวกเขาชื่นชอบ ซิโก้-เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง อดีตเฮดโค้ชและนักฟุตบอลทีมชาติไทย 

ระหว่างที่เราอยู่ที่สนามแข่งขันเซปักตะกร้อ THE STANDARD ได้พูดคุยกับแฟนกีฬาเวียดนามที่มาเกาะขอบสนามซ้อมของทีมชาติไทย และได้สอบถามว่าชื่นชอบนักกีฬาไทยคนไหน ซึ่งคำตอบที่ได้รับคือเขาสามารถบอกชื่อได้ทั้งทีมชาติไทย และบอกได้ด้วยว่าใครเป็นตัวเก๋า และใครเป็นดาวรุ่งที่กำลังจะขึ้นมาทดแทน 

เช่นเดียวกับที่สนามเทควันโด ที่แฟนกีฬาเวียดนามเข้าแถวต่อคิวเพื่อถ่ายภาพคู่กับ เทนนิส พาณิภัค เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกจากประเทศไทยหลังจบการแข่งขันทุกรายการแล้ว 

จากการสอบถามตั้งแต่นักกีฬาจนถึงสื่อมวลชนเวียดนาม ส่วนใหญ่ยอมรับว่าการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันซีเกมส์ครั้งที่แล้วเมื่อปี 2003 มีคนให้ความสนใจมากกว่าการเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ 

โดยมีปัจจัยสำคัญคือเรื่องของการเดินทางที่บางสนามอยู่ห่างไกล จนต้องใช้เวลาเดินทางหลายชั่วโมง ทำให้ไม่สามารถชมกีฬาที่ชื่นชอบได้ทุกรายการตามที่ต้องการ เพราะปัจจัยของการเดินทาง 

แต่บางคนก็เห็นด้วยกับการกระจายตัวของกีฬาไปตามเมืองต่างๆ ที่พวกเขาเชื่อว่าจะช่วยพัฒนาพื้นที่อื่นๆ ด้วยการจัดการแข่งขันกีฬาระดับภูมิภาค 

มุมมองที่หลากหลายเหล่านี้จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ประเทศไทยที่กำลังจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันในปี 2025 ที่มีรายงานออกมาว่าจะเป็นที่กรุงเทพมหานครและชลบุรี  

ซึ่งจะช่วยให้ไทยสามารถเป็นเจ้าภาพที่ให้ความสำคัญทั้งมาตรฐานของกีฬาในภูมิภาคอาเซียน และประสบการณ์ของแฟนกีฬาทั้งในไทยและจากเพื่อนบ้าน 

ภาพที่ 6: ฟุตบอลชายซีเกมส์ รอบชิงฯ​ ภาพสุดท้ายก่อนกลับบ้าน


ภาพนี้บันทึกหลังจากที่เรากำลังจะเดินออกจากสนามกีฬาแห่งชาติหมีดิ่ญ เพื่อไปยังห้องแถลงข่าว หลังจบการแข่งขันฟุตบอลชาย รอบชิงชนะเลิศ ที่ทีมชาติไทยพ่ายให้กับเวียดนาม เจ้าภาพ ไป 0-1 และพลาดเป้าหมายการทวงคืนเจ้าอาเซียนในเวทีฟุตบอลไปอย่างน่าเสียดาย 

ภาพที่เราพบเห็นหลังจบเกมคือ โจนาธาร เข็มดี กองหลังทีมชาติไทย เดินคนเดียวไปยังหน้าประตู และนั่งลงร้องไห้อยู่คนเดียวเป็นเวลานานกับความผิดหวังที่เกิดขึ้นก่อนที่ กวินทร์ ธรรมสัจจานันท์ ผู้รักษาประตูและนักเตะรุ่นพี่ของทีมชาติไทยชุดรองแชมป์ซีเกมส์ ครั้งที่ 31 จะเดินมาปลอบใจ และดึงโจนาธารให้ลุกขึ้นกลับไปรับเหรียญเงินซีเกมส์ 

ฟุตบอลในซีเกมส์ โดยเฉพาะที่เวียดนามเป็นกีฬาที่คนทั่วทั้งเมืองฮานอยให้ความสำคัญที่สุด ทุกคนที่ THE STANDARD พบเจอตั้งแต่ร้านข้าว ร้านกาแฟ ที่พัก จนถึงคนขับรถ Grab พูดถึงการพบกับทีมชาติไทยในรอบชิงชนะเลิศ 

ทุกคนล้วนแต่ตั้งเป้าหมายที่จะล้มทีมชาติไทย เพื่อเป็นแชมป์ซีเกมส์อีกสมัย 

ความมุ่งมั่นของเวียดนามล้นออกมาเป็นเสียงเชียร์ที่ดังกระหึ่มในสนามหมีดิ่ญ และถูกปลดปล่อยออกมาทั่วทั้งกรุงฮานอย หลังจากที่พวกเขาได้ชัยชนะตามที่ต้องการ 

มาโน โพลกิง เฮดโค้ชฟุตบอลทีมชาติไทย คือตัวแทนนักกีฬาไทยคนสุดท้ายที่ THE STANDARD มีโอกาสอยู่ในห้องแถลงข่าวด้วยก่อนจบทัวร์นาเมนต์ซีเกมส์ 

ซึ่งมาโนได้กล่าวเพียงแค่ว่า 

“เวียดนามได้เปรียบเราเรื่องเวลาการเตรียมทีมที่มีเป็นเดือน และมีผู้เล่นชุดที่พร้อมที่สุด สถานการณ์แตกต่างกัน เรามีเวลาเตรียมทีมแค่วันเดียว ไม่มีเวลาซ้อม แต่เราก็พยายามทำเต็มที่ ทุกคนเล่นได้ดี เราพยายามบุกแล้วแต่ทำไม่ได้ สุดท้ายมีประตูเดียวที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นประตูที่สวยงาม การมาถึงตรงนี้ได้ผมต้องภูมิใจในตัวผู้เล่นทุกคน” 

Thailand Sport Magazine Sponsored
ผู้สื่อข่าว กีฬา

ข่าวกีฬา นักกีฬา กีฬา ในร่ม indoor outdoor ต้องทำ sport ให้เป็น กีฬา หลักของประเทศ ดูข้อมูล กอล์ฟ บาสเก็ตบอล ฟุตบอล ว่ายน้ำ วอลเล่ย์บอล มวย แข่งรถ แบดมินตัน และ อีสปอร์ต Dedicated to all sport news from Thailand, with news updates, stories and event reports on many different types of sporting activities that the Thailand currently holds, across all of the asia.

This website uses cookies.